เมืองโบราณเชียงแสน ปัจจุบันอยู่ใน ต.เวียง เขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ริมแม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำกกตอนล่าง ถือเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง (นุชนภางค์ ชุมดี 2549 : 22) ซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย ทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 370 เมตร
ที่ราบลุ่มเชียงแสนมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม โดยมุมด้านฐานด้านทิศตะวันตกของสามเหลี่ยมอยู่บริเวณอำเภอแม่จัน มีลำน้ำจันไหลมาจากเทือกเขาสูงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านบ้านป่าสักน้อย บ้านปางหมอปวง ไปบรรจบกับลำน้ำคำ ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาสูง ผ่านดอยแม่แสลบทางทิศตะวันตก รวมเรียกว่าแม่น้ำคำ ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงแสนไปลงแม่น้ำโขงที่บริเวณสบคำ ห่างจากเมืองเชียงแสนไปประมาณ 3 กิโลเมตร (กองโบราณคดี 2525 ; บุษยา ไชยเสโน 2530 : 5)
จากอำเภอแม่จันขึ้นไปทางทิศเหนือถึงอำเภอแม่สายมีเทือกเขาสูงเป็นขอบเขตด้านตะวันตกของที่ราบลุ่มและเป็นเทือกเขาซึ่งกั้นเขตแดนไทยกับพม่า ประกอบด้วยดอยสำคัญ เช่น ดอยตุง ดอยจ้อง ดอยเวา มีลำน้ำสายเล็กๆ ไหลลงไปรวมกับลำน้ำคำทางทิศตะวนตกเฉียงใต้ บางสายก็ไหลลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปรวมกับลำน้ำรวกซึ่งไหลไปออกแม่น้ำโขงบริเวณสบรวก หรือสามเหลี่ยมทองคำ เหนือเมืองเชียงแสนขึ้นไปประมาณ 8 กิโลเมตร (กองโบราณคดี 2525 ; บุษยา ไชยเสโน 2530 : 6)
บริเวณส่วนยอดของที่ราบลุ่มเชียงแสนคืออำเภอแม่สาย มีลำน้ำสายไหลมาจากเทือกเขาสูงทางทิศตะวันตกผ่านลงมาเป็นเส้นเขตแดนไทย-พม่า รวมกับลำน้ำรวกแล้วไหลลงมาสู่แม่น้ำโขงที่สบรวกและขอบเขตด้านตะวันออกคือแม่น้ำโขง ซึ่งเริ่มตั้งแต่อำเภอแม่สายถึงอำเภอเชียงแสน (กองโบราณคดี 2525 ; บุษยา ไชยเสโน 2530 : 6)
ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงแสน มีกลุ่มภูเขาเตี้ยๆ ประกอบด้วยดอยมด ดอยป่าแดง ดอยจอมกิตติ และกลุ่มดอยชะโง้หรือดอยช้างงู กลุ่มดอยเหล่านี้เป็นต้นลำน้ำสายเล็กๆ ที่ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออกรวมกับลำน้ำเกี๋ยง ซึ่งไหลมาจากทางทิศเหนือและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บริเวณบ้านป่าสัก เหนือเมืองเชียงแสนขึ้นไปประมาณ 1 กิโลเมตร (กองโบราณคดี 2525 ; บุษยา ไชยเสโน 2530 : 6)
ด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสนมีภูเขาขนาดย่อมอีกกลุ่มหนึ่ง คือดอยคำหรือดอยจัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุผาเงาและพระธาตุจอมจัน
ธรณีสัณฐานโดยรอบเชียงแสนเป็นหินแกรนิต พอไพรี (Granite porphyry) และแกรโนไดโอไรต์(Granodiorite) ซึ่งครอบคลุมบริเวณแถบนี้และพื้นที่ข้างเคียงในรัศมีประมาณ 450 ตารางกิโลเมตร (บุษยา ไชยเสโน 2530 : 6)
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงแสน
ที่มา : https://www.google.co.th/maps/place/อำเภอ+เชียงแสน+จังหวัด+เชียงราย
จากความเหมาะสมด้านทำเลที่ตั้งและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มนุษย์เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณเมืองเชียงแสนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะบริเวณริมแม่น้ำโขงตั้งแต่สบรวกลงมาถึงสบคำ ที่พบเครื่องมือหินกะเทาะทำจากหินกรวดแม่น้ำ (pebble) จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือสมัยหินเก่า ประเภทเครื่องมือขูดสับและสับตัด (chopper-chopping tools) (สุรพล นาถะพินธุ และคณะ 2533 ; รัศมี ชูทรงเดช 2525 ; วีระพันธุ์ มาไลย์พันธุ์ 2525)
