ความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับอดีตและการสะสมสิ่งของ เป็นลักษณะนิสัยหนึ่งของมนุษย์ที่มีมาช้านาน ซึ่งอาจเป็นที่มาของการเริ่มสนใจและศึกษาของเก่า จนนำไปสู่การศึกษาทางโบราณคดีในที่สุด
แม้ว่าศาสตร์โบราณคดีสมัยใหม่จะเพิ่งได้รับการพัฒนามาเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ แต่ความพยายามที่จะรื้อฟื้นร่องรอยทางประวัติศาสตร์และบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานของมนุษย์เกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว ครั้งแรกสุดเท่าที่ปรากฏหลักฐานเกิดขึ้นที่อียิปต์ เมื่อราว 1,550-1,070 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยจักรวรรดิอียิปต์ หรือราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom Egypt) โดยฟาโรห์สมัยนั้นโปรดให้ขุดและบูรณปฏิสังขรณ์สฟิงซ์ที่สร้างถวายฟาโรห์คาฟรา (Khafra หรือ Khafre ครองราชย์เมื่อ 2,558-2,532 ปีก่อนคริสตกาล) ฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 4 สมัยราชอาณาจักรเก่า (Old Kingdom, อายุราว 2,575-2,134 ปีก่อนคริสตกาล) ของอียิปต์โบราณ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่จากหลักฐานโบราณคดี เช่น ร่องรอยบนสฟิงซ์ รวมถึงโบราณวัตถุบางชิ้น ชี้ให้เห็นว่าสฟิงซ์แห่งนี้เคยถูกทรายฝังถึงในระดับหัวหรือไหล่ ก่อนที่จะมีการขุดทรายออกและบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยหลัง นั่นคือสมัยราชอาณาจักรใหม่นั่นเอง
นักสะสมและศึกษาของเก่า (Antiquarian) ที่โด่งดังในยุคแรกๆ คือ กษัตริย์อัชเชอร์บานิปาล (Ashurbanipal) แห่งจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่ (Neo-Assyrian Empire) ครองราชย์เมื่อ 668-627 ปีก่อนคริสตกาล โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสมุดขึ้นในพระราชวังนินอิฟฟะ หรือนินเวห์ (Nineveh) ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ The Library of Ashurbanipal (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) เพื่อเก็บตำราและแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มที่ทำมาจากดินเหนียวหลายหมื่นชิ้น ที่พระองค์ทรงรวบรวมมาจากดินแดนต่างๆ ในเมโสโปเตเมีย โดยเฉพาะของบาบิโลเนีย กษัตริย์อัชเชอร์บานิปาลทรงเป็นกษัตริย์หนึ่งในไม่กี่พระองค์ที่ทรงอ่านอักษรคูนิฟอร์มของอัคคาเดียนและซูเมอร์ได้ โดยพระองค์ทรงศึกษาจารึกเหล่านั้นร่วมกับบัณฑิตที่ทรงจ้างมาเพื่อศึกษาและคัดลอกจารึกโดยเฉพาะ เรื่องราวในจารึกมีทั้งที่เกี่ยวกับราชวงศ์ พระบรมราชโองการ พงศาวดาร กฎหมาย สัญญา การปกครอง ตำรายา ดาราศาสตร์ ศาสนาความเชื่อ โชคลาง โหราศาสตร์ เวทมนตร์คาถา บทสวดมนต์ และวรรณกรรมต่างๆ เช่น มหากาพย์กิลกาเมช (Epic of Gilgamesh)
โบราณวัตถุจาก The Library of Ashurbanipal ปัจจุบันโบราณวัตถุจัดแสดงอยู่ใน British Museum ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
(ที่มา: https://www.flickr.com/photos/101561334@N08/36562516345/)
