บทนำ
ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาก่อร่างสร้างตัวสถาปนาขึ้นมาเป็นรัฐหลัง พ.ศ. 1893 ในบริเวณแถบที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน กรุงศรีอยุธยามีความรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ มีการขยายอาณาเขตไปปกครองยังหัวเมืองใหญ่ ๆ รอบข้าง ได้แก่ เมืองสุโขทัย อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง หัวเมืองใต้ เมืองกัมพูชา เมืองมอญ จะเห็นได้ว่ากรุงศรีอยุธยาได้แผ่อำนาจไปยังทุกทิศทางของตนและยังข้ามไปไกลจนถึงเมืองกัมพูชา และเมืองมอญ นอกจากนี้สมัยอยุธยายังมีกษัตริย์ปกครองกันมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 400 ปี จึงทำให้สมัยอยุธยาถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่งของคนไทย
ด้วยความที่กรุงศรีอยุธยามีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องยาวนานจึงได้มีการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นทางสังคมในสมัยอยุธยาผ่านสื่อต่าง ๆ ที่เป็นหลักฐานชั้นต้นอย่างจารึก และเอกสารโบราณต่าง ๆ เอกสารชั้นต้นที่มีชื่อเสียงและได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอได้แก่ พงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ที่บันทึกในหนังสือสมุดไทย นอกจากนี้ยังมีจารึกอีกหลายหลักหลายชิ้นที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เพื่อบันทึกเรื่องราวกิจกรรมทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างวัตถุเพื่อบันทึกความทรงจำของผู้คนในสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี
การสร้างจารึกอยุธยามีวัตถุประสงค์การสร้างที่หลากหลาย หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่พบมาก ได้แก่ การสร้างเพื่อประกอบการทำบุญทางพระพุทธศาสนา เป็นการบันทึกกิจกรรมในการบุญของพุทธศาสนิกชน โดยมักจะมีคำอธิษฐาน หรือคำปรารถนาของผู้สร้างในตอนท้ายของจารึก นอกจากนี้บางครั้งก็จะมีคำสาปแช่งในกรณีที่มีบุคคลผู้อื่นผู้ใดมารบกวนข้าวของที่บริจาค มาลักทรัพย์สิน มาเคลื่อนย้ายวัตถุทาน รวมไปถึงกลุ่มคนที่ผู้สร้างได้บริจาคให้กับวัด หรือพระธาตุ ซึ่งเรียกว่า ข้าวัด หรือข้าพระธาตุ
คำอธิษฐาน และคำสาปแช่งที่อยู่ในท้ายจารึกนี้เองก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามความปรารถนาของผู้สร้างจารึก และยังสะท้อนให้เห็นแนวความคิด ความเชื่อของผู้คนที่สร้างจารึกในสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี
ตำแหน่งคำอธิษฐานและคำสาปแช่งในจารึก
ในการสร้างจารึกที่มีวัตุประสงค์เพื่อบริจาคทานและถวายเป็นพุทธบูชาให้กับพุทธศาสนานั้น มักจะปรากฏคำอธิษฐาน และคำสาปแช่งอยู่ในจารึก ตำแหน่งของข้อความนี้มักจะปรากฏอยู่ในตอนท้ายของจารึก หลังจากการอรรถาธิบายถึงสิ่งของ กลุ่มคน จำนวน ที่ผู้สร้างได้บริจาคให้กับวัด จากนั้นจึงเป็นข้อความแสดงความปรารถนา หรือคำสาปแช่ง ตัวอย่างเช่น
“...ด้วยของข้าพเจ้านี้ ขอข้าพเจ้าพึงเป็นพระพุทธเจ้าในกาลอนาคต” (จารึกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรบุรี ลานที่ 1).
