"เครื่องปั้นดินเผา" หมายถึง ภาชนะหรือสิ่งที่ทำขึ้นด้วยการใช้ดินมาเป็นรูปร่างต่าง ๆ แล้วนำไปเผาให้ดินแข็งเพื่อใช้ใส่อาหารหรือน้ำ ต่อมาจึงมีการดัดแปลงทำเครื่องมือเครื่องใช้อื่นรวมทั้งเครื่องประดับต่าง ๆ แต่ก่อนที่มนุษย์จะมีการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้นมาใช้นั้น ได้มีการนำวัสดุจากธรรมชาติ จำพวกผลไม้แห้ง เช่น น้ำเต้า กะลามะพร้าว ใบไม้ มาใช้ใส่อาหารและน้ำ
ความสำคัญของเครื่องปั้นดินเผา และการศึกษาทางโบราณคดีนั้น เครื่องปั้นดินเผาเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เราสามารถศึกษาความคิดต่าง ๆ และภาพวิถีชีวิตของผู้ผลิตด้วยการเปรียบเทียบรูปร่าง ลักษณะ และพัฒนาการด้านอื่น ๆ เช่น วิธีการผลิต ความเชื่อ สภาพแวดล้อม การติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จำนวนประชากร แหล่งที่มาของเครื่องปั้นดินเผาด้วยการพิจารณาจากเนื้อดินที่ใช้ปั้น นอกจากนี้การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์หาอายุภาชนะดินเผายังช่วยกำหนดอายุของแหล่งโบราณคดีที่พบเครื่องปั้นดินเผานั้นได้อีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุราว ๕,๖๐๐-๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว กลุ่มคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงเป็นสังคมเกษตรกรรม ยังชีพด้วยการเพาะปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์ป่าต่าง ๆ มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และมีการทอผ้า จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบหลักฐานตามหลุมฝังศพจำนวนมาก มีสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ฝังร่วมกับโครงกระดูกในลักษณะที่แตกต่างกัน รูปแบบการฝังข้าวของเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านฐานะทางสังคม และคติความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย ส่วนภาชนะดินเผาที่พบในการฝังร่วมกับโครงกระดูกมีหลายรูปแบบ และหลากลวดลาย แต่ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ภาชนะดินเผาเขียนสีแดง นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการทอผ้า ได้แก่ แวดินเผา ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการปั่นด้าย และลูกกลิ้งดินเผาที่มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ ในการทำลวดลายผ้า
หากกล่าวถึงเรื่องการตกแต่งผิวภาชนะนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การกดทับ การเติมดิน การขูดขีด การขุด การขัดผิว การทาด้วยน้ำดิน การรมควัน และการเขียนสี ภาชนะเขียนสีที่รู้จักกันมากที่สุด คือ ภาชนะเขียนสีจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง นอกจากนี้ยังมีการเขียนสีที่พบในการเขียนลายบนโอ่งจังหวัดราขบุรี
ลวดลายภาชนะดินเผาวัฒนธรรมบ้านเชียง
การเขียนภาพบนภาชนะนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าใช้วัสดุใดในการเขียน ส่วนการเขียนภาพบนผนังถ้ำที่พบในประเทศไทย สันนิษฐานว่าใช้พู่กันที่ทำจากเปลือกไม้ทุบ ซึ่งปัจจุบันชนพื้นเมืองในออสเตรเลียยังคงใช้วิธีนี้อยู่ สำหรับการเขียนสีบนภาชนะของวัฒนธรรมบ้านเชียงอาจใช้เปลือกไม้ทุบเพื่อระบายสีในเนื้อที่ที่ต้องการให้เป็นสีทึบ และใช้พู่กันจากขนสัตว์หรือหางสัตว์เขียนในส่วนที่เป็นเส้นเล็กเพื่อให้เกิดความคมชัด
สีที่ใช้เขียนภาชนะ สันนิษฐานว่าเป็นแร่เฮมาไทด์ผสมยางไม้หรือเลือดสัตว์ ซึ่งปัจจุบันพบแหล่งแร่เฮมาไทด์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บ่อดินแดง” ที่บ้านดูน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ชาวบ้านดูนใช้แร่ดินแดงนี้เขียนลวดลานบนภาชนะดินเผาเลียนแบบภาชนะดินเผาลายเขียนสีของบ้านเชียง
ลวดลายบนภาชนะดินเผาแบบเขียนสีวัฒนธรรมบ้านเชียง จำแนกได้ 6 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มลายเส้นโค้ง
2. กลุ่มลายก้านขดและก้นหอย
3. กลุ่มลายเรขาคณิต
4. กลุ่มลายดอกไม้
5. กลุ่มลายรูปสัตว์
6. กลุ่มลายอื่น ๆ เช่น ลายเส้นขนาน ลายสามเหลี่ยมซ้อน ลายเชือกขวั่น (ควั่น) ลายรูปขนมเปียกปูน เป็นต้น