'ผ้า' มีบทบาทกับสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพื่อสนองต่อความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่แสดงถึงสถานะทางสังคมของผู้คน และแสดงถึงการแบ่งหน้าที่ระหว่างหญิงและชาย (ชนกมลย์ คงยก, 2559, น.80-84) การทอผ้าเพื่อทำเครื่องนุ่งห่มร่างกายเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ้าทอไม่ได้มีหน้าที่แค่เป็นเครื่องนุ่งห่มร่างกาย แต่ยังมีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแบ่งแยกทางสังคมทั้ง เพศ อายุ สถานภาพการสมรส และความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือถูกใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ผ้าทอจึงเป็นสื่อกลางในการแสดงออกทางสังคมอย่างหนึ่งของมนุษย์โดยความหมายแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกทั้งผ้าทอมีนัยนะสำคัญทางพิธีกรรม ดังนั้นจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในพิธีแต่งงาน และพิธีศพ รวมถึงการเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง โดยเห็นว่าการทอผ้าเป็นหน้าที่และศิลปะเฉพาะของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการทอขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน หรือเพื่อใช้ในพิธีกรรมก็ตาม ในวัฒนธรรมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครื่องนุ่งห่มถือเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวจะถูกใช้มอบเป็นทรัพย์สินแลกเปลี่ยนกับเจ้าบ่าว เนื่องจากผ้าทอถือเป็นส่วนประกอบที่โดดเด่นของผู้หญิง ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่ใช้แลกเปลี่ยนในพิธีแต่งงานที่ประกอบขึ้นด้วยคุณค่าความเป็นชายและความเป็นหญิงที่แตกต่างกัน แต่ไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะครอบครัวฝ่ายผู้ชายเองก็จะต้องหาทรัพย์สินมาแลกเปลี่ยนอย่างโลหะ งาช้างหรือควาย กล่าวคือทรัพสินย์ที่ใช้แลกเปลี่ยนทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีลักษณะคู่กันในเรื่องคุณค่าความเป็นหญิงหรือชายที่ถูกสังคมสร้างขึ้น อีกทั้งผ้าทอยังปรากฏอยู่ในพิธีศพในฐานะของขวัญคนตาย โดยเฉพาะการเป็นเครื่องนุ่มห่มเชิงพิธีกรรมของทั้งคนที่มีชีวิตอยู่และคนตาย รวมถึงเป็นผ้าในฐานะสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ และอำนาจทางจิตวิญญาณ (ชนัญ วงษ์วิภาค, 2540, น.1-13)
ประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผ้า ทั้งซิ่นตีนจกของชาวไทยยวน ผ้าละเบิกของชาวกูย และอีกมาก ชนกมลย์ คงยก (2559, น.93) ยกตัวอย่าง บริบทของผ้านาหมื่นศรี จังหวัดตรังแสดงให้เห็นว่าผู้คนไม่สามารถดำรงชีวิตในชุมชนอย่างเด็ดเดี่ยวโดยไม่มีความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งอื่นใดในชุมชนได้ โดยผ้าเป็นสื่อกลางระหว่างความเชื่อ และพิธีกรรม ที่บ่งบอกอุดมคติ ความเชื่อความศรัทธาไว้บนผืนผ้า อันเป็นแนวทางให้คนในชุมชนยึดถือปฏิบัติ มีอิทธิพลในการสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำก็เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผูกพันกับผ้าทอเช่นเดียวกัน