“...จุ่งให้ทันพระศรีอา(ริ)ยไมตรีเป็นเจ้าโสดแล...” (จารึกวัดตะพาน)
ลักษณะคำอธิษฐานในจารึก
การทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาอย่างการให้ทาน การสร้าง การบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน ฯลฯ มักมีการสร้างจารึกเพื่อแสดงเป็นหลักฐานในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นไว้ด้วย บ้างก็บันทึกรายชื่อข้าวของที่ให้ทาน รายการสิ่งของและจำนวนที่นำมาใช้ในการสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ รายละเอียดของกลุ่มคนที่ผู้สร้างได้บริจาคให้กับศาสนา เป็นต้น นอกจากนี้ยังบันทึกความปรารถนาของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ดำเนินกิจกรรมในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า “คำอธิษฐาน”
คำอธิษฐาน หรือคำปรารถนาหลังการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏจารึกสมัยอยุธยาค่อนข้างที่จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่หากจะพอแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ คำอธิษฐานในทางโลก และคำอธิษฐานในทางธรรม
1. คำอธิษฐานทางโลก เป็นคำอธิษฐานที่แสดงความปรารถนาเมื่อเกิดในชาติหน้า หรือชาติอื่น ๆ ในเรื่องของทางโลก เช่น ขอให้มั่งมี ขอให้มีปัญญา ขอให้สวยงาม เป็นต้น คำอธิษฐานเหล่านี้เกิดจากความเชื่อในเรื่องวัฏสงสารตามแนวคิดในพุทธศาสนาที่เชื่อว่าหากยังไม่สิ้นกรรมก็จะเวียนว่ายตายเกิดวนไปไม่รู้จบ จึงมีความปรารถนาที่จะเกิดใหม่ในชาติหน้าให้มีชีวิตที่ดี มีความสุขความสบาย ความสวยงาม หรือแม้กระทั่งความสามารถในการทำทาน คำอธิษฐานหรือความปรารถนาในทางโลกในจารึกสมัยอยุธยาปรากฏดังนี้
1.1 อธิษฐานขอให้มีทรัพย์สิน หรือผู้คน ได้แก่ ขอให้มั่งมี ขอให้มีข้าวของเงินทอง ขอมีขุมเงินขุมทอง ขอให้มีอาหารกิน ขอมีพ่อแก้วแม่แก้ว ขอให้มีโภคทรัพย์ คำอธิษฐานเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องการเวียนตายเกิดและชาติภพ และปรารถนาที่จะมีโภคทรัพย์ ทรัพย์สินเงินทอง เพื่อความสุขสบายแก่ตนในกาลภายภาคหน้า
1.2 อธิษฐานขอให้มีเนื้อตัวร่างกายที่ดี ได้แก่ ขอให้มีปากหอมตนหอม ขอให้มีโฉมอันผจญพระกามเทียมราม ขอให้งามยินแรง คำอธิษฐานนี้ปรารถนาที่จะมีรูปกายภายนอกที่งดงาม มีกลิ่นหอม อันเป็นความปรารถนาของคนที่ยังวนเวียนอยู่ในกามภพ มีคำอธิษฐานที่ขอให้รูปโฉมของตนนั้นดีงามสู้กับพระกาม และเทียบเทียมกับพระราม พระกาม หรือพระกามเทพ เป็นเทพที่มีรูปร่างหน้าตาดีที่สุดในบรรดาเทพเจ้าของอินเดีย แต่ก็พลาดท่าถูกพระศิวะเผาจนวอดเหลือเพียงขี้เถ้า แต่นั้นมาพระกามเทพจึงไม่มีตัวตน หรือไร้รูปร่าง ขณะที่พระราม ตัวเอกในเรื่องรามเกียรติ์ก็มีรูปร่างอ้อนแอ้นอรชร และหน้าตาดีด้วยเช่นกัน
1.3 อธิษฐานขอให้มีปัญญาดี เป็นคำอธิษฐานให้ตนเองเกิดมาในภพชาติหน้ามีสติปัญญาที่ดีได้แก่ ขอให้มีปรีชญา