การขุดค้นที่ลาดตีนดอยคำ (สุรพล นาถะพินธุ และคณะ 2533) ทางทิศใต้ของเมืองเชียงแสน พบชั้นดินที่อยู่อาศัย 3 ชั้น โดยชั้นดินที่ 2 และ 3 เป็นชั้นวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในชั้นที่ 3 พบเครื่องมือหินกะเทาะที่มีลักษณะเป็นเครื่อมือขูดสับ ขวานกำปั้นกะเทาะหน้าเดียว และเครื่องมือขุด ส่วนชั้นที่ 2 พบเครื่องมือหินขัดและขวานหินขัดแบบมีบ่า
การสำรวจที่ดอยปูเข้า (พาสุข ดิษยเดช และคณะ 2527) พบเครื่องมือหินกะเทาะ 2 หน้า เครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ ขวานหินขัด ลูกปัดดินเผา เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินลายขูดขีด ลายกดประทับ และลายเชือกทาบ
ส่วนหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์สมัยโลหะ พบอยู่ไม่มากนัก เช่น กลองมโหระทึกสำริดที่เวียงหนองล่ม (เมธินี จิรวัฒนา 2546 : 26-27) เมืองโบราณก่อนเมืองเชียงแสน ปรากฏในพงศาวดารโยนก ปัจจุบันตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงแสนไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร
หลังจากนั้นเป็นยุคสมัยแห่งตำนานที่กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองในที่ราบลุ่มเชียงแสน ดังปรากฏในตำนานพระธาตุดอยตุง ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติกุมาร และตำนานเมืองหิรัญนครเงินยาง โดยเฉพาะเนื้อหาใน 3 ตำนานหลังต่างมีความสอดคล้องสืบเนื่องกันเป็นลำดับ ทั้งหมดใช้อธิบายเรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นบนที่ราบเชียงแสน วัตถุประสงค์ของตำนานล้วนเพื่ออธิบายถึงความชอบธรรมในการขึ้นเป็นกษัตริย์ของต้นราชวงศ์มังราย และเพื่อต้องการกลมกลืนความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษพื้นเมืองให้เข้ากันได้กับพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม ตำนานทั้งหมดแต่งขึ้นในสมัยหลังโดยพระสงฆ์ล้านนาในพุทธศตวรรษที่ 20-21 จากตำนานต่างๆ นุชนภางค์ ชุมดี (2549 : 40) วิเคราะห์ว่า บริเวณที่ราบลุ่มเชียงแสนช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นจากชุมชนระดับเผ่าที่เกิดจากการรวมกลุ่มของเครือญาติ อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์และระบบนิเวศเดียวกัน คือกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บนที่สูงหรือบนเนินเขาทางด้านทิศเหนือของที่ราบลุ่มเชียงแสน ได้แก่กลุ่มลาวจก กับกลุ่มที่อพยพเข้ามาตั้งเมืองใหม่ที่เลือกตั้งถิ่นฐานที่ส่วนด้านทิศใต้ของที่ราบใกล้กับแม่น้ำโขงหรือบริเวณลุ่มแม่น้ำกก เช่น กลุ่มสิงหนวัติ ทั้งกลุ่มดั้งเดิมและกลุ่มใหม่ มีความสัมพันธ์กันทั้งด้านการค้าและการเมือง
ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ นี้ ทำให้เกิดพัฒนาการขึ้นเป็นชุมชนระดับเมือง เกิดการย้ายถิ่นที่อยู่มายังพื้นที่ใกล้แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา เช่น น้ำกก น้ำจัน น้ำคำ น้ำรวก เพื่อความสะดวกในการเดินทางติดต่อกับเมืองอื่นๆ เกิดเป็นเมืองหรือกลุ่มเมืองขนาดเล็กที่สามารถสร้างศูนย์กลางสำคัญขึ้นได้ แต่ละเมืองเป็นอิสระต่อกัน แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างหลวมๆ โดยการแต่งงานหรือเป็นพันธมิตร (นุชนภางค์ ชุมดี 2549 : 40)
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 พญามังรายแห่งเมืองเชียงรายเริ่มรวบรวมเมืองต่างๆ บริเวณที่ราบลุ่มเชียงแสนไว้ในพระราชอำนาจ จากนั้นจึงเข้ายึดเมืองหริภุญไชยในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง และสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครอง
