(เรื่องโดย ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์)
"ละแวกะดาม" เป็นอาหารพื้นถิ่นประเภทแกงที่ทำได้ง่าย และจะอร่อยเพิ่มมากขึ้นเมื่อทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ปัจจุบันหาทานได้ค่อนข้างยาก และคนในพื้นที่บางคนอาจไม่รู้จัก "ละแวกะคาม"
"ละแวกะดาม" เป็นภาษาเขมรสุรินทร์ หมายถึง แกงคั่วปู หรือ หลนปูนา
หากย้อนกลับไป 15-20 ปีที่แล้ว ละแวกะดาม จะหากินได้ในเฉพาะหน้าแล้ง ระหว่างฤดูเกี่ยวข้าวจนถึงเดือนเมษายนเท่านั้น เพราะปูนาในหน้าแล้งจะมีมันค่อนข้างมาก เมื่อนำมาประกอบอาหารแล้วจะอร่อยเป็นพิเศษ

1. เริ่มจากหาปูนา ที่เป็นปูนาหน้าแล้ง และเอามาล้างน้ำ เอาดินออก
2. จากนั้น แกะปูเอาขาและก้ามออก เอาแต่ตัวปูโขลกให้ละเอียดแล้วคั้นกับน้ำ สัก 3 รอบ เอาแต่น้ำ ใส่หม้อตั้งไฟ
3. โขลก พริก หอม กระเทียม กระชาย ข่า ตะไคร้ เกลือ กะปิ เข้าด้วยกันพอแหลก ไม่ต้องละเอียดมาก
4. พอน้ำปูเดือด ให้ใส่พริกแกงที่ได้โขลกเตรียมไว้ และผักต่าง ๆ ตามที่ชอบ หรือถ้าจะทำเป็นน้ำพริกไว้จิ้มกับผัก ก็ไม่ต้องใส่ผัก ก็ได้
5. พอน้ำปูเริ่มเดือดอีกรอบให้ใส่ข้าวคั่วป่นละเอียด และควรคนทันทีไม่ให้จับตัวเป็นก้อน
6. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียกให้ได้รสตามต้องการ และใส่ผักแขยง ยกลงได้
7. หากเพิ่มเนื้อหมู ไก่ ปลาช่อน หรือปลาดุก ลงไปพอประมาณ จะทำให้ลักษณะของแกงมีน้ำขลุกขลิกน่ากินยิ่งขึ้น
ละแวกะดามจะมีรสชาติตามแต่ละบ้าน โดยปรุงตามความชอบ แต่หลัก ๆ คือการใช้ปูมาใช้ในการประกอบอาหาร