ลวดลายบนผ้าทอของไทยทรงดำที่ปรากฎบนผืนผ้านั้น สะท้อนวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ค่านิยมความผูกพันระหว่างกัน และรวมถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ไทยทรงดำ หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการถักทอผืนผ้า สีที่แตกต่างกัน หรือลวดลายต่าง ๆ มีความหมายที่สื่อสารแตกต่างกัน ดังนั้น 'ผ้า' จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรม และความเชื่อของชาวไทยทรงดำ (จุลีวรรณ จันพลา, วลี สงสุวงศ์, เพ็ญสินี กิจค้า และสุรีรัตน์ วงศ์สมิง, 2559, น.88)
จากการสืบค้นผ้าซิ่นลายลายแตงโม และลายตาหมี่ของชาวไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีผ่านความเชื่อ และวัฒนธรรมท้องถิ่น พบว่าการทอผ้ากับกลุ่มสตรีชาติพันธุ์ไทยทรงดำมีความสัมพันธ์ในลักษณะผูกติดหน้าที่กับผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ 'ซิ่น' หรือผ้าถุง ที่เป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตามความหมายราชบัณฑิตยสถานหมายถึง ผ้าอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงนุ่ง มักยาวกรอมข้อเท้าพลิกไป ซิ่นลายแตงโมเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของกลุ่มสตรีชาติพันธุ์ไทยทรงดำ อันมีวัฒนธรรม และดำเนินวิถีชีวิตอยู่คู่กับการทอผ้ามาช้านาน วีณา สุขอยู่ หรืออ้อย ประธานคณะกรรมการกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าขาวม้าไทยทรงดำ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน ตําบลห้วยยางโทน อําเภอปากทอ จังหวัดราชบุรี และเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำกับผ้า ว่าสตรีไทยทรงดำนั้นล้วนมีความสามารถในการทอผ้า เนื่องจากในอดีต สตรีจำเป็นที่จะต้องทอผ้าไว้ใช้เอง ดังนั้นความผูกพันระหว่างสตรีกับทอผ้าภายในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำเกิดเป็นภูมิปัญญาการทอผ้าที่ถูกสืบทอดต่อกันมาเรื่อย ๆ จากรุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญาการทอผ้าจึงเปรียบเสมือนลมหายใจของสตรีไทยทรงดำในการดำเนินวิถีชีวิต โดยสามารถสังเกตกี่ทอผ้าภายในบ้านชาวไทยทรงดำทุกหลัง เนื่องจากพวกเขามีวัฒนธรรมในการสั่งสอนให้ลูกสาวชาวไทยทรงดำทุกบ้านจะต้องมีความสามารถในการทอผ้า ถือเป็นวิชาติดตัว และดำรงชีวิตควบคู่กัน
เหล่าสตรีไทยทรงดำให้ความสำคัญผ้า ตั้งแต่ขั้นตอนการย้อมสีไปจนถึงขั้นตอนวิธีการทอผ้า ศรีไพร นันทกิจ ได้บอกเล่าขั้นตอนวิธีการย้อมสีผ้าจากภูมิปัญญาตกทอดสืบต่อกันมาแต่อดีต ผืนผ้าจะถูกย้อมด้วยสีคราม จากต้นครามที่หาได้ยากในปัจจุบัน เอาเนื้อครามใส่กับปูนแดง หรือที่รู้จักกันในนามปูนเคี้ยวหมาก และได้ผลลัพธ์เป็นน้ำฮ่อม ก่อนจะนำไปผ้าคั้นนิล กระบวนการนี้ใช้เวลามากกว่า 3-4 วันในการคั้นนิลให้มีความดำมากยิ่งขึ้น และเพราะความสัมพันธ์ระหว่างสตรีไทยทรงดำกับผ้าที่แน่นแฟ้นนี้เอง จึงเกิดเป็นค่านิยมความงามของชาวไทยทรงดำขึ้น “ยิ่งขยำ มือยิ่งดำ ยิ่งสวย” ศรีไพรกล่าวถึงค่านิยมความงามชาวไทยทรงดำเมื่อครั้งอดีต