เกร็ดความรู้จากเอกสารอาหรับกับเอเชียอาคเนย์ ตอนที่ 1 : เทคนิคการเย็บเรือ/หมันเรือ (sewn-plank) หรือ ค็อยฏียะฮ์ (خيطية : khaytiyyah)
.
นับตั้งแต่เอเชียอาคเนย์ปรากฏขึ้นในบันทึกเอกสารอาหรับในกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นช่วงเดียวกับที่กิจกรรมการค้าทางทะเลโลกขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สอดคล้องกับการกำเนิดของอาณาจักรอิสลามในสมัยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ (Abbāsids) ที่โยกย้ายศูนย์กลางอำนาจมาอยู่ในเมโสโปเตเมีย อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าทางบกคือเส้นทางสายไหม และทางทะเลโดยมีแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีสเชื่อมออกสู่อ่าวเปอร์เซีย ประตูหลังบ้านที่เปิดสู่มหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ไร้พรมแดน พ่อค้านักเดินเรือเหล่านี้ประสงค์จะล่องเรือไปจนถึงเมืองท่าในจีนตอนใต้ (สมัยร.ถัง) เพื่อค้าขายและนำสินค้าของแปลกจากตะวันออกมาสร้างกำไรและป้อนสู่ตลาดใหญ่ในตะวันออกกลางที่ขยายตัวอย่างมาก
.
มีข้อสงสัยอยู่ว่าพ่อค้านีักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ใช้เรือแบบไหนตระเวนค้าขายไปทั่วเจ็ดย่านน้ำ? เมื่อค้นดำดิ่งลงไปในกองเอกสารก็พบว่าข้อมูลที่เห็นว่าตรงกันอยู่หลายฉบับ ว่าเรือเหล่านี้เป็นเรือที่ใช้เทคนิคต่อเรือโดยเจาะรูที่ไม้กระดานเรือแล้วใช้เชือกร้อยเย็บตรึงเข้าด้วยกัน อาหรับเรียกว่า "ค็อยฏียะฮ์" (ค็อยฏ์ แปลว่า ด้ายเย็บ) ซึ่งนับว่าเป็นเทคนิคการต่อเรือที่มีความพิเศษในทะเลย่านนี้
.
เรามีหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงเทคนิคการต่อเรือแบบนี้อยู่ได้แก่ ซากเรือเบลิตุง (Belitung shipwreck) ที่พบใต้ทะเลอินโดนีเซียพร้อมคลังสินค้ามหาศาลที่บรรทุกมา นักโบราณคดีวิเคราะห์ว่าเรือลำนี้เป็นเรือสินค้าอาหรับอายุสมัยราวคศว.9 และล่าสุดและสมบูรณ์ยิ่งกว่าคือ 'แหล่งโบราณคดีเรือพนมสุรินทร์' ที่พบในนากุ้ง ต.พันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร เรานี่เอง โดยนักโบราณคดีไ ทยก็กำหนดอายุสมัยเรือลำนี้ไล่เลี่ยกัน
.
เมื่อมาพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากข้อมูลเอกสารอาหรับร่วมสมัย พบว่ามีบันทึกบางฉบับอธิบายเกี่ยวกับเรือลักษณะดังกล่าวอยู่ด้วย นับว่าโชคดี!
ตัวอย่างเช่น "อัคบาร อัศศีน วัลฮินด์ (เรื่องเล่าจากจีนและอินเดีย) เล่มที่ 2" ที่เขียนโดย 'อะบูเซด ฮะซัน' วาณิชจากเมืองซีรอฟ ในราวกลางคศว.10
.
'อะบู เซด' บันทึกเหตุการณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า ได้มีการพบ 'เศษไม้กระดานเรือเย็บ' ลอยมาติดชายฝั่งซีเรียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สร้างความประหลาดใจแก่ชาวอาหรับเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันว่าเรือที่ต่อขึ้นด้วยเทคนิคเย็บมีใช้อยู่เฉพาะในมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น ส่วนเรือฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใช้ตะปูตอกทั้งหมด จึงนำมาสู่ข้อสังเกตของอะบูเซดว่า จริงๆ แล้วเป็นเพราะมหาสมุทรของโลกนั้นเชื่อมต่อกันทั้งหมดนั่นเอง (อัพเดตองค์ความรู้เดิมสมัยกรีก-โรมันที่ว่าทะเลตะวันออกเป็นทะเลปิด) โดยเศษไม้นี้มาจากเรือสินค้าอาหรับในมหาสมุทรอินเดียที่อัปปางลง แล้วลอยน้ำวนไปทางตะวันออกขึ้นเหนือผ่านจีน ชีลา (เกาหลี) ไปวกเข้าทะเลดำ (ได้ยังไง!? อันนี้มั่วหน่อย) ไหลมาออกช่องแคบบอสฟอรัส ทะเลอีเจียน แล้วมาโผล่ที่ชายฝั่งซีเรีย (ไกลมาก!)
