สมุดไทยเรื่อง ยันต์และตำราทำขวัญข้าว ของวัดท่าพูด จ.นครปฐม ได้บันทึกเกี่ยวกับยันต์หลายแบบที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นชื่อว่า “ยันต์นกคุ่ม”
ยันต์นกคุ่มมีหลายแบบ ตัวยันต์มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้างในแบ่งช่องๆ เพื่อลงอักขระคาถาภาษาบาลีกำกับไว้ตามช่องต่างๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือรูปวาดนกคุ่ม ภายในยันต์ที่แบ่งเป็นช่องๆ ได้ลงอักขรคาถาด้วยอักษรขอมไทย เป็นภาษาบาลี ตรงกลางยันต์มีรูปนกคุ่มเกาะอยู่บนต้นไม้ ซึ่งคาถาที่กำกับอยู่ในช่องต่างๆ เมื่อมารวมกันจะได้ความว่า “สนฺติ ปกฺขา อปตฺตตนา สนฺติ ปาทา อวญฺจนา มาตา ปิตา จ นิกขนฺตา ชาตเวท ปฏิกม”
ต้นเหตุของคาถาบทนี้นั้นมาจากชาดกเรื่อง วัฏฏกชาดก[1] ซึ่งเล่าเรื่องเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นลูกนกคุ่มอยู่ในป่าใหญ่แห่งแคว้นมคธ ในขณะนั้นได้เกิดไฟไหม้ป่าเป็นบริเวณกว้าง เหล่านกที่อาศัยอยู่ในป่าต่างถูกไอร้อนและควันไฟทำร้ายจนร่วงลงมาจากรังเป็นจำนวนมาก ลูกนกคุ่มที่พึ่งฟักออกจากไข่มองออกไปนอกรังเห็นเปลวไฟโหมกระพือเข้าใกล้รังตัวเองทุกขณะ ด้วยบุญบารมีที่ลูกนกคุ่มนั้นทำมาในชาติก่อนๆ ทำให้ลูกนกคุ่มสามารถควบคุมสติได้ ทั้งยังระลึกถึงคุณแห่งศีลและสัจจะ พร้อมทั้งอ้างถึงสภาวะธรรมคือ ความจริงที่ตนกำลังเผชิญอยู่ แล้วกล่าวสัตยาธิษฐานว่า
“ปีกของข้ามีอยู่แต่บินไม่ได้ เท้าของข้ามีอยู่แต่เดินไม่ได้ มารดาแลบิดาของข้าหนีไปแล้ว ดูก่อนเปลวไฟ ท่านจงหลีกไปเถิด” (คำแปลของพระคาถาข้างต้น) ด้วยบุญบารมีที่ลูกนกคุ่มได้บำเพ็ญมา และการทำสัตยาธิษฐานครั้งนี้ จึงทำให้ไฟที่กำลังไหม้อย่างแรงนั้นดับสนิทลงเป็นรัศมี 16 กรีส[2] จากรังของลูกนกคุ่ม
จากเรื่องวัฏฏชาดกนี้เองจึงทำให้เชื่อว่า ยันต์นกคุ่มมีพุทธคุณโดดเด่นทางด้านป้องกันอัคคีภัย นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่าสามารถป้องกันภัยจากโจรอีกด้วย จึงนิยมเก็บยันต์นกคุ่มไว้ในบ้านเรือน หรือบ้างก็พกติดตัวเอาไว้ อย่างไรก็ดีหากผู้ใดมียันต์นกคุ่มเก็บไว้ที่บ้านหรือพกติดตัวแล้วก็อยากให้นึกถึงข้อคิดที่ได้จากวัฏฏชาดก คือ การควบคุมสติตัวเองให้มั่นคงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างหน้า ระลึกถึงคุณแห่งศีลและสัจจะที่ตัวเองได้กระทำมา
ในสมุดไทยเรื่อง ยันต์และตำราทำขวัญข้าว ของวัดท่าพูดได้บรรยายสรรพคุณของยันต์นกคุ่มนี้ไว้ว่า
“ยันต์นี้นกคุ่มใช้ได้พัน ๑ ถ้าพอใจผู้หญิงคนใดให้ ข ฐ [3] ใส่พลูกันวันละ 3 คำ ให้ถึง 7 วัน ให้เสก 7 คาบ[4] ท่านรักเราใจจะขาดแล ถ้าลูกมิออกมนน้ำให้กิน 3 คาบออกแล มนขมิ้นทาหางตาเห็นงามรักเราแล มนส้มป่อยสระหัวเสก 45 (คาบ) พิษงู 7 คาบ แมงป่อง 11(คาบ) กรวดทรายปลายกันผี 7 (คาบ) ภาวนาเช้า 16 คาบ กันภัยอันตรายเทพดารักษาเราแล พระคาถานี้แลเสกข้าวให้กากิน 3 ปั้น เสก 3 คาบ แล้วบินไปจับเรือนใครท่านรักเราแล”
จากสรรพคุณที่บรรยายไว้ข้างต้นจะเห็นได้ว่า นอกจากจะมีความเชื่อเรื่องพุทธคุณในด้านป้องกันอัคคีภัยแล้ว ยังมีความเชื่ออีกว่ายันต์นกคุ่มนั้นมีสรรพคุณอื่นๆ อีกเช่น การใช้ทำมนต์เสน่ห์ให้ผู้อื่นรักใคร่ ช่วยทำให้คลอดบุตรง่าย ป้องกันพิษจากสัตว์มีพิษ ป้องกันผี และป้องภัยอันตรายต่างๆ ได้อีกด้วย
ในทางล้านนาก็มีความเชื่อเกี่ยวกับยันต์นกคุ่มนี้เช่นกัน โดยเชื่อว่าหากมียันต์นกคุ่มติดไว้กับบ้านเรือนจะป้องกันอันตรายและนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ ลักษณะของยันต์นกคุ้มก็จะคล้ายกับของทางภาคกลาง เพียงแต่การลงอักขระคาถาก็จะใช้อักษรธรรมล้านนา
ยันต์นกคุ่มล้านนา ที่มา http://www.cm77.com/hongpra/yanlanna.php
[3] อักษรในวงกลมนี้เป็นอักษรขอมไทย ซึ่งน่าจะหมายถึงการลงอักขระ.
[4] ครั้ง.