ยิ่งคั้นนิลติดต่อกันหลายวัน ปลายนิ้วยิ่งคล้ำด้วยสีดำจากสีของต้นครามจากความขยันของผู้หญิงในการคั้นนิลเพื่อให้ผ้าออกมาสวยงามที่สุด จากนั้นนำเปลือกไม้จากต้นประดู่ไปตากให้แห้ง และต้มจนกว่าน้ำจะออกสีแดง ต่อมานำผ้าย้อมครามชุบลงไปเพื่อไม่ให้สีครามตก ดำเนินมาสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือการ ตั้งนิล หรือแต่งนิล ให้สีผ้าเข้มและดำมากยิ่งขึ้น ศรีไพรกล่าวว่ามีสูตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยสุก, M150, แป้งข้าวหมาก และอีกมากมาย “สมมติวันนี้นิลอยากกินกล้วยสุก เราก็ใส่กล้วยสุก วันนี้นิลอยากกิน M150 ก็ใส่ลงไป” ศรีไพรอธิบายเพิ่มเติมในการเลือกสูตรตั้งนิล หากหลายวันต่อมาเราใส่สูตรหนึ่งแล้วสีดำไม่ติดผ้าอีกต่อไป ก็จะเลือกใช้สูตรอื่นในการทำ จากนั้นจึงตากให้แห้ง ด้วยขั้นตอนดั้งเดิมในการย้อมสีครามอันแสนยุ่งยาก ใช้เวลามากในการย้อม ทำให้ปัจจุบันมีเพียงชาวไทยทรงดำส่วนน้อยที่ยังคงย้อมผ้าด้วยวิธีดั้งเดิมนี้อยู่ ศรีไพรจึงพยายามรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษเพื่อไม่ให้มันถูกลืมเลือนหายไปตามกาลเวลา
หมายเหตุ. จากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (2560)
สำหรับลายซิ่นที่โด่งดังของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ คงหนีไม่พ้น 'ซิ่นลายแตงโม' อันเป็นลายเอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดำ ซิ่นเป็นสีดำทั้งผืน มีลักษณะเป็นลายทางยาวตรงลงมาเป็นแนวตั้ง มีทั้งเส้นเล็ก และเส้นใหญ่ ส่วนตีนซิ่นเป็นสีขาว มีลวดลายสองหรือสามริ้วซึ่งถูกนำเข้าไปเย็บติดต่อกับตัวซิ่นที่ชายผ้า ในอดีต ซิ่นมีเพียงผ้าดำและตีนซิ่นสีขาว ต่อมาระหว่างทำการเกษตรได้สังเกตเห็นลายแตงไทย กับลายแตงโมที่มีลักษณะแตกต่างกัน ความสวยงามของลายแตงโมทำให้ตัดสินใจทอซิ่นเป็นลายแตงโมขึ้น ลายแตงโมจึงเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกความอุดมสมบูรณ์ของเกษตรกรรม
อย่างไรก็ตาม ซิ่นลายแตงโมอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำนั้น ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่การใส่เพื่อความสวยงามเพียงเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในงานมงคลอย่างการออกเรือน และพิธีศพกับเรื่องความเชื่อหลังความตาย โดยสตรีจะใส่ในทุกโอกาสของงานมงคล และงานศพ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการแสดงออกในสังคม เมื่อสตรีไทยทรงดำจะออกเรือน สิ่งที่ต้องเตรียมตัวสำหรับการเรือนที่สำคัญ คือการทอผ้าให้กับตัวเอง สามี และลูกก่อนแต่งงาน ฝั่งผู้ชายเองก็มีการแต่งกายสะพายย่ามแดง ใส่มีด และใส่หมวกงอก แสดงถึงความพร้อมสำหรับการออกไปใช้ชีวิตด้วยกันของหนุ่มสาว สอดคล้องกับการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดังที่กล่าวไปก่อนหน้า ถึงลักษณะแตกต่างกันตามคุณค่าของความเป็นหญิงที่ผูกติดอยู่กับการทอผ้า ดูแลครอบครัว และคุณค่าความเป็นชายที่หน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ไม่เพียงแค่งานมงคลที่ผ้าซิ่นลายแตงโมถูกใช้การประกอบพิธีกรรม สำหรับงานอวมงคลหรืองานศพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ทั้ง 'เสื้อผ้า' รวมถึง 'ซิ่น'ต่างมีบทบาทในการเป็นสื่อกลางการแสดงออกตัวตน และความหมายบางอย่างในพิธีกรรม