1.4 อธิษฐานขอให้ตนมีความพิเศษ ได้แก่ ขอให้มีตาทิพย์ หูทิพย์ ใจทิพย์ เป็นคำอธิษฐานที่ให้ตนได้มีความพิเศษ หรือพลังอำนาจบางอย่างเป็นพิเศษ อย่างการขอให้มีตาทิพย์ หูทิพย์
1.5 อธิษฐานขอให้เกิดเป็นผู้อื่น เป็นการอขอให้เกิดเป็นบุคคที่เฉพาะเจาะจง หรือยศมีตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ ขอให้เกิดมาเป็นกษัตริย์ในโลกพระศรีอาริย์ การปรารถนาขอเป็นแม่พระ(มารดาพระพุทธเจ้า) ขอให้เกิดในตระกูลเศรษฐีทั้งสาม การปราถนาขอเป็นแม่พระ(มารดาพระพุทธเ้จา) เป็นคำอธิษฐานของผู้หญิง
1.6 อธิษฐานขอให้ไปเกิดในสวรรค์ เป็นการขอให้ได้ไปเสวยสุขบนสวรรค์ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาในศาสนาพุทธ ได้แก่ ขอไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ขอให้ได้ขึ้นเมืองฟ้าทิพยพิมารสวรรค์
1.7 อธิษฐานขอให้มีศักดิ์เท่าผู้อื่น ได้แก่ ขอให้มีศักดิ์เท่าท้าวมันธาตุ ท้าวมันธาตุเป็นตัวละครในชาดกเรื่อง มันธาตุราชชาดก โดยชาดกเรื่องนี้เป็นการสอนภิกษุผู้กระสันอยากสึกเพื่อเติมตัณหาให้เต็ม พระพุทธเจ้าจึงได้เทศนาชาดกเรื่อง มันธาตุราชชาดก ว่า ท้าวมันธาตุเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในมหาทวีปทั้ง 4 มีทวีปน้อย 2,000 เป็นบริวาร ได้ครองราชย์ ในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา มีมนุษย์เป็นบริวารเท่านั้น ทั้งครองเทวราชสมบัติในสถานที่ประทับอยู่ของท้าวสักกะ 36 พระองค์ ในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ แต่ก็ไม่อาจสามารถที่จะทำกามตัณหาของตนให้เต็มขึ้นมาได้ ก็ได้ทำกาลกิริยาตายไป
1.8 อธิษฐานขอให้ได้ทันพระศรีอาริย์ คำอธิษฐานนี้เป็นที่นิยมมาก ปรากฏอยู่ในจารึกในสมัยอยุธยาหลายชิ้น การขอให้ได้ทันพระศรีอาริย์ หรือพระศรีอริยเมตไตร หมายถึง การได้มาเกิดในโลกที่พระศรีอริยเมตไตรเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายแล้วในภัทรกัป ความพิเศษในโลกพระศรีอาริย์อีกประการหนึ่งคือ มีลักษณะคล้ายกับโลกในอุดมคติของมนุษย์ กล่าวคือ โลกนี้จะมีความสงบสุข พุทธศาสนาจะมีความรุ่งเรือง ประชาชนจะมีความสุขไม่มีเรื่องร้อนใจเลย ทุกคนพอใจในความเป็นอยู่ ไม่มีการคนจะเป็นคนดีเหมือนกันหมด ไม่มีคนพาล และต้องการอะไรก็ได้ มันมีต้นไม้พิเศษที่เรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์ อยู่ทุกทิศ อยากได้อะไรก็ไปขอที่ต้นไม้ จะสะดวกสบาย อยู่กันเป็นผาสุก ไม่มีอันธพาล ทุกอย่างได้อย่างใจ คำอธิษฐานนี้ ได้แก่ ขอให้พบพระศรีอาริย์ ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ขอให้ไปเกิดทันพระศรีอาริย์
