ชื่อของ อาณาจักรจามปา หรือ ที่เอกสารอาหรับเรียกว่า ศ็อนฟ์ (صنف : Sanf) ปรากฏครั้งแรกในเอกสารอาหรับตั้งแต่ ค.ศ.851 จากตำราชื่อว่า คำบอกเล่าจากจีนและอินเดีย (Akhbar al-Sin wa al-Hind) โดยระบุว่า จามปาเป็นอาณาจักรตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล และถือเป็นบันไดขั้นแรกสู่เมืองจีน (ตามลำดับเส้นทางการเดินเรือที่อยู่ใกล้จีนที่สุด) จามปาเป็นเมืองท่าสำคัญที่เรือสินค้าของชาวอาหรับ-เปอร์เซียแวะระหว่างทางไปกลับจากเมืองท่าทางตอนใต้ของจีน และในบางครั้ง เมื่อเกิดเหตุไม่สงบทางการเมืองบริเวณตอนใต้ของจีน อาทิ กบฏหวงเฉา (Huang Chao Rebellion ค.ศ. 874 ถึง 884) ส่งผลให้บรรดาพ่อค้านักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย เลือกที่จะย้ายฐานที่มั่นการค้ามายังทางใต้ในเอเชียอาคเนย์ โดยสันนิษฐานว่าอาณาจักรจามปา เป็นหนุึ่งในดินแดนที่พ่อค้าเหล่านี้เข้ามาตั้งสถานีการค้าด้วยนั่นเอง ดังที่ปรากฏในเอกสารจีนอย่าง จูฟานจื้อ (Zhu fan zhi) ในศตว. 12 ระบุว่า มีพ่อค้าชาวอาหรับเดินทางมาพร้อมกับคณะราชทูตที่ส่งไปถวายบรรณาการแก่จักรพรรดิจีนด้วย (Hirth, 1911)
.
ทั้งนี้ ชาวอาหรับได้บันทึกไว้ว่า ชาวพื้นเมืองของจามปามีรูปลักษณ์คล้ายกับชาวพื้นเมืองในเมืองกะละฮ์ (Kalah) เมืองท่าสำคัฐอีกแห่งหนึ่งบนชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู พวกเขามีผิวสีน้ำตาล แต่งกายนุ่งผ้าโสร่งและผ้าพาด สักการะบูชาเทวรูป และมีพระราชาปกครองดินแดนแห่งนี้ (Mackintosh-Smith, 2014) ซึ่งหากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชาวจาม (Chams) และ ชาวมลายู (Malays) จะพบว่าทั้งสองชนชาติเป็นกลุ่มออสโตนีเซียน (Austronesian) เหมือนกันและมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน
.
ใน สารานุกรม (Kitāb al-Fihrist) ของอิบนุ อัน-นะดีม (ปลายศตว.10) กล่าวว่าในอาณาจักรจามปามี วิหารเก่าแก่ ซึ่งมีอายุเก่าของวิาิหารในอาณาจักนเพื่อนบ้านอย่าง เกาะมาร (เขมร) ภายในมีพระพุทธรูป-เทวรูป ที่ประดิษฐานไว้ในซุ้มจระนำอย่างงดงาม โดยชาวเมืองเชื่อว่าเทวรูปเหล่านี้สามารถให้พรสิ่งที่ผู้มาสวดอ้อนวอนขอได้อย่างสมปรารถนา อย่างไรก็ดี อาณาจักรจามปาถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากพระราชาแห่งลูกีน (لوقين : Luqin) ของชาวเวียดนามใน ค.ศ.982 เมืองเข้าโจมตีเผาทำลายเมืองและยึดครอง
.
เอกสารอาหรับที่น่าสนใจฉบับหนึ่ง ชื่อว่า ตำราภูมิศาสตร์ (Jughāfiyā) ของ อิบนุ สะอีด อัลมัฆริบีย์ (คศว.13) ระบุว่า ในดินแดนจามปามีชาวมุสลิมเดินทางเข้ามาตั้งรกรากในสมัยของเคาลีฟะฮ์อุษมาน บิน อัฟฟาน (Uthman ibn Affan) รวมถึงมีชาว "อะลาวีย์" หมายถึง กลุ่มมุสลิมที่สนับสนุนอะลี บิน อะบีฏอลิบ ชีอะฮ์) ลี้ภัยการข่มเหงของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad ค.ศ.661-750) ฮัจญาจ บิน ยูซุฟ อัษ-ษะเกาะฟีย์ (al-Hajjaj ibn Yusuf ath-Thaqafi) เจ้าเมืองอิรักผู้เหี้ยมโหดต่อศัตรูของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ซึ่งหากบันทึกนี้เป็นเรื่องจริง ก็หมายความว่า มีชุมชนชาวมุสลิมชาวอาหรับรุ่นแรกเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในจามปาตั้งแต่ช่วงกลาง ศตว. ที่ 7 เป็นอย่างน้อย
.
อีกหนึ่งข้อสังเกตหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและชาวจาม พบว่ามี กระบวนการอิสลามาภิวัตน์ (Islamiztion) โดยมีชาวจามบางส่วนหันไปนับถือศาสนาอิสลาม โดยหนึ่งในนั้นคือชาวจามบานี (Cham Bani) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมโดดเด่น นับถือศาสนาบานีอิสลาม (Bani Islam) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อในศาสนาอิสลามกับศาสนาฮินดูและพุทธมหายาน ซึ่งฝังรากลึกและเข้มเข้มในกลุ่มคนเหล่านี้ การผสมผสานทางศาสนา (syncretic religion) ระหว่างศาสนาอิสลามและความเชื่อท้องถิ่ย มีปรากฏการณ์ให้เห็นได้ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ศาสนาอิสลามเดินทางไปถึงในยุคสมัยแรก ๆ โดยเฉพาะในดินแดนห่างไกลที่ยากต่อการติดต่อและถ่ายทอดความรู้ทางศาสนาที่เข้มข้น
.
นำมาสู่ข้อเสนอว่า ชาวมุสลิมอาหรับ-เปอร์เซีย ที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากในจามปาในสมัยโบราณ ได้เผยแผ่ศาสนาอิสลามกับชาวพื้นเมืองผ่านการแต่งงาน หรือการหันมาศรัทธาด้วยการสอน แต่เมื่อผู้รู้เหล่านั้นล้มหายตายจาก ทำให้ไม่มีผู้สืบทอดความรู้ อีกทั้งยังต้องเผชิญภัยการรุกรานและสงครามจากเพื่อนบ้านชาวเวียดและชาวเขมร รวมถึงที่ตั้งอันอห่างไกลจากแหล่งความรู้ศาสนาอิสลามกว่าค่อนโลก ชาวจามบานีจึงพัฒนารูปแบบความเชื่อและวัตรปฏิบัติที่ผสมผสานกับความเป็นท้องถิ่นที่ตกทอดกันมาตามบรรพบุรุษ แต่ยังมีกลิ่นอายของศาสนาอิสลามแบบจาง ๆ ปรากฏอยู่ด้วยนั่นเอง