“ผู้ชายตายน่ะเรื่องใหญ่” ประโยคดังกล่าวถูกพูดขึ้นโดยอ้อย ศรีไพรเองก็กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงของคำพูดนี้วัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำมีลักษณะความสัมพันธ์กับคนครอบครัวเป็นแบบแนวดิ่ง สามีหรือพ่อนั้นมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน เนื่องจากผู้ชายมีบทบาทในการเป็นหัวหน้าครอบครัว และถูกกำหนดให้เป็นผู้สืบผี โดยผีสำหรับชาวไทยทรงดำ คือพ่อแม่บรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย วงศาคณาญาติที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งคอยปกปักรักษาลูกหลาน เมื่อ ‘ผี’ มีบทบาทสำคัญในการดำเนินวิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำ หากภรรยาสูญเสียสามีไปจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ในเชิงโครงสร้างอำนาจภายในครอบครัว หลังสามีเสียชีวิต สตรีไทยทรงดำจะไว้ทุกข์แก่สามีที่เสียไป โดยการเลาะตีนซิ่นสีขาวออก เมื่อหมดช่วงเวลาไว้ทุกข์แล้วจึงค่อยเย็บกลับเข้าไปตามเดิม การเลาะตีนซิ่นเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานก่อนจะมีซิ่นลายแตงโมถือกำเนิดขึ้น เห็นถึงความผูกพันระหว่างสตรีไทยทรงดำกับการทอผ้า นอกจากตีนซิ่นลายแตงโมจะมีบทบาทในการไว้ทุกข์แล้วนั้น ยังเปรียบเสมือนว่าเป็นการตัดขาดกับสามีผู้ล่วงหน้าสู่โลกแห่งความตายไปก่อน เพื่อไม่ให้ฝ่ายภรรยาไม่เศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของสามี ในวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำ ภรรยาจะให้ความสำคัญกับงานศพของสามีผ่านผ้า แม้แต่เสื้อฮีของภรรยาจะถูกนำไปคลุมโลงทั้งของสามี และตัวเอง ในขณะที่เมื่อภรรยาเป็นฝ่ายเสียชีวิต สามีจะไม่มีการไว้ทุกข์ผ่าน 'ผ้า' และไว้อาลัยมากเท่าภรรยา เนื่องจากมีมุมมองว่าผู้หญิงเป็นคนอื่นที่แต่งเข้าบ้านมา ผู้ชายเป็นเจ้าบ้าน และได้รับหน้าที่เลี้ยงผีบรรพบุรุษ ดังนั้นจึงควรไว้ทุกข์ให้มาก
แม้ร่างกายจะไร้ซึ่งวิญญาณ ความผูกพันกับผ้าของชาวไทยทรงดำหาได้เสื่อมคลาย สำหรับความเชื่อโลกหลังความตาย ชาวไทยทรงดำจะต้องมีการเตรียมตัวก่อนตาย ผู้ที่ตายดี กล่าวคือไม่ได้ตายโหง หรือฆ่าตัวตาย จะได้ขึ้นไปบนเมืองแถน ระหว่างการเดินทางจะต้องผ่านด่านซึ่งรับค่าผ่านทางเป็น 'เสื้อผ้า' ก่อนจะขึ้นไปเฝ้าพญาแถน ชาวไทยทรงดำจึงต้องเตรียมเสื้อผ้าไว้ 2 ตัว เพื่อใส่สองชั้น โดยเลือกใส่เสื้อที่รักและสวยที่สุดไว้ด้านในสุด เมื่อผ่านด่านก็ถอดเสื้อชั้นนอกมอบให้กับนายด่าน เหลือเพียงเสื้อชั้นในที่สวยที่สุด เพื่อไปพบกับผู้ที่อยู่บนเมืองแถน แล้วค่อยลงมาที่บ้านเพื่อปกป้องคุ้มครองลูกหลาน ซึ่งการขึ้นไปเฝ้าแถนมีช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ ในช่วงเข้าพรรษาพวกเขาจึงจะค่อยขึ้นไปบนเมืองแถน แล้วกลับลงมาอีกทีเมื่อถึงเวลาออกพรรษา ผ้าในพิธีศพจึงเป็นทางนำพาผู้ตายไปสู่โลกหลังความตาย