2. คำอธิษฐานทางธรรม เป็นปรารถนาของผู้สร้างที่ต้องการจะให้บุญที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวส่งเสริมให้ผู้สร้างได้สถิตอยู่ในทางธรรมของพระพุทธศาสนา และเป็นปัจจัยในการเข้าถึงธรรมสูงสุดที่เรียกว่า “นิพพาน” คำอธิษฐานทางธรรมนี้ปรากฏอยู่ค่อนข้างมากในจารึกสมัยอยุธยา คำอธิษฐานทางธรรมทั้งหมดจะปรากฏในจารึกที่บันทึกการดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น คำอธิษฐานทางธรรมในจารึกสมัยอยุธยาสามารถแบ่งได้ดังนี้
2.1 อธิษฐานขอให้ได้บรรพชาเป็นภิกษุในโลกพระศรีอาริย์ เป็นการขอให้ตนได้บวชในพุทธศาสนาของพระศรีอาริย์อันเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัปนี้ และขอมุ่งเข้าสู่มหานครนิพาน ได้แก่ ขอให้ได้บวชในโลกพระศรีอาริย์และเข้าสู่นิพพาน
2.2 อธิษฐานขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นการขอให้ตนได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าในโลกหน้า การอธิษฐานทำนองนี้พบอยู่พอสมควร ได้แก่ ขอพึงเป็นพระพุทธเจ้าในกาลอนาคต ขอให้ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ต้องการตรัสรู้สยัมภูญาณ ข้าจงได้เป็นพระองค์ในอนาคตกาล
2.3 อธิษฐานขอให้บุญเป็นปัจจัยเพื่อการเข้าสู่นิพพาน เป็นการขอให้ผลแห่งการทำทานได้เปนปัจจัยหนึ่งที่จะนำพาให้ตนเข้าสู่มหานครนิพพานในชาติหน้าอนาคตกาล คำอธิษฐานแบบนี้ปรากฏอยู่มาก บางครั้งก็นิยมเขียนเป็นภาษาบาลีว่า นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ ได้แก่ ขอให้สำเร็จบุญตราบเท่านิพพาน ขอให้เป็นปัจจัยแก่นิพพาน ขอเป็นปัจจัยแก่ตติยธรรมกัญจนิรพาน
2.4 อธิษฐานขอให้ได้เข้าสู่พระนิพพาน เป็นการขอเพื่อมุ่งเข้าสู่นิพพานโดยตรง ได้แก่ ขอให้ได้นิพพาน ขอลุแก่โสดาบันหมายเข้านิพพาน ขอเสวยพระนิพพาน
ลักษณะคำสาปแช่งในจารึก
คำสาปแช่งในจารึกสมัยอยุธยาจะปรากฏน้อยกว่าคำอธิษฐาน ส่วนมากจะเป็นคำสาปแช่งผู้ที่เข้ามายุ่งวุ่นวาย ลักพา เกี่ยวกับทรัพย์สิน ข้าวของ รวมไปถึงบุคคลที่ผู้สร้างมีความประสงค์ที่จะถวายให้กับวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา ให้ผู้ที่กระทำนั้นต้องได้รับทุกขเวทนาในนรกเป็นต้น คำสาปแช่งที่ปรากฏสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. สาปแช่งให้ตกนรก เป็นการสาปแช่งผู้ที่มากระทำไม่ดีกับสิ่งของหรือคนที่ผู้สร้างถวายเป็นทานให้กับพุทธศาสนา ซึ่งอาจระบุนรกไว้ 2 สถานที่ ได้แก่ นรกอเวจี และนรกโลกันต์ และบางครั้งก็มีการระบุระยะเวลาที่ตกนรกนั้นด้วย เช่น ขอให้ตกนรกแสนกัลป์ ขอให้ตกนกหมกไหม้ใต้บาดาล ถ้าไม่ฟังสาปแช่งให้ตกนรกโลกันต์ ให้ตกนรกอเวจี ให้ตกนรกมหาวิจีแสนกัลป์อนันตชาติ ให้ตกนรกอเวจี
นรกอเวจี หมายถึง นรกที่ปราศจากการหยุดพัก ผู้ที่ตกนรกขุมนี้จะถูกลงทัณฑ์ต่อเนื่องยาวนานโดยไม่หยุดพักทั้งกลางวันกลางคืนไม่ว่างเว้น ในนรกขุมนี้จะโชตช่วงไปด้วยเปลวไฟนรกที่ร้อนระอุเผาไหม้เขาทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา นรกขุมนี้มีผู้ที่มารับโทษทัณฑ์มากกว่านรกขุมอื่น ๆ อยู่กันแบบแออัดยัดเยียด รับโทษทัณฑ์ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสไม่มีหยุด
