ภาพวาดเรืออาหรับจากหนังสือ มะกอมาต อัล-ฮะรีรีย์ (Maqamat al-Hariri) เป็นหนังสือบทกลอนว่าด้วยเรื่องการผจญภัยของอะบู เซด (Abu Zayd) ชายจากเมืองชาม (ดามัสกัส, ซีเรีย) และอัล-ฮาริษ พ่อค้านักเดินทาง
ภาพนี้เขียนวาดโดยจิตกรชาวอิรักนามว่า อัล-วาสิตีย์ (al-Wasiti) ใน ค.ศ. 1273 / ฮ.ศ. 634 ภาพวาดนี้แสดงรายละเอียดและส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรือสินค้าของชาวอาหรับในอ่าวเปอร์เซียและมหาสมุทรอินเดีย เรือลำนี้มีลักษณะหัว-ท้ายเรียวเชิดสูง / สมอเรือเหล็กแบบแฉก / ดาดฟ้าเรียบเปิดโล่งเสมอกัน / ใต้ดาดฟ้าเหมือนมีพื้นที่โดยสารสำหรับลูกเรือ / มีสองเสากรโดงและรังกา (สำหรับปีนขึ้นไปสังเกตการณ์) / ใบเรือสี่เหลี่ยม / หางเสือมีสองแบบทั้งหางเสือท้ายและหางเสือข้าง (คล้ายไม้พายคัดท้าย) / ระหว่างไม้กระดานมีรอยเย็บด้วยเชือกเข้าด้วยกันที่เรียกว่าหมันเรือ หรือ ที่ภาษาอาหรับเรียกว่า ค็อยฏียะฮ์ (Khaytiyyah) โดยเทคนิคการต่อเรือลักษณะนี้ถูกระบุในงานวรรณกรรมอาหรับหลายฉบับ เช่น สายโซ่ประวัติศาสตร์ (ซิลซิละฮ์ อัฏฏะวารีค) โดย อะบู เซด ฮะซัน อัซซีรอฟฟีย์ (Abu Zayd al-Hasan as-Sirafi) พ่อค้านักเดินเรือมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ว่า เป็นที่นิยมในมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะเรือสินค้าที่ต่อขึ้น ณ เมืองซีรอฟ ที่เป็นเมืองท่าสำคัญในอ่าวเปอร์เซีย ณ ช่วงเวลานั้น โดยจำำแนกว่ามีความแตกต่างจากเรือที่ต่อในฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งใช้การตอกตะปูยึดแผ่นไม้กระดานเข้าด้วยกัน