จารึกบนพระพิมพ์ดินเผาพบที่เมืองศรีเทพ หรือจารึกเลขทะเบียน ลบ. 10 ถูกพบเมื่อ พ.ศ. 2524 ที่เมืองโบราณศรีเทพ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้พบคือนายภาวาส บุนนาค เป็นจารึกบนพระพิมพ์แบบโบราณ ลักษณะเด่นคือมีอักษรจารึก 2 ชนิด ด้านหน้าเป็นอักษรหลังปัลลวะ 2 บรรทัด (ชำรุด แตกหัก อ่านไม่ได้ความ) และด้านหลังเป็นอักษรจีน 1 บรรทัด ภาษาที่ใช้ในจารึกมี 2 ภาษา คือภาษาสันสกฤต และภาษาจีน

เนื่องจากพระพิมพ์องค์นี้อยู่ในสภาพที่ชำรุดแตกหักหายไปครึ่งองค์ คือเหลือเพียงส่วนบนตั้งแต่พระเศียรลงมาถึงพระอุระ จึงทำให้การอ่านในครั้งนั้น อ่านได้ใจความไม่สมบูรณ์นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นภาษาจีน ซึ่งปรากฏเหลืออักษรอยู่ 2 ตัวครึ่ง ก็เขียนด้วยลายมือหวัดจึงทำให้ตีความได้ยาก จึงยังไม่มีการสรุปคำอ่านและแปลภาษาจีน จนกระทั่ง พ.ศ. 2539 Robert L. Brown ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Dvaravati wheels of the law and the indianization of South East Asia ซึ่งภายในเล่มได้กล่าวถึงพระพิมพ์ดินเผาองค์หนึ่งที่มีสภาพสมบูรณ์ เป็นสมบัติของ Fogg Art Museum ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด พระพิมพ์องค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพิมพ์องค์ที่พบที่เมืองศรีเทพมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านหน้ามีจารึกอักษรหลังปัลลวะ และด้านหลังมีอักษรจีน 4 ตัว ซึ่ง 2 ตัวแรกนั้น เหมือนกันกับที่พบบนพระพิมพ์จากเมืองศรีเทพทุกประการ Robert L. Brown จึงสันนิษฐานว่าพระพิมพ์ที่ Fogg Art Museum นี้น่าจะได้มาจากเมืองศรีเทพ ได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนที่ท่านรู้จักคือ Lewis Lancaster, Junghee Lee, Julia K. Murray และ Paul Wheatley ช่วยกันอ่านแปลข้อความภาษาจีน ซึ่งสรุปได้ว่าอักษร 2 ตัวแรกเป็นคำจีนที่เลียนเสียงภาษาบาลีว่า “ปี่ชิว” ที่แปลว่า “ภิกขุ” ส่วนอักษรอีก 2 ตัวต่อมาเป็นชื่อเฉพาะอ่านว่า “เหวินเซียง” ดังนั้นอักษรทั้ง 4 ตัวนี้เมื่อรวมกันจึงแปลว่า “ภิกขุเหวินเซียง”

จารึกบนพระพิมพ์ดินเผาพบที่เมืองศรีเทพ ซึ่งเดิมเป็นสมบัติของนายภาวาส บุนนาค นี้ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี