ยารักษาโรคของแพทย์แผนไทยในอดีตมักพึ่งพิงอิงอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่เราเรียกว่า “สมุนไพร” ยาสมุนไพรเกิดจากภูมิปัญญาของแพทย์ไทยหรือหมอยา ที่นำเอาสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพรรณพืชต่างๆ สิ่งที่ได้จากสัตว์ แร่ธาตุ เป็นต้น มาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค การทำยาสมุนไพรเกิดจากการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ได้ตัวยาที่สามารถขจัดหรือยังยั้งอาการของโรคนั้นๆ รวมไปถึงการวินิจฉัยโรคที่ต้องสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วย และอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอย่างละเอียด
ภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ถูกบันทึกใน “เอกสารโบราณ” เพื่อส่งต่อให้กับอนุชนผู้ที่ต้องการจะเป็นแพทย์ หรือผู้ที่จะศึกษาเกี่ยวกับแพทย์แผนไทย แต่ด้วยการเข้ามาของแพทย์แผนตะวันตกจึงทำให้ แพทย์แผนไทยลดบทบาทลงอย่างมาก มีการเรียนการสอนอยู่ในวงที่จำกัดเฉพาะผู้ที่สนใจเรียนเท่านั้น ดังนั้นความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยจึงถูกลืมเลือนหายไปจากสังคมไทย เหลือไว้เพียงบันทึกที่เป็นเอกสารโบราณ หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “ตำรายา”
ตำรายา หรือตำรายาพื้นบ้านไทยนี้เอง ที่ได้บันทึกสรรพวิชาความรู้ทางด้านแพทย์แผนไทยไว้อย่างมากมาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าตำรายาแพทย์แผนไทยเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสังคมไทย จึงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงพระตำราหลวงเนื่องด้วยการใช้งานที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เอกสารชำรุดไปบ้าง สูญหายไปบ้าง จึงโปรดเกล้าให้แพทย์หลวงนำตำรายาจากที่ต่างๆมาตรวจสอบชำระในปี พ.ศ. 2413 ให้ตรงกับพระตำราหลวงต้นฉบับเดิมมีชื่อว่า “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”
เนื้อหาในเอกสารโบราณประเภทตำรายานี้นอกจากจะบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ การวินิจฉัยอาการ การรักษาโรค ตำรับยาสมุนไพรที่ใช้รักษา ซึ่งเหมือนกับเป็นตำราเรียนของแพทย์แผนไทยให้ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว ในเอกสารที่บันทึกยังแฝงถึงเรื่องราวทางสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งแสดงออกให้เห็นถึงคติความเชื่อ และโลกทัศน์ของคนไทยในอดีตอีกด้วย
หนึ่งในคติความเชื่อของคนไทยที่แฝงอยู่ในตำรายาก็คือ “คาถา” ในการบันทึกสูตรตำรับยาแก้โรคชนิดหนึ่งๆ บางครั้งผู้บันทึกก็จะเขียนสูตรยาสมุนไพรและบอกว่ามี “คาถากำกับตัวยา” เป็นคาถาอะไร ซึ่งจะพอยกตัวอย่างให้เห็นได้จากเอกสารโบราณ สมุดไทยขาวเรื่อง “สันนิบาตคำกลอน” สมบัติของบ้านหมอเห สายโกสินทร์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งปริวรรตเป็นอักษรไทยปัจจุบันแล้วโดย ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)
ในเอกสารได้กล่าวถึงอาการของโรคสันนิบาตต่างๆ เช่น สันนิบาตไฟฟ้า สันนิบาตกุมภัณฑ์ สันนิบาตโลหิต สันนิบาตบ้าหมู เป็นต้น และกล่าวถึงยาสมุนไพรที่ใช้แก้โรคสันนิบาตต่างๆ เช่น ยามหาอุดม ยาแก้สันนิบาตนางนวล ยาแก้สันนิบาตเลือด ยาแก้สันนิบาตลูกอ่อน เป็นต้น สูตรยาสมุนไพรที่ใช้แก้หรือรักษาอาการของโรคจะบอกว่าต้องใช้สมุนไพรใดบ้าง เท่าไหร่ และลงท้ายไว้ด้วยว่าจะใช้ “คาถา” ใดเสกกำกับตัวยาเหล่านี้ เช่น
ยาแก้สันนิบาตลม
“...แพทย์สมมติเรียกว่า ลมตะคริว หรือเรียกว่า สันนิบาตลม แก้ด้วยยานี้ รากเล็บมือนาง ๑ อ้อยแดง ๑ ขอบชะนางแดง ๑ รากพันงูแดง ๑ ลูกขี้กาแดง ๑ รากตองแตก ๑ พญายา ๑ รากตะลุมพุกแดง ๑ ยาข้าวเย็น ๑ สมอทั้ง ๓ เมื่อเอาลงหม้อ เงินขวัญข้าว ๑ สลึง เสกด้วยสัพพาสี แล้วต้มรับประทานแล ๚๛
