ไซยาไนด์ (น.) สารประกอบเคมีประเภทเกลืออนินทรีย์ (inorganic salts) ของไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN) ซึ่งมีอนุมูลไซยาโนเจน (cyanogen radical หรือ CN radical)12 เป็นสารตั้งต้น หากทำปฏิกิริยากับธาตุโพแทสเซียม (K) จะได้โพแทสเซียมไซยาไนด์ (KCN) หรือทำปฏิกิริยากับธาตุโซเดียม (Na) ก็จะได้โซเดียมไซยาไนด์ (NaCN) สารประกอบกลุ่มไซยาไนด์นี้ เป็นพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิต ด้วยการเข้าไปหยุดการทำงานของเซลล์. ที่มา: ยืมจาก อังกฤษ: cyanidea [แปลตามศัพท์: (สารที่มาจาก)กรดของสีคราม, นัยยะคือ สารเคมีที่สกัดได้จากกรดปรัสสิก (หรือ ไฮโดรเจนไซยาไนด์) ซึ่งเป็นกรดที่สกัดจากสีครามปรัสเซีย (Prussian Blue) อีกทีหนึ่ง], แปลงจาก ฝรั่งเศส: cyanureb [แปลตามศัพท์: (สารที่เป็น)ผลผลิตจากสีคราม(ปรัสเซีย)].
a. cyan- [ละติน: cyanus, ยืมจาก กรีกโบราณ: κύανος = สีคราม] + -ide [คือ (ac)ide, ย่อจาก ละติน: acidus = กรด].
b. cyan- [ละติน: cyanus, ยืมจาก กรีกโบราณ: κύανος = สีคราม] + -ure [คือ -(t)ura, ย่อจาก ละติน: -tura = เป็นคำเติมท้ายคำนามกริยา (supine) ให้เป็นคำนาม เพื่อบ่งชี้ว่า สิ่งนี้เป็นผลผลิตจากศัพท์ข้างหน้า]