ศิลาจารึกเมืองศรีเทพ เป็นศิลาจารึกหลักสำคัญที่มีการกำหนดเลขทะเบียนไว้โดยหน่วยงานหลายแห่ง อาทิ กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น "พช. 1" สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ กำหนดเป็น "K. 499" และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น "99/273/2550"
จารึกหลักนี้ถูกพบที่เมืองโบราณศรีเทพ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อพุทธศักราช 2450 โดยผู้พบคือสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งนี้ทราบประวัติการค้นพบได้จากหนังสือเรื่อง "เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 3 เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์" ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้ทรงกล่าวถึงในคราวที่พระองค์ไปเยือนเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2450 (ร.ศ. 125) นั้น ว่า “... ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้ เป็นของแปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโกลน สำหรับฝังดิน ขัดเกลี้ยงแต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้น เป็นอักษรคฤนถ์ชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้ ลงมากรุงเทพฯ ให้อ่านดู เป็นภาษาสังสกฤตมีคำว่า “ขีลัง” ซึ่งแปลว่า “หลัก” จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้ คือหลักเมืองศรีเทพ แบบโบราณ เขาทำเป็นรูปตะปูตอกลงไว้ในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง ...” จากพระนิพนธ์ของพระองค์นี้เองทำให้ทราบว่า จารึกที่ทรงกล่าวถึงนี้ เป็นจารึกหลักเดียวกันกับ “จารึกเมืองศรีเทพ (พช. 1)”

จารึกเมืองศรีเทพ หรือจารึกเลขทะเบียน พช. 1 เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุพุทธศตวรรษที่ 12 มีข้อความจารึก 1 ด้าน จำนวน 6 บรรทัด วัตถุจารึกเป็นศิลาประเภทหินทรายเนื้อละเอียด สีเทา เป็นเสากลมรูปสัณฐานคล้ายดอกบัวตูม หรืออย่างที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า "สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด" รูปทรงสูง ขนาดกว้าง 36 ซม. สูง 128 ซม. และหนา 56 ซม. ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูลเมื่อ พฤษภาคม 2565)

จารึกหลักนี้เป็นส่วนบนของเสากลมซึ่งมีอักษรจารึกโดยรอบ แต่เนื่องจากด้านหนึ่งของเสานั้น เนื้อศิลาแตกหายไป ข้อความในจารึกแต่ละบรรทัด จึงมีอยู่เฉพาะตอนกลาง ไม่มีส่วนต้นและส่วนปลายบรรทัด ทำให้เนื้อความในจารึกขาดตอนไปเป็นช่วง ๆ ไม่สมบูรณ์ พอจับใจความได้เพียงว่า เป็นการกล่าวสรรเสริญบุคคล ซึ่งอาจเป็นพระราชา หรือ เชื้อพระวงศ์ที่ปกครองเมืองศรีเทพในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12