ในวรรณกรรมชาดกเรื่อง จันทคาด ฉบับวัดท่าพูด มีฉากบางฉากที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือฉากการสู้รบหรือการทำสงครามระหว่างกษัตริย์ ฉากนี้เป็นการยกกองทัพอันมหาศาลของกษัตริย์ฝ่ายหนึ่งชื่อ พระยากาวิน ครองเมืองเวสาลี เข้ามาต่อตีเมืองอนุราช เพื่อจะมาแย่งชิงนางพรมจารีซึ่งตอนนั้นได้อภิเษกกับจันทคาดแล้ว ในฉากสงครามนี้เองที่ได้อธิบายกระบวนทัพของพระยากาวินและได้กล่าวถึงอาวุธของทหารดังนี้
๏ เกณฑ์เอากษัตริย์ แสนหนึ่งสันทัด เร่งรัดโยธา
เครื่องศัตราสัประยุทธ อาวุธนานา ถือเครื่องศาสตรา ให้ครบมือกัน
๏ ธนูกำซาบ ถือหอกถือดาบ โล่เขนสารพัน
ถือทั้งตรี กระบี่เกาทัณฑ์ โตมรกวดขัน เกณฑ์ตามกระบวน
ปืนน้อยปืนใหญ่ หลาวแหลนแพนไชย ดูให้สมควร
แขกกระบี่ยาว พวกลาวถือทวน พวกจีนกับญวน ถือง้าวยาวรี
๏ พลช้างพลม้า รถรัตน์หัตถา เสนามนตรี
เกณฑ์ถ้วนสิบแปด อักโขเภณี พร้อมแล้วมนตรี จึงกราบทูลสาร
จากบทข้างต้นมีการบรรยายเครื่องอาวุธและเครื่องป้องกันหลายอย่าง
พวกที่เป็นเครื่องอาวุธนั้น ได้แก่
ธนูกำซาบ คือ ธนูอาบด้วยยาพิษ
หอก คือ อาวุธสำหรับแทงชนิดหนึ่ง ทำด้วยโลหะ มีด้ามยาว
ดาบ คือ มีดยาวปลายแหลมชนิดหนึ่ง สันแอ่นปลายงอนเล็กน้อย มักใช้เป็นอาวุธสําหรับฟันแทง
ตรี ตัดมาจากคำว่า ตรีศูล คือ หลาวสามง่ามเป็นศัสตราประจำหัตถ์พระอิศวร
กระบี่ คือ อาวุธชนิดหนึ่ง ใบแบนยาว ปลายแหลม มีคมข้างหนึ่งหรือทั้ง ๒ ข้าง ด้ามสั้น ที่ด้ามถืออาจมีโกร่งหรือไม่มีก็ได้ มีฝัก
เกาทัณฑ์ คือ ธนู
โตมร คือ วาวุธสำหรับซัด, หอกซัด, สามง่ามที่มีปลอกรูปใบโพสวมอยู่
ปืนน้อย คือ ปืนที่ขนาดลำกล้องเล็ก ประกอบกับรางปืนและอุปกรณ์การยิงที่มีน้ำหนักเบา สามารถพกพาไปได้เฉพาะแต่ละคน
ปืนใหญ่ คือ ปืนที่ขนาดลำกล้องใหญ่ หนาและยาวกว่าปืนเล็ก ปืนใหญ่แต่ละกระบอกมีน้ำหนักมาก
หลาว คือ ไม้ที่เสี้ยมแหลม เป็นอาวุธสำหรับแทง
แหลน คือ เครื่องมือที่ใช้แทงปลาเป็นต้น ทำด้วยเหล็กกลมยาว ปลายแหลม มีด้ามยาว
กระบี่ยาว คือ กระบี่
ทวน คือ อาวุธชนิดหนึ่งคล้ายหอก แต่เรียวเล็กและเบากว่า ด้ามยาวมาก
ง้าว คือ อาวุธชนิดหนึ่งคล้ายดาบ มีด้ามยาว ถ้าใต้คอของด้ามมีขอสำหรับสับบังคับช้างได้เรียกว่า ของ้าว
ส่วนเครื่องป้องกันอาวุธ ได้แก่
โล่ คือ เครื่องป้องกันรูปร่างเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันเป็นที่จับอยู่ด้านหลัง โล่มักทำด้วยหนังดิบแห้ง ใช้ควบคู่กับดาบบ้าง หอกบ้าง
เขน คือ เครื่องป้องกัน มีรูปร่างกลม ตรงกลางนูนขึ้นเล็กน้อย คล้ายหลังเต่า ด้านหลังมีห่วงสำหรับสอดแขนและมือจับ เขนทำด้วยโลหะใช้ควบคู่กันกับดาบหรือพร้า เรียกว่า ดาบเขน หรือพร้าเขน อนึ่ง เขนนี้ถ้านำขึ้นติดสองข้างสัปคับผูกเครื่องศัสตราวุธต่างๆ ตั้งแต่บนหลังช้างศึก ช้างนั้นเรียกว่า “ช้างเขน”
เครื่องหมายทางราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เราเรียกว่า “ตราโล่” นั้น ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ (ฉบับที่ ๑๖๘) ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๘๐ ง วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หน้า ๔ ได้ให้คำจำกัดความว่า "เครื่องหมายราชการแห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นรูปพระแสงดาบเขนและโล่ ซึ่งเป็นรูปวงกลมเส้นคู่สองชั้น วงนอกเป็นลายพรรณพฤกษา วงในเป็นลายใบเทศผูกลายเป็นรูปหน้าสิงห์(ไม่จำกัดสีและขนาด)"