หมายเหตุ. ผ้าซิ่นลายตาหมี่ของชาวไทยทรงดำ จาก Facebook: สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย
บทบาทของซิ่นลายแตงโมในฐานะ “ส่วนหนึ่ง” บนชุดแต่งกาย นั้นถูกเชื่อมโยงกับการแสดงออกตัวตนในพิธีกรรม ทั้งงานมงคล และงานอวมงคล ต่างจาก 'ซิ่นลายตาหมี่' ที่มีช่วงเวลาการถือกำเนิดยาวนานใกล้เคียงกับซิ่นลายแตงโม ได้ถูกกำหนดใช้ในงานมงคล หรือพิธีกรรมเพียงเท่านั้น ชาวไทยทรงดำมองว่าเป็นซิ่นลายตาหมี่เป็นซิ่นสำหรับสิ่งดี ๆ ห้ามใส่ไปร่วมงานศพอย่างเด็ดขาด มาจากการที่เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค บุตรธิดาของท่านเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ อดีตเจ้าเมืองเพชรบุรี ใส่ซิ่นลายตาหมี่ถวายตัวรับราชกาลในฐานะบาทบริจาริกาแก่รัชกาลที่ 5 ชาวไทยทรงดำในจังหวัดราชบุรี บ้านเขาหัวจีนนั้นต่างศรัทธายิ่งในเจ้าจอมเอี่ยม ผู้ได้ขึ้นเป็นพระสนมเอกของกษัตริย์ ทำให้ซิ่นลายตาหมี่ถูกมองว่าเป็นของมงคล หรือผ้าชั้นสูง ในอดีต ด้วยความที่ซิ่นลายตาหมี่ทอขึ้นด้วยเส้นไหม เส้นไหมมีราคาแพงและทอได้ยากกว่า เมื่อซิ่นมีลายมาก การใช้เส้นไหมมากจึงตามมา แสดงถึงชนชั้นฐานะของผู้สวมใส่ มีเพียงแค่ผู้มีฐานะ และมากไปด้วยทรัพย์ที่จะได้มีโอกาสสวมใส่ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านไทยทรงดำต่างใส่ซิ่นลายตาหมี่ในชีวิตประจำวัน รวมถึงไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องใส่เฉพาะในงานพิธีกรรมอีกต่อไป แต่ยังคงห้ามไม่ให้เลือกใส่ไปงานอวมงคลอยู่เช่นเดิม
ความสัมพันธ์อันเชื่อมโยงกันระหว่างสตรีไทยทรงดำกับทอผ้า ทำให้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อ 'ผ้า' ของสตรีไทยทรงดำ นับแต่เกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต 'ซิ่น' เป็นองค์ประกอบหลักอันเป็นเอกลักษณ์การแต่งกายของสตรี จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่ตัวตนของหญิงสู่สังคมหมู่ไทยทรงดำ ตัวตนของหญิงในที่นี้ หมายถึงสถานภาพทางสังคมที่ผู้หญิงได้รับการเผยแพร่ตัวตนผ่านผ้า ยกตัวอย่าง ความต้องการไว้อาลัยแก่สามีโดยการเลาะตีนซิ่นอันเป็นสัญลักษณ์ของสตรีที่ตนได้ทอขึ้นมา ในขณะที่ฝ่ายสามีไม่ได้มีวิธีการไว้อาลัยอันเกี่ยวข้องกับผ้านอกเหนือเสียจากเสื้อฮีที่ทุกคนในงานศพใส่ หรือการแสดงออกสถานะทางการเงินในบ้านและชนชั้นผ่านซิ่นหรือเนื้อผ้าที่ตนสวมใส่ กล่าวคือ 'ซิ่น' ไม่ได้มีแค่หน้าที่ในการเป็นเครื่องแต่งกายเพื่อความสวยงาม ไม่ได้ถูกจำกัดความหมายของการเป็นผ้าหรือการแต่งกาย แต่ยังอยู่ในฐานะสื่อกลางการแสดงออกทางสังคม ดังนั้น 'ซิ่น' ในการเป็นผ้าที่อยู่คู่กับสตรีเอง จึงเป็นส่วนหนึ่งในการแต่งกายที่มีบทบาทในการแสดงออกทางพิธีกรรม ความเชื่อ สถานภาพทางสังคม และถูกใช้ในการเผยแพร่ตัวตนของสตรีผู้สวมใส่ แก่สายตาในสังคมชาวไทยทรงดำ อีกทั้งเป็นสื่อกลางของความเชื่อหลังความตายในการชี้นำดวงวิญญาณสู่โลกหลังความตายอย่างการใช้เสื้อผ้าไปสู่เมืองแถนตามความเชื่อของชาวไทยดำอีกด้วย