สิ้นรัชกาลพญามังราย พญาไชยสงคราม พระราชโอรส ขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่ แต่พระองค์ประทับอยู่เชียงใหม่เพียง 4 เดือน ก็เสด็จกลับปครองเมืองเชียงราย โดยมอบเมืองเชียงใหม่ให้พญาแสนภู พระราชโอรสปกครองแทน สิ้นพญาไชยสงคราม พญาแสนภูยกเมืองเชียงใหม่ให้โอรส คือ เจ้าคำฟู ปกครองแทน ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปประทับที่เชียงราย
พ.ศ.1871 พระเจ้าแสนภูสถาปนาเมืองเชียงแสนขึ้น ซึ่งในพงศาวดารโยนกบันทึกว่าการสถาปนาเมืองเชียงแสนของพญาแสนภูนั้น ได้สถาปนาเมืองบนเมืองเก่า เพื่อใช้เป็นเมืองป้องกันศึกทางเหนือและใช้ควบคุมเมืองในเขตล้านนาตอนบน
พญาแสนภูครองเมืองเชียงแสนได้ 7 ปี จึงสิ้นรัชกาล (พ.ศ.1878) พญาคำฟูขึ้นครองพระราชอำนาจแทน พระองค์ก็ได้มาประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสน ส่วนเชียงใหม่โปรดให้พญาผายูพระราชโอรสครองเมือง
สาเหตุหนี่งที่ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของล้านนาอยู่ที่เมืองเชียงแสน เนื่องจากล้านนากังวลใจกับอำนาจของเมืองพะเยาที่กำลังแพร่ขึ้นมาในช่วงนั้น จนเมื่อพญาผายูขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.1888-1910) ได้ผนวกเมืองพะเยาเข้ามาอยู่ในพระราชอำนาจได้สำเร็จ จนเมื่อ พ.ศ.1889 จึงย้ายศูนย์กลางการปกครองกลับไปยังเชียงใหม่ และมอบให้พระราชโอรส คือ พญากือนา ครองเมืองเชียงแสนแทน
ตั้งแต่ พ.ศ.1889 เป็นต้นมา เมืองเชียงแสนก็ลดบทบาทลงเป็นเมืองสำคัญลำดับสองรองจากเมืองเชียงใหม่ และกลายเป็นเมืองในความควบคุมของเชียงใหม่เมื่อเข้าสู่สมัยพระยาติโลกราช (พ.ศ.1985-2030)
ด้วยเหตุที่เมืองเชียงแสนอยู่ในครอบครองของอาณาจักรล้านนา รูปแบบศิลปะของสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะศาสนสถานและศาสนวัตถุ มักแสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนาส่วนกลางคือเมืองเชียงใหม่ แต่ส่วนหนึ่งได้มีการพัฒนาและปรับปรุงจนเกิดเป็นรูปแบบท้องถิ่นของเชียงแสนเอง
พ.ศ.2101 ล้านนาตกอยู่ในอำนาจของพม่า ต่อมา พ.ศ.2244 พม่าได้ยกเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นมณฑลหนึ่งของพม่า ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากระยะเวลาดังกล่าว ปริมาณการค้าทางบกของจีนกับรัฐไทตอนบนมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เชียงแสนซึ่งเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าตั้งแต่สมัยพระยามังรายกลับรุ่งเรือง กลายเป็นแหล่งชุมนุมทางการค้าที่สำคัญในเวลาต่อมา
ล่วงเข้าสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ.2347) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช และพระยากาวิละ ยกทัพไปชิงเมืองเชียงแสนจากพม่า
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวิไชย เจ้าเมืองลำพูน ขึ้นไปฟื้นฟูเมืองเชียงแสนอีกครั้ง
พ.ศ.2442 เมืองเชียงแสนได้ยุบรวมเข้าในมณฑลพายัพของไทย ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด เมืองเชียงแสนจึงมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ขึ้นกับอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ภายหลังวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2500 เชียงแสนจึงถูกยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเชียงแสน อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย
เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนที่ปรากฏในปัจจุบัน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า มีกำแพง 3 ด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่ติดแม่น้ำโขง มีประตูเมือง 5 ประตู ได้แก่ ประตูยางเทิง (ด้านทิศเหนือ) ประตูดินขอ (ด้านทิศใต้) ประตูหนองมูด ประตูป่าสัก และประตูทัพม่าน (ด้านทิศตะวันตก) มีป้อมมุมเมือง 2 ป้อม คือ ป้อมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้
ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 (2515) กล่าวถึงประตูเมืองที่ต่างออกไปอีก 6 ประตู คือ ประตูรั้วปีก ท่าอ้อย ท่าสุกัม ท่าหลวง ท่าเสาดิน และท่าคาว ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง ด้านทิศตะวันออกของเมือง คาดว่าประตูเหล่านี้อาจถูกแม่น้ำโขงเซาะพังทลายลงหมดแล้ว
เอกสารฉบับเดียวกันยังได้กล่าวถึงวัดในเมืองเชียงแสนว่ามีทั้งสิ้น 139 วัด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ วัดภายในกำแพงเมือง 76 วัด เช่น วัดเจดีย์หลวง วัดผ้าขาวป้าน วัดพระเจ้าล้านทอง วัดอาทิต้นแก้ว วัดมุงเมือง ฯลฯ และวัดนอกกำแพงเมือง 63 วัด เช่น วัดป่าสัก พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุสองพี่น้อง วัดป่าแดง วัดกู่เต้า ฯลฯ
กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานในเมืองเชียงแสนอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา พร้อมๆ กับการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน กระทั่งปี พ.ศ.2530 จึงได้ปรับปรุงรูปแบบการจัดการในลักษณะ “นครประวัติศาสตร์” หรือ “เมืองประวัติศาสตร์”
กำแพงเมืองเชียงแสนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3673 วันที่ 8 มีนาคม 2478 ส่วนโบราณสถานต่างๆ ภายในเมือง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในอีกหลายคราว
-----------------------
เอกสารอ้างอิง
กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจเมืองเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. (เอกสารอัดสำเนา). โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ). กรมศิลปากร, 2525.
นุชนภางค์ ชุมดี. “การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของชุมชนโบราณในเขตเมืองเชียงแสนระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-24.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2549.
บุษบา ไชยเสโน. “การศึกษาร่องรอยทางโบราณคดีจากการขุดค้นบริเวณที่อยู่อาศัยในบริเวณเมืองโบราณเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2530.
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61. พระนคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2515.
พาสุข ดิษยเดช, สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และประทีป เพ็งตะโก. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีที่ “ดอยปูเข้า” บ้านสบรวก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย. โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2527.
เมธินี จิรวัฒนา. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท อาทิตย์โพรดักซ์กรุ๊ป จำกัด, 2546.
รัศมี ชูทรงเดช. “การศึกษารูปแบบเครื่องมือหินกะเทาะที่พบจากการสำรวจริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พ.ศ.2525.” สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2525.
วีระพันธุ์ มาไลย์พันธุ์. “เครื่องมือยุคหินเก่าที่เชียงแสน.” โบราณคดี 4, 1 (กรกฎาคม 2525) : 35-41.
สุรพล นาถะพิธุ และสุพจน์ พรหมมาโนช. “หลักฐานชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์.” ใน โบราณคดีเชียงราย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.