เรื่องราวที่ถูกบันทึกลงในเอกสารโบราณมักจะแยกประเภทตามวัสดุที่บันทึก เช่น ใบลานมักจะใช้บันทึกพระธรรมคัมภีร์ พระไตรปิฎก พระวินัย พระสูตร เป็นต้น ส่วนสมุดข่อย (สมุดไทยดำ หรือสมุดไทยขาว) มักจะใช้บันทึกเรื่องราวเกี่ยกับทางโลก เช่น ตำรายา วรรณกรรมหรือนิทานพื้นบ้าน กฏหมาย ตำราโหราศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเรื่องของตำราไสยศาสตร์ การทำเครื่องรางของขลัง เป็นต้น
สมุดไทยขาวเรื่อง ยันต์และการทำขวัญข้าว ของวัดท่าพูด ต.ท่าพูด อ.ไร่ขิง จ.นครปฐม ในเอกสารได้บันทึกถึงเรื่องการทำเครื่องรางของขลัง และการทำขวัญข้าว ซึ่งทั้งสองเรื่องแยกส่วนกันโดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันแต่อย่างใด เพียงแต่ถูกบันทึกไว้อยู่ในสมุดไทยขาวเล่มเดียวกันเท่านั้น ที่น่าสนใจในสมุดไทยขาวเล่มนี้เห็นจะเป็น ยันต์มงกุฏพระเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงพ่อแก้ว
หลวงพ่อแก้ว เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าพูด องค์ที่ 5 ในช่วงพุทธศักราช 2411 ถึง 2453 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประวัติความเป็นมาของท่านสามารถหาอ่านได้จากหนังสือประวัติวัดท่าพูด[1]
ยันต์มงกุฏพระเจ้า มีลักษณะเป็นรูปวงกลม ขีดเส้นแบ่งเป็นช่องๆ ไว้ ในแต่ละช่องมีอักขระเขียนด้วยอักษรขอมไทย ภาษาบาลี ซึ่งเป็นคาถามงกุฏพระเจ้า หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คาถาพระอิติปิโสเรือนเตี้ย ความว่าดังนี้
๏ อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทฺธนาเมอิ
อิเมนา พุทฺธตํโสอิ อิโสตํ พุทฺธปิติอิ
ภาพที่ 1 ยันต์มงกุฏพระเจ้า ยันต์ประจำตัวของ หลวงพ่อแก้ว วัดท่าพูด
ที่มา สมุดไทยขาวเรื่อง ยันต์และตำราทำขวัญข้าว วัดท่าพูด
โบราณจารย์ได้กล่าวไว้ว่า พระคาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย หรือมงกุฏพระเจ้านี้ ภาวนาป้องกันได้สารพัด เสกเครื่องแต่งกาย เสกน้ำมันใส่ผม เสกหมวกสวม มีสง่าราศีเป็นมหานิยม อยู่คงอาวุธทั้งปวง มีฤทธาศักดานุภาพมาก เสกของที่สูงให้เตี้ยลงได้ สะเดาะอะไรได้สารพัด ทำน้ำมนต์รดแก้เสนียดจัญไร[2]
เรื่องพระคาถามงกุฏพระเจ้านี้[3] ยังมีเรื่องเล่าที่ไม่ปรากฏอยู่ในบันทึกใดๆ เพียงแต่มีการเล่าลือกันมาปากต่อปากถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอารยะประเทศ
ก่อนการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จมาขอรับคำพยากรณ์จาก หลวงปู่เอี่ยม ครั้งเมื่อยังครองอยู่ที่วัดโคนอน ตามคำแนะนำของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เจ้ากรมพระนครบาล
หลวงปู่เอี่ยม เป็นชาวบางขุนเทียนมาตั้งแต่กำเนิด เมื่อยังเล็กพ่อแม่ของท่านได้นำท่านไปฝากเรียนอยู่ที่สำนักวัดหนัง ต่อมาท่านได้อุปสมบท ณ วัดราชโอรส ช่วงเวลาหนึ่งท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดนางนองและฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่รอด ซึ่งเลื่องชื่อมากในด้านคาถาอาคม และของขลังวัตถุมงคล จากนั้นท่านก็ย้ายตามไปปรนนิบัติ หลวงปู่รอด ที่วัดโคนอนตราบต่อเท่า หลวงปู่รอด มรณภาพ หลวงปู่เอี่ยมจึงได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดโคนอนสืบแทนพระอาจารย์ต่อไป
ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าหลวงได้ขอให้ หลวงปู่เอี่ยม ช่วยตรวจดูเหตุการณ์ที่พระองค์จะต้องเสด็จไปยุโรปว่าเป็นอย่างไร เพราะหนทางนั้นไกลและมีอันตรายอยู่รอบด้าน ท่านจึงได้นั่งสมาธิเพื่อเข้าฌาน เมื่อออกจากฌานท่านจึงกราบทูลพระพุทธเจ้าหลวงว่า การเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนี้พระองค์จะต้องประสบภัยถึงสองครั้ง ครั้งแรกเกิดท่ามกลางพายุในทะเล ส่วนครั้งที่สองนั้นเกิดจากสัตว์จตุบาท คือ ม้าพยศอันดุร้ายที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามจะทดลองพระองค์ หลวงปู่เอี่ยม ได้ถวายผ้ายันต์พิเศษและคาถากำกับสำหรับใช้เมื่อยามขับขันในท้องทะล ส่วนการต่อสู้กับม้าพยศนั้นท่านได้ให้คาถาเสกหญ้าให้ม้ากินเพื่อคลายพยศ ซึ่งก็คือ คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย หรือ มงกุฏพระเจ้า นั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องราวที่กล่าวมา ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องที่เล่าลือกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 และมีการเล่าสืบทอดต่อๆ กันมา อันมีความเกี่ยวพันกับพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิต

ภาพที่ 2 เหรียญหลวงปู่แก้ว วัดท่าพูด
ที่มา http://www.siamamulet.net/phpboard/qb.php?Qid=230930
[1] ประวัติวัดท่าพูด, กรุงเทพฯ : ธีรพงษ์การพิมพ์, 2540.
[2] อาจารย์ญาณโชติ[นามแฝง], คัมภีร์ไสยศาสตร์ ฉบับสมบูรณ์, กรุงเทพฯ : เจริญรัตน์การพิมพ์, 2539
[3] หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง บางขุนเทียน [Online] Available http://anchalit.multiply.com/photos/album/9/9