การขุดค้นเพื่อสืบค้นประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร คือการขุดค้นของกษัตริย์นาโบนิดัส (Nabonidus) หรือ นาบูนาอิด (Nabû-na’id) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิบาบิโลเนียใหม่ (Neo-Babylonian Empire) ครองราชย์เมื่อ 556-539 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงขุดค้นภายในซิกกุรัต (Ziggurat) แห่งหนึ่งในเมืองเออร์ (Ur) (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) ที่สร้างอุทิศถวายกษัตริย์นาราม-ซิน (Naram-Sin) แห่งอัคคาเดียน (ครองราชย์ราว 2,254-2,218 ปีก่อนคริสตกาล) โดยทรงขุดลึกลงไปจนถึงศิลาฤกษ์ (foundation stone) วัตถุประสงค์ของการขุดค้นคือเพื่อสืบประวัติสถานที่ แต่อาจมีเหตุผลด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง คือเพื่อยืนยันความเป็นหน่อเนื้อกษัตริย์และการสืบสันตติวงศ์มาจากบรรพกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทั้งนี้ระหว่างการขุดค้นทรงพบซากพื้นเก่าและทรงรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นไว้ด้วย นอกจากนั้นยังทรงสันนิษฐานอายุของสิ่งก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ซิกกุรัตแห่งนี้ แม้ว่าพระองค์จะไม่ใช่นักโบราณคดี แต่วิธีการขุดค้นหลายอย่างก็คล้ายคลึงกับวิธีการขุดค้นทางโบราณคดีสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (Bahn, 1999: 2) จนมีนักวิชาการบางท่านยกย่องพระองค์เป็น “นักโบราณคดีคนแรกของโลก” (Bertman, 2003: 47)
Ziggurat of Ur
(ที่มา: https://www.bbc.com/travel/article/20220822-the-ziggurat-of-ur-iraqs-answer-to-the-pyramids)
ยิ่งไปกว่านั้นกษัตริย์นาโบนิดัสยังอาจมีอิทธิพลต่อพระธิดา คือเจ้าหญิงเอนนิกาลดิ (Ennigaldi หรือ Ennigaldi-Nanna) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งเจ้าหญิงเอนนิกาลดิ (Ennigaldi-Nanna's museum) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก (อายุราว 530 ปีก่อนคริสตกาล) อยู่ในพระราชวังในเมืองเออร์ (Ur) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ที่รวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยต่างๆในดินแดนเมโสโปเตเมีย ทั้งยังมีการจัดทำทะเบียนวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ (เป็นทะเบียนวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก) และเจ้าหญิงเองยังทรงเป็นภัณฑารักษ์ (curator) ประจำพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
ช่วงเวลาหลังจากนั้นก็ปรากฏหลักฐานในหน้าประวัติศาสตร์ว่ามีผู้คนสะสมและขุดเอาหลักฐานทางโบราณคดีขึ้นมาใช้ประโยชน์อยู่หลายครั้ง ทั้งเป็นวัตถุเพื่อนำไปใช้ยืนยันและปะติดปะต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมถึงนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง อาทิ การยืนยันทางสายเลือดและการค้า ดังเช่นบันทึกของ Strabo of Pontus (มีอายุอยู่เมื่อ 62 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 24) ที่กล่าวถึง ทหารโรมันของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ได้ขุดเอาโบราณวัตถุจากหลุมศพในเมืองโครินธ์โบราณ (Ancient Corinth) ของกรีกขึ้นมาและภายหลังนำไปขายในราคาสูง เนื่องจากเป็นสิ่งของมีค่าและหายาก (Crewin, 2007: 46)
กระทั่งในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการแห่งอิตาลี (Italian Renaissance) ที่นักวิชาการโบราณคดีส่วนใหญ่กล่าวกันว่าเป็นรากเหง้าของศาสตร์โบราณคดีสมัยใหม่ โดยในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชนชั้นสูงและชั้นกลางของยุโรปนิยมไปที่อิตาลีเพื่อศึกษาและสะสมศิลปวัตถุสมัยกรีก-โรมันไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เพื่อความรู้และความงามทางศิลปะ มิใช่เพื่ออวดสถานภาพของตน (Antiquarianism) ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ผู้คนเหล่านี้จึงข้ามไปเก็บโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุในภูมิภาคอื่นด้วย โดยเฉพาะในตะวันออกใกล้และอียิปต์
