พิธีแปงขวัญและเรียกขวัญของชาวไทยทรงดำ
ชาวไทยทรงดำนับถือ “ผี” ส่วนผีที่พวกเขานับถือนั้นคือผีบรรพบุรุษที่คอยปกปักรักษา ชาวไทยทรงดำเชื่อในเรื่อง “ขวัญ” โดยสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในโลกอยู่ใต้อำนาจของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังนั้นความเป็นอยู่และพิธีกรรมต่าง ๆ จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผีประเภทต่าง ๆ
เราได้มาถึงสถานที่ ที่ชุมชนไทยทรงดํา บ้านหัวเขาจีน ตําบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อจังหวัดราชบุรี เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน โดยได้สัมภาษณ์กับตัวบุคคลเอง และใช้ชีวิตร่วมกับคนท้องถิ่น สิ่งแรกที่ดิฉันได้มาถึงที่นี่นั้น พวกเขาได้ต้อนรับกลุ่มของเด็กนักเรียนสาธิตเเห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนักปราชญ์ของไทยทรงดำมาทำพิธีให้ ในตอนแรกนั้นฉันรู้สึกกลัวและเกรงเอามากๆ เพราะได้ยินและศึกษามาว่าเขามีเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ แต่เมื่อได้ไปถึงที่และพวกเขาได้ทำการต้อนรับอย่างอบอุ่น ทำให้ฉันคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้น รู้สึกได้รับการคุ้มครองจากญาติผู้ใหญ่
ตามที่ฉันได้ศึกษามาก่อนที่จะทำงานภาคสนามนั้น ชาวไทยทรงดำมีความเชื่อเรื่องผีโดยนับถือผีอย่างเคร่งครัด การเซ่นบวงสรวงผีอยู่ประจำชาวไทยทรงดำนับถือผีหลายประเภท เช่น ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีเฮือน (ผีเรือน) พวกเขาเชื่อว่าคนที่ถึงแก่กรรมไปแล้วจะเป็นผีมาปกปักษ์รักษาลูกหลานให้มีความสุขได้ กระดูกพ่อแม่จึงถือเป็นเครื่องรางของขลัง ก่อนออกจากบ้านจะต้องบอกกล่าวให้คุ้มครองให้ปลอดภัย ผีบรรพบุรุษนี้จะเชิญมาอยู่บนแท่นบูชาที่มุมหนึ่งของห้องในบ้านเรียกที่จัดเฉพาะนั้นว่า “กะล้อห้อง” แปลว่า มุมห้อง
คนไทยทรงดำยังมีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” หมายถึง สิ่งที่ไม่มีตัวตนเป็นเงาหรือแววของชีวิต เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด พวกเขาเชื่อว่าทุกคนมีขวัญประจำชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นมงคลเป็นสุข จิตใจมั่นคง แต่ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไปเรียกว่าเสียขวัญ ขวัญหายขวัญ และเมื่อใดที่ขวัญออกไปจากตัวหรือมัวไปหลงทางอยู่ที่ใด ก็ทำให้เจ็บป่วยหรือเคราะห์ร้ายได้ ต้องทำพิธีเรียกขวัญ ไทยทรงดำมีพิธีเรียกขวัญหลายลักษณะ
หลังจากที่ทำพิธีเสร็จแล้ว ฉันเกิดข้อสงสัยและนำไปถามกับ “คุณแม่” ที่คอยดูแลเราตลอดระยะเวลาที่เราได้ไปอาศัยอยู่ ฉันได้ไปอยู่ที่บ้านของ “คุณแม่ยุพิน” ไหมละออง คุณแม่เป็นคนที่ดูเเลเราอย่างใกล้ชิดตลอด ท่านยังสุภาพ และใจดีกับพวกเราอย่างมาก พร้อมกับคอยให้ความรู้เกี่ยวกับชาวไทยทรงดำอีก
“พิธีแปงขวัญและพิธีเรียกขวัญต่างกันยังไงหรือคะ คุณแม่ ?”
“มันไม่เหมือนกันขนาดนั้นลูก มันจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย”
เป็นเช่นที่คุณแม่พูดจริง ๆ พิธีแปงขวัญคือการต้อนรับคนภายนอกหรือบุคคลอื่นๆ ที่จะเข้ามายังหมู่บ้าน โดยบอกแก่ผีบรรพบุรุษว่ามีผู้มาเยือน และพวกเขามาดี ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองพวกเขาตลอดการอาศัยอยู่ที่นี่ นักปราชญ์ของไทยทรงดำจะเป็นผู้มาทำพิธีให้รวมถึงการแต่งตัวเป็นชุดไทยทรงดำในการทำพิธี เขาจะมีผลไม้กับขนมมาให้พวกเรากิน
ส่วนพิธีเรียกขวัญนั้น เป็นการเรียกขวัญให้กลับมา เนื่องจากเราตกใจหลงหายไป เป็นไข้ หรือมีอาการไม่ดี จึง ต้องมีพิธีเรียกขวัญกลับมา คุณแม่ยังอธิบาย
“การเรียกขวัญ คือมีคนนึงไม่สบาย งอแง ต้องไปหาหมอเสน หมอปราชญ์หรือเเม่มดให้มาช่วยทำพิธีให้”
“แล้วของที่ต้องใช้เหมือนกับตอนใช้ในพิธีแปงขวัญไหมคะแม่?”
