ภาชนะดินเผาลวดลายเครื่องจักสาน รูปทรงคล้ายกระบุง อายุราว 3,000 - 2,500 ปีมาแล้ว พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในประเทศไทย บริเวณชั้น 2 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (04/0094/2536, 00094, PW 11)
ภาชนะดินเผาลายจักสาน จากแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ลักษณะภาชนะดินเผาใบนี้เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) สีน้ำตาลส้ม ส่วนฐานหรือก้นเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนลำตัวหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับส่วนก้น ผิวภาชนะด้านนอกที่ส่วนลำตัวและส่วนก้นมีลวดลายกดประทับเป็นลายเครื่องจักสาน ในขณะที่ส่วนปากเป็นวงกลม ผายออกเล็กน้อย ไม่มีลวดลาย ขนาดภาชนะสูง 7.2 เซนติเมตร หนา 0.7 เซนติเมตร ฐานกว้าง 10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนปาก 14 เซนติเมตร
ลวดลายบนภาชนะดินเผาเกิดจากการใช้เครื่องจักสานเป็นแบบในการขึ้นรูปภาชนะ ดังเช่นภาชนะดินเผาชิ้นนี้ ทำขึ้นโดยการใช้เครื่องจักสานประเภทกระบุงขนาดเล็กเป็นพิมพ์ขึ้นรูป (หรืออัดดินเข้าไปภายในกระบุงจนขึ้นเป็นรูป) แล้วนำไปเผาไฟ เมื่อนำไปเผาเครื่องจักสานจะไหม้สลายไป เหลือเฉพาะลวดลายเครื่องจักสานที่ปรากฏบนภาชนะ
ภาชนะดินเผาลวดลายเครื่องจักสาน เป็นหนึ่งในรูปแบบของเครื่องปั้นดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณที่ราบลอนลูกคลื่นของภาคกลาง แถบลุ่มแม่น้ำลพบุรี - ป่าสัก ในช่วงระยะที่ 2 (3,500 – 2,700 ปีมาแล้ว) ที่เป็นสังคมแบบชุมชนเกษตรกรรมที่รู้้จักการทำและใช้โลหะสำริดแล้ว แหล่งโบราณคดีี่พบ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีจันเสนและแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ แหล่งโบราณคดีจันเสน นอกจากนั้นยังพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงยุคสมัยเดียวกัน เช่นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แหล่งโบราณคดีบ้านปอภาร อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เป้นต้น
ภาชนะดินเผาลายเครื่องจักสาน พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย ต.ชอนม่วง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดย รศ.ดร. สุรพล นาถะพินธุ เมื่อ พ.ศ.2528
ที่มา: Facebook Fanpage "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ : King Narai National Museum" https://www.facebook.com/1535769516743606/photos/a.1536398306680727/2420827651571117/?type=3)