จารึกคาถาเยธมฺมาฯ พบที่เมืองศรีเทพ เป็นศิลาจารึกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 23 ซม. สูง 15.5 ซม. จากประวัติระบุไว้ว่า ผู้พบคือ ราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ พบเมื่อพุทธศักราช 2519 ที่เมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และต่อมาราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ผู้นั้นได้นำจารึกหลักนี้มาถวายพระปลัดโปรด สุมโน ณ วัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2519 แผ่นจารึกชำรุดแตกออกเป็นหลายชิ้น เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจและทำสำเนาจารึกไว้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2523
จารึกหลักนี้ จารด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี เนื้อหาว่าด้วยคาถาเยธมฺมาฯ ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา โดยมีเรื่องย่อว่า “สมัยนั้น สัญชัยปริพาชก (ปริพาชก คือ นักบวชที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) อาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน 250 คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อ ๆ ให้ฟังว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก 250 คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง 3 ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก 250 คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ภาค 4 ความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม 4, 2539, หน้า 217)”
จารึกคาถาเยธมฺมาฯ นี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมและพบมากในจารึกที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 12 พุทธศาสนิกชนในยุคสมัยนั้นนับถือกันว่าคาถาวิเศษ ถือเป็นสัมฤทธิมนต์สำหรับเปลี่ยนแปลงความนับถือของผู้ที่ยังไม่เคยสดับรับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จึงนิยมจารึกไว้เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้เผยแผ่ออกไป