ก่อนที่จะมีการรักษาพยาบาลแบบตะวันตกเข้ามา คนไทยรักษาโรคด้วยสมุนไพรกันมานานแล้ว คนไทยรู้จักการใช้พืชมาประกอบเป็นยารักษาโรคโดยอาศัยสรรพคุณของพืชนั้นๆ ผู้ที่ประกอบยาสมุนไพรเราเรียกว่า “หมอยา” การนำสมุนไพรมาประกอบเป็นยารักษาโรคนั้นเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ต้องร่ำต้องเรียนกันก่อนถึงจะทำได้ เพราะการใช้ยาสมุนไพรนั้นมีทั้งให้คุณและให้โทษ หากมีการใช้ยาที่ไม่ถูกกับโรคก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้นคนที่จะเป็น “หมอยา” ต้องมีทั้งความรู้เรื่องสมุนไพรและการใช้เป็นอย่างดี มีความเชี่ยวชาญในการประกอบยา การวินิจฉัยโรค และคุณสมบัติของหมอยาที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ “คุณธรรม”
ภาพสมุนไพร จาก http://fic.ifrpd.ku.ac.th
แต่ไหนแต่ไรวัดคือศูนย์รวมจิตใจของชุมชน นอกจากนี้วัดยังเป็นแหล่งความรู้ และเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิทยาการต่างๆ ดังจะเห็นได้จากเอกสารโบราณภายในวัดที่บันทึกความรู้ ภูมิปัญญาของท้องถิ่นไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น คัมภีร์ทางพุทธศาสนา วรรณกรรมคำสอน วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ ตำราอักษรศาสตร์ หรือแม้กระทั่งตำราเวชศาสตร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ตำรายา”
ตำรายา เป็นเอกสารโบราณที่บันทึกสูตรยาสมุนไพรแก้โรคต่างๆ โดยมักจะบันทึกว่า ยาแก้โรคนั้นๆ ต้องใช้สมุนไพรชนิดใดบ้าง ใช้ส่วนไหนของพืช เช่น ราก ใบ ดอก ผล หรือเมล็ด ต้องใช้ในปริมาณเท่าไหร่โดยระบุเป็นตัวเลข หรือถ้าอยากระบุสัดส่วนเฉพาะของสมุนไพรก็จะใช้มาตรชั่ง ตวง วัดยาไทย ต้องใช้อะไรเป็นกระสายยาซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นของเหลว เช่น น้ำมะนาว ดีงู เหล้า เป็นต้น ส่วนการเข้ายาหรือการประกอบยานั้นเป็นเรื่องที่ต้องสอนกันปากต่อปากระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ไม่มีในบันทึกตำรายา อาจเป็นเพราะการประกอบตัวยามีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่เน้นไปทางปฏิบัติ เช่น ข้อกำหนดต่างๆ ในการปฏิบัติตนระหว่างประกอบตัวยา การบริกรรมคาถา การเขียนยันต์กำกับ เป็นต้น