ผู้ที่ตกนรกขุมนี้ต้องได้กระทำกรรมอันหนักมาก่อนเรียกว่า อนันตริยกรรม มี 5 ประเภท ได้แก่ 1. ฆ่าแม่ตัวเองหรือใช้ให้คนอื่นมาฆ่า 2.ฆ่าพ่อตัวเองหรือใช้ให้คนอื่นมาฆ่า 3.ฆ่าพระอรหันต์หรือใช้ให้คนอื่นมาฆ่า 4. ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต 5.ยุยงให้พระสงฆ์แตกแยกกัน
นรกโลกันต์ คือ นรกขุมที่อยูนอกจักรวาล จักรวาลในทางพุทธศาสนามีหลายจักรวาลรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละจักรวาลที่อยู่รวมกันจะมีขอบกำแพงจักรวาลตั้งชิดกันติดกันเป็นพืดไป เหมือนเราเอาเหรียญสิบบาท ซึ่งเป็นตัวแทนหนึ่งจักรวาล มาวางเรียงชิดติดกันหลาย ๆ เหรียญ แล้วจะเห็นช่องว่างรูปสามเหลี่ยมระหว่างเหรียญที่ตั้งชิดติดกัน ตรงนั้นเองที่เป็นช่องว่างนอกจักรวาล และเป็นที่ตั้งของ โลกันตนรก
ในโลกันตนรกนี้มืดมิดยิ่งนัก ไร้แสงสว่างใด ๆ เพราะตั้งอยู่นอกขอบจักรวาล พ้นจากแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ แสงดวงดาว ผู้ที่ต้องมาตกในนรกขุมพิเศษนี้จะมีรูปร่างใหญ่โต เล็บมือเล็บเท้ายาว ต้องใช้เกาะผนังขอบจักรวาล ห้อยโหนตัวอยู่อย่างนั้น ด้วยความมืดมิดทำให้ไม่เห็นผู้อื่น เมื่อมือเท้าปีนป่ายไปเกาะถูกผู้อื่นก็เข้าใจว่าเป็นอาหาร ก็เข้าตะครุบกินกันเอง บ้างก็ร่วงจากผนังจักรวาลลงไปเบื้องล่างเป็นน้ำกรดเย็นพัดพาร่างกายให้แหลกเหลวจนสิ้นใจ เมื่อกลับฟื้นคืนมาก็ปีนป่ายเกาะขอบผนังจักรวาลขึ้นไปในความมืดมนอนธกาล เวียนวนอย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น
ทั้งนี้เป็นไปด้วยกรรมที่ได้อกตัญญูไม่รู้คุณพ่อแม่ ทำร้ายร่างกายพ่อแม่ บุพการี ทำร้ายพระสงฆ์องค์เจ้า วางเพลิงเผาไหม้วัดวาอารามเป็นเหตุให้พระเณรมรณภาพ ต้องรับกรรมในนรกโลกันต์นานเท่ากับหนึ่งพุทธันดรกัลป์ คือเท่ากับชั่วเวลาที่ปรากฏพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกพระองค์หนึ่ง
ในนรกโลกันต์ที่มืดมิดไร้แสงสว่างใด ๆ จะมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่มีแสงแวบรอดเข้ามาในนรกขุมนี้ได้ แต่จะเกิดขึ้นเพียงแวบเดียวเหมือนกับฟ้าแลบ โดยจะเกิดขึ้นด้วยเหตุการณ์ 5 ประการ ดังนี้ 1. เมื่อผู้จะมาเป็นพระพุทธเจ้าปฏิสนธิในครรภ์มารดา 2. เมื่อคลอดออกจากครรภ์พระมาดา 3. เมื่อเวลาที่พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า 4. เมื่อเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระธรรม 5.เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพพาน
2. สาปแช่งให้ถูกเทวดาอารักษ์ ยักษ์มาสังหาร
3. สาปแช่งให้อย่าให้ทันเห็นพระพุทธเจ้า การสาปแช่งเช่นนี้จะมีลักษณะคล้ายกับการสาปแช่งงไม่ให้ได้พบพระรัตนตรัย เช่น อย่าให้เกิดทันเห็นพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