การเก็บสะสมสิ่งของเหล่านี้นำไปสู่การขุดหาโบราณวัตถุตามโบราณสถานและเนินดินต่างๆ แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้เป็นต้นแบบการขุดค้นทางโบราณคดี
อย่างไรก็ดี ในสมัยนี้มีบางคนมุ่งมั่นศึกษาโบราณวัตถุสถานและจารึกต่างๆอย่างจริงจัง เช่น ซิริอาโก เดอ พิซซิคอลลี (Ciriaco de’ Pizzicolli) ชาวอิตาลี ผู้เป็นทั้งพ่อค้า นักการทูต และที่ปรึกษาของพระสันตะปาปายูจีนที่ 4 (Eugene IV) พิซซิคอลลีเดินทางเข้าไปหลายประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น อิตาลี ซีเรีย อียิปต์ เขาได้แปลและทำสำเนาจารึกภาษาละติน วาดรูปทำแผนผังโบราณสถานหลายแห่ง และยังได้เขียนบรรยายรายละเอียดของโบราณวัตถุสถานที่เขาได้พบ อีกทั้งยังได้ตั้งคำถามและสันนิษฐานประวัติของหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านั้น นักวิชาการบางท่านจึงถือว่าพิซซีคอลลีเป็น "ผู้วางรากฐานวิชาโบราณคดีสมัยใหม่คนแรก" (Thomas, 2007: 4; Trigger, 1989: 36) หรือเป็น "นักโบราณคดีคนแรก" (Crewin, 2007: 16)
ประติมากรรมภาพเหมิือนของ Ciriaco de’ Pizzicolli
(ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ciriaco_Pizzicolli_-_Museum_in_Ancona.jpg)
นอกจากนั้นในสมัยนี้ยังมีการก่อตั้งสมาคมที่มีบทบาทในการก่อร่างสร้างตัวของโบราณคดีในระยะต่อมา เช่น The Society of Antiquaries of London (1572) ซึ่งทำหน้าที่บันทึกและสงวนรักษาสมบัติของอังกฤษ
คริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ในยุโรปอยู่ในยุคเรืองปัญญาหรือยุคสว่าง (Age of Enlightenment) เป็นยุคสมัยของการใช้เหตุผลและการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เกิดการทดสอบและท้าทายกันระหว่างนักวิชาการหัวก้าวหน้ากับคริสตจักร ในขณะเดียวกันการเก็บสะสมของเก่าก็ยังเป็นแฟชั่นที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป จนหลายครั้งถึงขั้นขุดโบราณสถานเพื่อหาโบราณศิลปวัตถุต่างๆ ที่สำคัญคือการขุดค้นเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ณ เมืองปอมเปอี (Pompeii) และเมืองเฮอคิวเลเนียม (Herculaneum) ประเทศอิตาลี การขุดค้นเมืองโบราณสมัยโรมันในครั้งนี้กระตุ้นให้เกิดความสนใจในวิชาโบราณคดีอย่างกว้างขวาง
บรรณานุกรม
สว่าง เลิศฤทธิ์ (ธนิก เลิศชาญฤทธ์). (2547). โบราณคดี : แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
Bahn, Paul G. (1999). The Cambridge Illustrated History of Archaeology. Cambridge : Cambridge University Press.
Bertman, Stephen. (2003). Handbook to Life in Ancient Mesopotamia. New York : Facts on File.
Crewin, Aedeen. (2007). The World Encyclopedia of Archaeology. Buffalo : Firefly Books.
Haviland, William A., Harald E. L. Prins, Bunny McBride, and Dana Walrath. (2008). Cultural Anthropology : The Human Challenge. Belmont, Calif. : Wadsworth/Thomson Learning.
Fagan, Brain M. (1991). In the Beginning : An Introduction to Archaeology. New York : Harper Collins.
Renfrew, C., and Paul G. Bahn. (1991). Archaeology : Theories, Methods, and Practice. London : Thames and Hudson Ltd.
Thomas, David Hurst. (2007). Archaeology: Down to Earth. California : Thomson/Wadsworth.
Trigger, Bruce G. (1989). A History of Archaeological Thought. Cambridge : Cambridge University Press.