.
ถัดมาไล่เลี่ยกัน 'อัลมัสอูดีย์' นักประวัติศาสตร์ผู้ได้ชื่อว่าเป็น 'Herodotus of the Arabs' ได้พรรณนาไว้ในตำรา Universal history ชิ้นเอก "มุรูจญ์ อัษษะฮับ วะ มะอาดิน อัลเญาฮัร" (ทุ่งทองคำและเหมืองอัญมณี) ว่าเรือเย็บไม้กระดานมีแล่นอยู่เฉพาะในมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น ในทะเลอื่นไม่มี พร้อมให้เหตุผลว่าที่ต้องใช้เรือแบบนี้ก็เพราะน้ำในทะเลที่นี่กัดกร่อนโลหะ ทำให้ตะปูเปื่อย เรือแยกร่าง ชาวอาหรับเลยใช้เชือกป่านที่เรียกว่า "กินบาร" (قنبار : qinbār) ทำจากใยมะพร้าว มาเย็บร้อยรูเจาะบนไม้กระดานเรือเข้าด้วยกันนั่นเอง โดยเชือกกินบารนี้ชาวอาหรับระบุว่า เป็นสินค้าที่มาจากอินเดียใต้ หมู่เกาะลักษทวีป อันอุดมไปด้วยมะพร้าว ต้นไม้มหัศจรรย์ที่ชาวอาหรับยกย่องหนักหนา
.
ในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 3 (คศว.12) มีนักเดินทางชาวมุสลิมจากเมืองบาเลนเซีย (ในสเปน) นามว่า 'อิบนุ ญุเบร' ออกเดินทางมุ่งหน้าไปแสวงบุญ ณ นครศักดิ์สิทธ์ มักกะฮ์และมะดีนะฮ์ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเขาไม่สามารถใช้เส้นทางคาราวานบกจากอียิปต์ได้ จึงเลือกที่จะข้ามทะเลแดงไปยังเมืองท่าญิดดะฮ์ ประตูสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ เขาได้บันทึกว่า เรือในทะเลแดงก็เป็น 'เรือเย็บไม้กระดาน' พร้อมเสริมว่ามีการใช้ชันและน้ำมันตับปลาฉลามอุดตามช่องว่าง อิบนุ ญุเบรยังบอกอีกว่า เรือเย็บมันได้เปรียบนะ เพราะมันยืดหยุ่นกว่า ทะเลแดงนั้นเต็มไปด้วยอันตรายจากหินโสโครก ยามกระแทกหินเรือจะไม่แตกง่ายเหมือนเรือตอกตะปู (จริงไหม? ก็น่าคิด)
.
แต่อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตจากบันทึกของนักเดินชาวแทนเจียร์นามอุโฆษนาม 'อิบนุ บะฏูเฏาะฮ์' ในคศว.14 ได้ให้ข้อมูลที่ต่างไปว่า เรือเย็บแบบนี้หาได้มีแพร่หลายในมหาสมุทรอินเดียเหมือนในศตวรรษก่อนๆ ในการเดินทางของเขาจากมัลดีฟไปยังเบงกอล และจากเบงกอลไปยังสุมาตรา เขาใช้เรือที่เรียกว่า "ญุงค์" (جنك : Junk) เป็นเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ มีหลายเสากระโดงและใบเรือสี่เหลี่ยม มีเคบินและห้องหับใต้ดาดฟ้า ซึ่งทำให้นึกภาพไปถึงเรือสำเภาจีนมากกว่าเรือเย็บสไตล์อาหรับเสียแล้ว
.
เป็นไปได้ไหมว่าในช่วงเวลาที่อิบนุ บะฏูเฏาะฮ์มา เรือเย็บของเรานั้นอาจจะถูกเบียดด้วยเทคโนโลยีการต่อเรือแบบใหม่ ความนิยมในเรือเย็บอาจจะถูกจำกัดอยู่ตามชายฝั่งทะเล ไม่ได้เป็นเรือสินค้าระยะไกลแบบในช่วงคศว. 9-12 อีกต่อไปแล้ว
ลิ้งค์ข่าวเรือพนมสุรินทร์ของมติชนสำหรับผู้สนใจ https://www.matichon.co.th/.../prachachuen.../news_2207658
อ้างอิงรูป : Staples, Eric. Sewn-Plank Reconstructions of Oman: construction and documentation. International Journal of Nautical Archaeology. Volume 48, Issue 2 p. 314-334. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/1095-9270.12370