"พระฝนแสนห่า" เป็นพระพุทธรูปยืน ทำจากไม้ ลงรักปิดทอง ขนาดสูงรวมฐาน 207 เซนติมเตร เฉพาะองค์พระสูง 170 เซนติเมตร ลักษณะของพระพุทธรูป พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกเสมอพระอุระ แสดงปางห้ามสมุทร บริเวณสบงใช้วิธีการประดับด้วยปีกแมลงทับ ปิดทอง ส่วนบริเวณฐานขององค์พระมีห่วงโลหะ 4 ห่วงที่สามารถสอดไม้เพื่อหามได้
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า พระองค์นี้เป็นพระที่มีความสำคัญกับเมืองมหาสารคามเป็นอย่างมาก คาดว่าสร้างหลังจากที่สร้างอุโบสถเดิม (วิหารในปัจจุบัน) 2 ปี (ราว พ.ศ. 2410) พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ใช้แห่อัญเชิญรอบเมืองเพื่อเป็นสิริมงคลและเพื่อขอฝน หากว่าปีใดฝนไม่ตกก็จะอัญเชิญ "พระฝนแสนห่า" ออกแห่ ฝนก็จะตก จึงเป็นที่มาของชื่อพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ปัจจุบันไม่ได้อัญเชิญเพื่อแห่รอบเมืองแล้ว เดิมเก็บรักษาที่วิหารน้อย วัดมหาชัย อ.เมืองมหาสารคาม แต่เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 ได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย
-----------
ภาพถ่ายและข้อมูลโดย นายไกรวิทย์ นรสาร (สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)