ตะเกียงดินเผา สมัยวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 พบจากการขุดค้นที่เมืองโบราณอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ. 2527 โดยคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในประเทศไทย บริเวณชั้น 2 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (04/0110/2536, 00110, IN'84 O'19'210-220)
ตะเกียงดินเผา พบจากเมืองโบราณอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ลักษณะตะเกียงดินเผาชิ้นนี้ เป็นเครื่องปั้นดินเนื้อดิน (earthenware) เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ (ต่ำกว่า 1,100 องศาเซลเซียส) สีเทา-ดำ ขนาดสูง 4.5 เซนติเมตร ยาว 12.4 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนปาก 6.7 เซนติเมตร ความหนาของเนื้อภาชนะ 0.6 เซนติเมตร
ตะเกียงดินเผารูปแบบที่มีลำตัวเป็นถ้วยทรงกลมและมีพวยลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากตะเกียงของอินเดียและโรมัน และนำมาพัฒนาจนมีรูปแบบเป็นของตนเอง ในประเทศไทย มักพบตะเกียงลักษณะนี้ในกลุ่มแหล่งโบราณคดีสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยทวารวดี แถบแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของภาคกลาง ท่าจีน แม่กลอง เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค จังหวัดลพบุรี เมืองโบราณจันเสนและเมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี รวมถึงที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี นอกจากนี้ยังพบอยู่ในเมืองร่วมสมัยที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปอย่างเมืองโบราณไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร
ดังกล่าวว่า ตะเกียงดินเผารูปแบบนี้ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก "ตะเกียงโรมัน" และตะเกียงแบบอินเดียที่มีต้นแบบมาจากตะเกียงโรมันอีดทอดหนึ่ง ที่เรียกว่า “ตะเกียงอานธระ” (ผลิตในบริเวณรัฐอานธรประเทศ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียในปัจจุบัน) เนื่องจากมีรูปทรงและลักษณะการใช้งานคล้ายคลึงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนในชุมชนท้องถิ่น กับคนในต่างแดนต่างภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลกัน
เนื่องจากตะเกียงรูปแบบนี้พบไม่มากในประเทศไทย จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นของมีค่า เป็นของหายาก เป็นของใช้ในหมู่ชนชั้นสูง หรือใช้ในพิธีกรรม เนื่องจากให้แสงสว่างยาวนานกว่าตะคันดินเผาที่พบอยู่ทั่วไปตามเมืองโบราณสมัยทวารวดี
ตะเกียงดินเผาของโรมัน
(ที่มา: Johann H. Addicks. https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Simple_roman_clay_oil_lamp.jpg)
ตะเกียงดินเผาสมัยวัฒนธรรมทวารวดี พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
(ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง สุพรรณบุรี. https://www.finearts.go.th/authongmuseum/view/37047-ตะเกียงดินเผา-สมัยทวารวดี)
ตะเกียงดินเผาสมัยวัฒนธรรมทวารวดี พบที่เมืองโบราณไตรตรึงษ์ จ.กำแพงเพชร
(ที่มา: https://www.finearts.go.th/main/view/9638-แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกกำแพงเพชร)
ตัวอย่างการใช้งานตะเกียงดินเผาแบบโบราณ
(ที่มา: https://media.istockphoto.com/id/525897279/th/รูปถ่าย/โคมไฟน้ํามันตะวันออกกลางโบราณ-gm525897279-52226220?phrase=ancient+lamp+on+bible)
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. (2561). จากบ้านสู่เมือง : รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง. (มปป.) "ตะเกียงดินเผา สมัยทวารวดี" พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง สุพรรณบุรี. เข้าถึงเมื่อ 26 กันายน 2566. เข้าถึงจาก https://www.finearts.go.th/authongmuseum/view/37047-ตะเกียงดินเผา-สมัยทวารวดี
ผาสุข อินทราวุธ. (2528). ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ.
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่