ที่มาภาพ: www.bl.uk/manuscripts
ภาพกลโคลงเสือผอม
เสือผอมกวางแล่นเข้า โจนขวิด
ไป่รู้ว่าเสือมีฤทธิ์ เลิศล้ำ
เล็บเสือคมยิ่งกริช เสือซ่อน ไว้นา
เมื่อไหร่หกลมคะม้ำ จึ่งรู้ว่าเสือ
กลโคลงภาพนี้มีที่มาจาก โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมประเภทคำสอน แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2374 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของโลก และชีวิตไม่ต่างจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเรื่องอนิจจัง กล่าวคือ ทุกสิ่งในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน ต้องแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์นั้นย่อมมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาทุกคนไม่อาจหลีกพ้น กวีจึงสอนให้มนุษย์ตระหนักถึงความจริงดังกล่าว และให้หมั่นทำความดีอย่างสม่ำเสมอ โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีคำสอนที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งทั้งในแง่การประพันธ์และเนื้อหา ซึ่งมีสาระอันเป็นประโยชน์ให้หลักอันควรและไม่ควรประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต สามารถนำมาเป็นคติในการใช้ชีวิตได้ทุกยุคทุกสมัย และหากปฏิบัติตนได้ตามนั้นย่อมนำความสุขความเจริญมาสู่ตนและสังคม (โคลงโลกนิติ, 2016)
โคลงโลกนิติ
เสือผอมกวางวิ่งเข้า โจมขวิด
ไป่ว่าเสือมีฤทธิ เลิศล้ำ
เล็บเสือคมยิ่งกฤช เสือซ่อน ไว้นา
ครั้นปะปามล้มขว้ำ จึ่งรู้จักเสือ
โคลงโลกนิติเสือผอม ถอดความได้ว่า กวางเห็นเสือผอม นึกว่าไม่ฤทธิ์ไม่มีแรง จึงกระโจนเข้าขวิด หารู้ไม่ว่าถึงแม้เสือจะผอมแต่ยังซ่อนเล็บที่แหลมคมไว้ ต่อเมื่อกวางนั้นถูกเล็บเสือตะปบเข้า จึงรู้ถึงฤทธิ์ของเสือ โคลงบทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนให้คนเราตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ไม่กระทำการใดๆ บุ่มบ่าม ปราศจากการคิดครวญไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน หากเผอเรอตกอยู่ในความประมาท ชะตาชีวิตคงไม่พ้นกวางตัวนั้นที่ประมาทฤทธิ์ของเสือผอม
ที่มาของโคลงบทนี้ ศ. ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ได้วิเคราะห์ไว้ในโคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา โดยสันนิษฐานว่ามาจากการสร้างสรรค์ของกวีเอง ซึ่งโคลงโลกนิติบทอื่นๆ ก็จะมีที่มาแตกต่างกัน เช่น มีที่มาจากคัมภีร์ต่างๆ มีที่มาจากอุปมาอุปไมยจากชาดกหรือนิทานไทยแต่โบราณ มีที่มาจากวรรณคดีเรื่องอื่นๆ เป็นต้น (นิยะดา เหล่าสุนทร, 2542, หน้า 159-160)
ข้อสงสัยบางประการที่อยู่ในกลโคลงภาพนี้คือ เมื่อนำกลุ่มคำมาจัดเรียงให้เป็นโคลงแล้วปรากฏว่า ยังเหลือคำหรือกลุ่มคำอีก 4 ชุดที่ไม่ได้ใช้ ได้แก่ “ป่าเฮยป่าใหญ่” “ไม้นั้นจะเป็น” “ผุยผง” และ “หาพยัคฆ์ไม่” ซึ่งไม่แน่ชัดว่ากวีผู้ประพันธ์กลโคลงภาพชิ้นนี้มีความประสงค์จะใช้ชุดคำทั้ง 4 ชุดนี้อย่างไร
อย่างไรก็ดีมีความเป็นไปได้ที่จะพอสันนิษฐานได้ 2 กรณี คือ กวีแต่งชุดคำทั้ง 4 ชุดขึ้นมา เพื่อเป็นกลลวงให้ผู้ที่จะมาถอดโคลงให้เกิดความสับสนในการเลือกชุดคำไปประกอบเป็นโคลงที่ถูกต้อง กับอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ ชุดคำทั้ง 4 ชุดนั้นสามารถนำมาประกอบเป็นโคลงใหม่ โดยประกอบกับชุดคำอื่นๆ จนได้โคลงใหม่ขึ้นมาอีก 1 โคลง
ข้อสันนิษฐานอันหลังนี้อาจพิสูจน์ด้วยการประกอบโคลงโดยใช้ชุดคำทั้ง 4 ชุด เป็นหลัก และชุดคำอื่นๆ ให้เป็นโคลงใหม่อีก 1 โคลง ผู้เขียนเองก็ไม่สันถัด ถนัดกรณี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เท่าไร หากผู้อ่านท่านใดพอจะพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ได้ หรือมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ เพิ่มเติม ก็เขียนมาคุยกันได้ จะมาทางกระดาษจดหมาย หรือกระดาษอิเล็กทรอนิคส์ ก็ได้ทั้งนั้นครับ
อ้างอิง
โคลงโลกนิติ. (2016, 11 7). Retrieved from ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย: http://www.sac.or.th/databases/thailitdir/detail.php?meta_id=222
นิยะดา เหล่าสุนทร. (2542). โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง.