แม้เวลาที่ใครก็ตามพูดถึง “สมุทรสาคร” หรือ “มหาชัย” ภาพจำแรกมักเป็นเมืองโรงงานอุตสาหกรรมอันมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าคนไทย แทนที่จะนึกถึง “เมืองท่าปากน้ำเก่าแก่สมัยอยุธยา” “ตำนานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์กับคลองโคกขาม” “การขุดคลองภาษีเจริญ-ดำเนินสะดวกสมัยรัชกาลที่ 4” รวมไปถึงเรื่องราวของ “ท่าฉลอม สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของสยาม” นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะ “ผู้คน” ที่เราพบเจอจะจดจำได้ง่ายกว่าเรื่องราวเก่าแก่ ประวัติภูมิหลังทางสังคมจึงอาจเข้าถึงยากเหมือนวิชาเรียนในโรงเรียน แต่ถ้าหากมองให้ลึกซึ้งถึง “ผู้คน” “ประวัติศาสตร์” และ “ภูมิทัศน์แวดล้อม” สามสิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ขาด นั่นคือ ที่มาที่ไปของการบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชาติพันธุ์อย่างย่อยง่าย ขับเน้นความน่ารักผ่านสีสันและลวดลายการ์ตูนที่บรรจงออกแบบมาใส่ไว้ในหนังสือ “คน...สาครบุรี”
แผนที่จังหวัดสมุทรสาครในสไตล์มินิมอล
ใครเป็นใครในสี่ชาติพันธุ์สาครบุรี
หนังสือ “คน...สาครบุรี” เล่าเรื่องผู้คนที่หลากหลายในสาครบุรี อันหมายถึง คนจีน คนมอญ และคนไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นมากในสมุทรสาคร ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่เป็นคนไทยพื้นถิ่นก็มีลักษณะทางชาติพันธุ์ที่ชัดเจนไม่แพ้กัน เพียงแต่มักไม่ค่อยได้เป็นที่รับรู้มากนัก
เริ่มแรก เราเล่าจากคนจีน หรือ “ไทยจีน” เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการค้าขายและการประมงที่สำคัญมากต่อเมืองสาครบุรี ฉะนั้น ถิ่นฐานบ้านเรือนชาวจีน หมู่มากที่รวมกลุ่มกันจึงเกิดเป็นตลาดการค้าและย่านอุตสาหกรรมรุ่นแรก ๆ เอกลักษณ์ของพวกเขาคือการนับถือเทพเจ้าและบรรพชน และอิทธิพลอำนาจทางการค้าในท้องถิ่น ในขณะที่คนมอญ หรือ “ไทยรามัญ” ก็เป็นอีกกลุ่มคนแรก ๆ ที่นิยามตัวเองชัดเจนผ่านภาษา ความเชื่อ และการแต่งกาย ตั้งบ้านรวมกลุ่มกันด้วยความเชื่อผีประจำตระกูล และประเพณีสำคัญ ชาวมอญและชาวจีนรุ่นบุกเบิกมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ แต่จะเข้ามากันมากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 2 - 4) พวกเขาจึงล้วนตั้งบ้านย่านชุมชนรวมกลุ่มตามเครือญาติ ต่อมา คนจีนและคนมอญบางส่วนอพยพโยกย้ายจากชุมชนใกล้เคียงเข้ามาในเขตเมืองสมุทรสาคร และบางส่วนก็ได้แต่งงานกับคนท้องถิ่น แล้วจึงแยกย้ายกันไปบุกเบิกที่ทำกินตามแนวคลองขุดใหม่และเส้นทางรถไฟ ตามบริบทเศรษฐกิจสังคมหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก เรียกตัวเองว่า ไทดำ ลาวโซ่ง หรือ “ไทยทรงดำ” เพราะเป็นกลุ่มอพยพโยกย้ายมาจากเพชรบุรี ในราวสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 เป็นอย่างน้อย แม้ชาวไทดำในสมุทรสาครจะมีเพียงไม่กี่หมู่บ้านแถบบ้านแพ้ว แต่พวกเขามีกลุ่มหมู่บ้านทางสายเลือดกระจายอยู่หลายจังหวัดใกล้เคียง ผ่านการนับถือแถนและประเพณีฟ้อนแคนที่เลื่องชื่อของชาวไทดำ ขณะเดียวกัน หลาย ๆ คนสมุทรสาครที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมพอ ๆ กับคนจีน และคนมอญ พวกเขาตั้งบ้านตามคุ้งน้ำต่าง ๆ เขาอาจไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นเชื้อสายทางใด หรือ มีเชื้อสายที่ผสมผสานข้ามกลุ่มไปมาจนไม่อาจชี้ชัด ทำได้เพียงอธิบายรวม ๆ ว่าเป็นคนไทยตามภาษาที่ใช้ หรือ บอกได้ว่าเป็นคนแถบลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองตามเครือญาติที่ครอบคลุมแถบธนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี เราก็เลยเรียกพวกเขาว่าเป็น “ไทยพื้นถิ่น” ผ่านวิถีการเกษตร และศาสนาความเชื่อที่มีวัดและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์กลางชุมชน
สี่กลุ่มนี้ไม่ใช่ทั้งหมดของความหลากหลายของผู้คนในสมุทรสาคร
แต่วิถีชีวิตและความเป็นตัวตนของพวกเขากำลังจะเริ่มถูกลืมเลือน
ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มานาน...
ก่อนที่สมุทรสาครจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมดังเช่นทุกวันนี้เสียอีก
จระเข้ ไก่ชน และวาฬบรูด้า: พาเพื่อนหน้าใหม่ไปเรียนรู้
งานภาพของหนังสือเล่มนี้ เราใช้ตัวละครสมมุติที่เป็น “จระเข้” ซึ่งอยู่ในท้องถิ่นมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม จระเข้น้ำเค็มในสมุทรสาครเคยมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ แม้จะเลื่องลือเรื่องดุร้ายและอันตรายต่อเด็ก ๆ ในชุมชนริมคลอง แต่จากการเก็บข้อมูลภาคสนามทางมานุษยวิทยา เรากลับพบร่องรอยของจระเข้มากมายอยู่ในเรื่องเล่าท้องถิ่น ชื่อบ้านนามถิ่น ตำนานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคุ้งน้ำ ในฐานะนักล่าเหนือสุดของห่วงโซ่อาหารแถบปากน้ำ และพาหนะของเจ้าพ่อเจ้าแม่ในเขตน้ำกร่อย ส่วนรูปร่างหน้าตาของจระเข้เราปรับให้น่ารักเพื่อเข้าถึงเด็ก ๆ เป้าหมายหลักของหนังสือเล่มนี้
พี่จระเข้ ไก่ชน และวาฬบรูด้า ในหนังสือคนสาครบุรี
ในตัวละคร "จระเข้" จึงแทนสัญลักษณ์ท้องถิ่นที่เคยมีอยู่แต่สูญหายไป (พอมีเหลือให้เห็นในรูปมุขปาฐะ) เหมือนกับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่เริ่มเหลือน้อยลงไปทุกที ต้องอาศัยจากเรื่องเล่าของผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ในขณะที่ “ไก่ชน” เป็นตัวแทนของตุ๊กตาไก่ที่ใช้สำหรับการไหว้เจ้าพ่อพันท้ายฯ และ “วาฬบรูด้า” คือตัวแทนไอดอลแห่งอ่าวไทย ช่วงเฟื่องฟูการท่องเที่ยวในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้
การออกแบบให้จระเข้นำชมเพื่อนใหม่ ไก่ชนและวาฬบรูด้าให้ไปรู้จักกับ คน...สาครบุรี
จึงตรงไปตรงมาให้สื่อถึงพลวัตของผู้คนที่เข้ามาใหม่ในสมุทรสาครอยู่เสมอ การเรียนรู้ซึ่งกันและกันก็มักจะเกิดขึ้น
แม้เด็ก ๆ จะเกิดและโตที่นี่แต่ก็ไม่ต่างจากผู้มาใหม่ในท้องถิ่น ผู้คนในสมุทรสาครล้วนแล้วแต่โยกย้ายเข้ามาและออกไป ต่างร่วมกันสร้างความเป็นสมุทรสาครตามบริบทการเปลี่ยนแปลงของนิเวศท้องถิ่น ความสดใสร่าเริงของจระเข้ในชุดชาติพันธุ์ต่าง ๆ เป็นการชักชวนให้หันมาสนใจทดลองสวมบทบาทเพื่อที่จะเรียนรู้และเข้าใจกันให้มากขึ้นด้วย
คุณอาจไม่ใช่เด็ก แต่ก็อาจเป็นคนหน้าใหม่ในสมุทรสาคร
มาลองเรียนรู้ “คน...สาครบุรี” ดูบ้างไหม พี่จระเข้เขารออยู่นะ

ถ้าหากจะให้เล่าต่อไป ก็ยังเหลือเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ “คนพม่า” แต่ยังมี มอญจากเมียนมา ทวาย ปะโอ กะเหรี่ยง คะยาห์ ลัวะ ปลัง เขมร ลาว ทั้งที่นับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม คนเหล่านี้ล้วนเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับสมุทรสาครทั้งในภาคประมง ภาคโรงงาน และภาคเกษตรมาหลายสิบปีแล้ว
เราหวังว่าจะมีพื้นที่ให้เล่าเรื่องผู้คนอีกมากเหล่านี้ต่อไปในอนาคต
หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการศึกษาพลวัตของสังคมวัฒนธรรมในชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่มีชีวิต ปีงบประมาณ 2562 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
บรรณาธิการ
ตรงใจ หุตางกูร
ทีมข้อมูล
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, ตรงใจ หุตางกูร, จักรี โพธิมณี, นัทกฤษ ยอดราช
ออกแบบเนื้อหา
สนใจ | baansonjai@gmail.com
ออกแบบภาพประกอบ
คคนางค์ จงอนุรักษ์, ธนาทิพย์ ดำรงพิริยกุล
ออกแบบและจัดรูปเล่ม
รังสิยา สัตนันท์ กัว