4. สาปแช่งให้อย่าได้พบพระรัตนไตร การสาปแช่งในทำนองนี้พบอยู่มากพอสมควร เป็นการแช่งเพื่อไม่ให้ได้รู้จักพุทธศาสนา จึงไม่มีโอกาสได้ทำบุญทำกุศล และไม่ได้พบเจอความสุขที่แ้จริงในชีวิต เช่น อย่าได้พบพระรัตนไตรทุกชาติ อย่าได้พบพระรัตนไตร อย่าให้พระพุทธเจ้าโปรดได้เลย ขออย่าให้ได้พบพระรัตนตรัย
5. สาปแช่งให้พบพระเทวทัต เป็นการสาปแช่งให้พบสิ่งที่ไม่ดีอย่างพระเทวทัต ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าการพบกับพระเทวทัตพึงมีแต่ความเดือดร้อน ฉิบหาย อย่างที่พระพุทธเ้จาต้องประสบ หรือพระเ้จาอชาตศัตรูที่ต้องกลายเป็นคนอกตัญญูเพราะกระทำการปิตุฆาตเพราะเชื่อในคำยุยงของพระเทวทัตนั่นเอง ได้แก่ ขอให้พบพระเทวทัตทุกชาติ
บทสรุป
ลักษณะคำอธิษฐานและคำสาปแช่งที่ปรากฏในจารึกสมัยอยุธยาพบว่ามีการใช้คำอธิษฐานมากกว่าการสาปแช่ง จารึกบางชิ้นมีทั้งคำอธิษฐานแลำคำสาปแช่งในชิ้นเดียวกัน เนื้อหาในคำอธิษฐานมักเป็นเป็นเรื่องทางโลกเสียส่วนใหญ่ ส่วนการสาปแช่งก็มักจะแช่งให้ตกนรก อย่าให้ได้พบพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้า ทำให้เห็นว่าชีวิตของคนไทยในสมัยอยุธยาผูกพันกับพุทธศาสนาและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยมีคามเชื่อในวัฒนธรรมอื่นด้วยอย่างเช่น ศาสนาพราหมณ์ฮินดู ที่กล่าวถึงเรื่องของพระกามเทพ พระราม จึงแสดงให้เห็นได้อีกว่าสังคมไทยในสมัยอยุธยามีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีผู้คนที่มีวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันจนเกิดความซึมซับเอาความเชื่อ วิถีีชีิวิตของคต่างวัฒนธรรมมาปรับใช้กับวิถีชีิวิตของตนเองได้อย่างกลมกลืน
นอกจากนี้ลักษณะคำอธิษฐานและคำสาปแช่งที่ปรากฏในจารึกสมัยอยุธยายังมีการสืบต่อวัฒนธรรมนี้มาในสมัยต่อมา และยังได้ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมเอกสารโบราณอื่น ๆ อย่าง หนังสือสมุดไทย และคัมภีร์ใบลาน โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากจารึก กล่าวคือ เป็นวัฒนธรรมแห่งการคัดลอกเนื้อหาจากต้นฉบับเพื่อเป็นการอนุรักษ์เนื้อหาและสืบทอดต่อไปได้หากคัมภีร์ใบลานต้นฉบับนั้นผุกร่อนเสียหายไปตามกาลเวลา โดยคำอธิษฐานและคำสาปแช่งในคัมภีร์ใบลานนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนอกเนื้อหาที่เรียกว่า “พาราเท็กซ์” โดยพาราเท็กซ์นั้นจะประกอบไปด้วยหลายส่วน เช่น ชื่อเรื่อง เลขหน้า คำนำ วันเดือนปีที่ผลิต ชื่อบุคคลต่าง ๆ และคำอธิษฐานแลคำสาปแช่ง ซึ่งมักจะเขียนไว้ท้ายเรื่อง โดยผู้เขียนใช้สำนวนภาษาลีลาในการเขียนที่แสดงตัวตนของผู้คัดลอกคัมภีร์ ซึ่งแตกต่างจากเนื้อหาที่คัดลอกอย่างชัดเจน
ลักษณะคำอธิษฐานและคำสาปแช่งในจารึกสมัยอยุธยา