สัพพาสี เป็นชื่อคาถาที่หมอยาสมัยโบราณใช้เสกตัวยาลงหม้อต้มยา ที่มาของคาถานี้น่าจะมาจาก “บทขัดขันธปริต-ตัง” ในบทสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน และด้วยเหตุที่บทขัดขันธปริตตังนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า “สพฺพาสี” จึงได้ชื่อว่า
“สัพพาสี” นั่นเอง ซึ่งมีคาถาว่าดังนี้
สพฺพาสีวิสชาตีนํ ทิพฺพมนฺตาคหํ วิยยนฺนาเสติ วิสํ โฆรํ เสสญฺจาปิ ปริสฺสยํ
อาณกฺเขตฺตมฺหิ สพฺพตฺถ สพฺพทา สพฺพปาณินํ สพฺพโสปิ นิวาเรติ ปริตฺตนฺตมฺภณาม เห
“พระปริตรอันใด ย่อมยังพิษอันร้ายแห่งหมู่สัตว์ ทีฆชาติทั้งปวงให้ฉิบหายไปดุจยาวิเศษ อันประกอบด้วยมนต์ทิพย์ อนึ่งพระปริตรอันใด ย่อมห้ามกันอันตราย อันวิเศษของสัตว์ทั้งสิ้น โดยประการทั้งปวงในอาณาเขตที่ทั้งหมดในกาลทุกเมื่อ
เราทั้งหลาย จงสวดพระปริตรอันนั้นเทอญ”
ในกรณีที่ตัวยาดังกล่าวใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ให้ใช้ตัวยาอีกขนานหนึ่งดังนี้
ยาแก้สันนิบาตลม (อีกขนานหนึ่ง)
“ถ้าไม่ฟัง(ถ้าอาการไม่ดีขึ้น) เอารากกระทืบยอด ๑ หัวพุทธรักษา ๑ แห้วหมู ๑ หัวหญ้าชันกาด ๑ พริกไทย ๑ ดีปลี ๑ ว่านน้ำ ๑ รากปลาไหลเผือก ๑ ชะเอมเทศ ๑ กำลังวัวเถลิง ๑ รากชะพลู ๑ จันทน์แดง ๑ แก่นสน ๑ แสมสาร ๑ แก่นปรู ๑ รากหมีเหม็น ๑ รวมเสกด้วยพุทธคุณ ต้มรับประทานแล ๚๛”
พุทธคุณ เป็นชื่อคาถาในบทสวดมนต์ที่กล่าวถึงคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่คำขึ้นต้นของพุทธคุณขึ้นต้นด้วย “อิติปิ โส” คาถาพุทธคุณนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “คาถาอิติปิ โส” คาถาพุทธคุณว่าดังนี้
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต
โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถาเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ
“พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้แจกจ่ายธรรม เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ดีโดยชอบด้วยพระองค์เองทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ(ความรู้และความประพฤติ) เสด็จไปดี(คือไปที่ใดก็ยังประโยชน์ให้ที่นั้น) ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก หาผู้อื่นเปรียบมิได้ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทรงเป็นผู้ตื่น ทรงเป็นผู้แจกจ่ายธรรม”
ยาแก้สันนิบาตนางนวล
“...แพทย์สมมตินามอีกนัยหนึ่งว่า ลงแดง ให้ประกอบยาแก้ เอาแก่นมะหวด ๑ ใบกระท่อม ๑
รากทับทิม ๑ รากมะม่วงพรวน ๑ รากแคแดง ๑ ดอกบัวหลวง ๑ ดอกมะลิ ๑ ดอกบุนนาค ๑
ดอกกรรณิการ์ ๑ ยาข้าวเย็น ๑ รวมเสกด้วย ๕ พระองค์ ขวัญข้าว ๑ สลึง ต้มรับประทานแล ฯ”
สันนิบาตนางนวล คือไข้สันนิบาตชนิดหนึ่ง มีอาการปวดหัวตัวร้อน ท้องลั่นครืดๆ แต่ยังรับประทานอาหารได้
๕ พระองค์ เป็นชื่อคาถาหัวใจพระเจ้า ๕ พระองค์ คือ น โม พุทฺ ธา ย หมายถึง พระนามย่อของสมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ในภัทรกัป ดังนี้
น คือ พระกกุสันธะ พระพุทธเจ้าองค์แรก
โม คือ พระโกนาคมนะ พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง
พุท คือ พระกัสสปะ พระพุทธเจ้าองค์ที่สาม
ธา คือ พระโคตมะ พระพุทธเจ้าองค์ที่สี่(ปัจจุบัน)
ย คือ พระศรีอาริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์ที่ห้าองค์สุดท้ายในกัปนี้
ในอดีตวัดพุทธนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมทางด้านสรรพวิชาการต่างๆ มากมาย เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน เพราะมีทั้งทางด้านเอกสาร ตำรับตำราเรียน ครูบาอาจารย์ บุคคลที่ต้องการจะร่ำเรียนวิชาเหล่านี้ก็ต้องเข้ามาเรียนกันที่วัด และบางครั้งผู้ชายก็มักจะขอ “บวช” เพื่อความสะดวกในการศึกษาเล่าเรียนอีกด้วย โดยเรียนไปพร้อมๆ กับพุทธศาสนา
ดังนั้นสรรพวิชาการต่างๆ ของไทยในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ทางด้านโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งความรู้ทางด้านแพทยศาสตร์ก็จะผสมหลอมรวมไปกับความเชื่อทางด้านพุทธศาสนาได้อย่างกลมกลืนและแยกกันไม่ออก