ภาชนะดินเผารูปวัว ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000 - 2,500 ปีมาแล้ว พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จัดแสดงอยู่ที่ห้องพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในประเทศไทย บริเวณชั้น 2 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (04/0100/2536, 00100)
ลักษณะของภาชนะเป็นภาชนะดินเผาแบบเนื้อดินธรรมดา (earthenware) ปั้นเป็นรูปวัว มีเขา 2 ข้าง ด้านบนบริเวณตรงกลางของลำตัววัว (กลางภาชนะ) ทำเป็นส่วนปากภาชนะที่ตั้งตรง (สอบเข้าเล็กน้อย) ส่วนด้านในภาชนะเป็นช่องกลวง ใช้ใส่ของเหลว (หรือวัตถุอื่น) ขาหน้าและขาหลังแยกออกเป็น 4 ขา มีการใช้เครื่องมือปลายแหลมขูดขีดและกดลงไปในเนื้อดินให้เป็นส่วนตา ปาก และกีบเท้า ของวัว สีของภาชนะเป็นสีน้ำตาลแดง ตกแต่งผิวด้านนอกด้วยการทาด้วยน้ำดินสีแดง ขนาดภาชนะมีความสูง 18.4 เซนติเมตร หนา 0.5 เซนติเมตร ยาว 36 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 9.6 เซนติเมตร
ภาชนะดินเผารูปวัว พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในประเทศไทย ศํูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ภาชนะดินเผารูปวัว ม้กจะพบตามแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในเขตลุ่มแม่น้ำลพบุรี - ป่าสัก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ระหว่างอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ถึงอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ในยุคสมัยที่เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีการตั้งถิ่นฐานถาวร รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ และรู้จักการใช้ประโยชน์จากโลหะสำริดแล้ว โดยมีลักษณะการปั้นเป็นรูปวัวที่หลากหลาย มีรูปทรง รูปร่างลักษณะ และขนาดเล็กใหญ่ แตกต่างกันไป ปากภาชนะมีทั้งที่เป็นปากแคบและปากผาย บางใบตกแต่งผิวด้านนอกด้วยการทาน้ำดิน ขูดขีด และเขียนสีแดงเป็นลายเรขาคณิต ภาชนะดินเผารูปวัวนี้แสดงให้เห็นถึงเทคนิควิธีที่ซับซ้อน ความชำนาญ และสุนทรียะของช่างปั้น ที่สามารถถ่ายทอดรูปแบบวัวให้มีลักษณะการใช้งานในแบบนี้ได้
จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ผ่านมา มักจะพบภาชนะดินเผารูปวัวในหลุมฝังศพของมนุษย์ เช่นที่แหล่งโบราณคดีโนนหมากลา อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จึงสันนิษฐานได้ว่า ภาชนะดินเผาลักษณะนี้ อาจทำขึ้นเพื่อเป็นของอุทิศให้กับผู้ตาย หรือทำในโอกาสพิเศษ หรืออาจมีเรื่องของสถานภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่ได้พบในทุกหลุมฝังศพ ผู้ตายที่มีภาชนะดินเผารูปวัวฝังร่วมอยู่ด้วย อาจเป็นบุคคลที่มีสถานภาพ (ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางอาชีพ ฯลฯ) ต่างจากคนอื่น
ภาชนะดินเผารูปวัว พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
(ที่มา: Facebook Fanpage "เจอก็ถ่าย by ShutterOne Thailand"
http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/pranarai/index.php/th/โบราณวัตถุ-virtual-model-360/24-ภาชนะดินเผารุปวัว.html)
ภาชนะดินเผารูปวัว พบที่แหล่งโบราณคดีโนนหมากลา อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
(ที่มา: Facebook Fanpage "กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร"
https://www.facebook.com/prfinearts/photos/a.1063091270424983/1065027946897982/?type=3)
ภาชนะดินเผารูปวัว พบที่อำเภอไพศาลี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ โรงเรียนบ้านไร่ประชาสรรค์ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์
(ที่มา: Facebook Fanpage "เจอก็ถ่าย by ShutterOne Thailand"