“ไม่เหมือนกันจ้ะ และต่างไปตามช่วงอายุด้วย ต้องมีอาหารต้องใช้ในสำหรับพิธี ถ้าเป็นเด็กให้กินไข่ไก่ คนโตให้กินไก่ และผู้ใหญ่ช่วงอายุ 40-50 ให้กินหมูชิ้น และสุดท้ายคนชราให้กินหัวหมู”
นั่นทำให้ฉันเข้าใจ และรับรู้ถึงความแตกต่างของพิธีทั้งสองนี้ที่แม้ดูคล้ายกัน แต่ก็แตกต่างในรายละเอียด การเรียกขวัญ คือการเรียกขวัญของตนเองให้กลับคืนมา การจัดทำพิธีอ้อนวอนแถนหรือผู้เป็นใหญ่ในเมืองฟ้าให้ปล่อยขวัญกลับคืนมา ไถ่ขวัญด้วยสิ่งแลกเปลี่ยน ขับกลอนเทวดาด้วยเครื่องดนตรีและไต่ถามด้วยการนับเมล็ดข้าวสารหรือทอดไม้คว่ำหงาย เป็นต้น ชาวไทยทรงดำมีความเชื่อว่า ผีขวัญเป็นผีที่อยู่ในร่างกายของแต่ละคน เป็นมิ่งขวัญของเรือนร่างประดุจดังพี่เลี้ยงของร่างกาย ตัวอย่างผีขวัญ เช่น เด็กเล็ก ๆ ปวดหัวตัวร้อน ฝันละเมอไม่ได้สติขณะที่ป่วย หรือเกิดอาการตกใจ จนทำให้ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อเช่นนี้หมายความว่าผีขวัญล่องลอยไปในที่ต่าง ๆ นอนหลับฝันร้ายแสดงว่าผีขวัญไม่อยู่กับตัวเที่ยวเตร่ไปโดยไม่รู้ที่อยู่ ในกรณีเช่นนี้ผู้นั้นจะต้องเรียกขวัญเพื่อให้กลับคืนมาอยู่กับตัวเหมือนเดิม
เราไม่สามารถถามพวกเขาได้ทุกเรื่อง อาจารย์ของพวกเราก็ได้ย้ำเตือนเกี่ยวกับเรื่องการใช้คำถาม เพราะบางทีอาจจะทำให้ผู้ที่ถูกถามเกิดความไม่สบายใจ และไม่อยากจะตอบคำถามก็เป็นได้ เช่นคำถามที่ฉันได้ถามไป
“ทำไมต้องทำพิธีในช่วงหลัง 16.00 น. เป็นต้นไปหรือคะคุณแม่?”
“ที่จริงแล้วก็สามารถทำได้ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงวันเป็นต้นไปนะ แต่ช่วงเช้าจะไม่ค่อยมีคนทำเพราะเหมือนว่าเป๋นช่วงเวลาส่วนตัวของเขา”
คุณแม่ท่านพูดมาเพียงแค่นั้น ฉันจึงไม่ได้ถามต่อในเชิงลึก เพราะมองว่าการที่เขาทำพิธีเช่นนี้กันมายาวนาน คงจะมีสิ่งที่เป็นเหตุผลในตัวของเขามาอยู่แล้ว และฉันถามในส่วนของการทำพิธีในแต่ละพื้นที่ เพราะชาวไทยทรงดำนั้นมีหลายที่กระจายทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย ทำให้ฉันเกิดความสงสัยในเรื่องนี้ว่า
“แล้วแต่ละพื้นที่ทำพิธีต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรคะ?”
“ทำเหมือนกันทุกพื้นที่จ้ะ”
และนั่นก็เป็นคำตอบที่ฉันได้รับมา นั่นทำให้ฉันเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยทรงดำจากพื้นที่ภาคใดก็ตาม พวกเขาก็ยังคงสืบทอดพิธีกรรมแบบดั้งเดิม และพยายามไว้ตลอดคำถามสุดท้ายที่ถามไปกับทางคุณแม่ยุพินคือ พิธีกรรมเรียกขวัญนั้นทำกันอย่างไร เพราะที่เราได้รับการต้อนรับนั้นคือ พิธีแปงขวัญ ไม่ใช่ พิธีเรียกขวัญ
“แล้วพิธีการดำเนินการอย่างไรคะคุณแม่?”
“ก็คนขวัญหายจะมานั่งอยู่ข้างหน้าหมอปราชญ์ และก็เริ่มทำพิธี และให้กินของที่บอกไป จากนั้นก็จะผูกด้ายก็จบพิธีแล้วจ้ะ”
สิ่งที่คุณแม่ตอบมานั้นตรงกับข้อมูลที่ฉันได้ศึกษาทำความเข้าใจมา คือ ผู้จะเข้าพิธีเรียกขวัญนั่งต่อหน้าผู้ทําพิธี ญาติพี่น้องนั่งล้อมวงห่าง ๆ หมอขวัญหรือหมอปราชญ์หรือแม่มด เป็นได้ทั้งชายและหญิง หมอขวัญจะถือห่อเสื้อผ้าของผู้เข้าพิธีสะพายถุงหลา ถุงหลาบรรจุข้าวของต่อไปนี้ ได้แก่ ห่อข้าว 10 ห่อ ห่อปลา 9 ห่อ และห่อไก่ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งถือสวิง 1 ปาก และมืออีกข้างหนึ่งถือไต้ที่จุดไฟหรือท่อนฟืนที่จุดไฟ จากนั้นหมอขวัญจะกล่าวเรียกขวัญให้มาอยู่กับตัวผู้เข้าพิธีถ้าขวัญหายหรือ ขวัญหนีไปจากที่ใด เมื่อขวัญเข้ามาถึง หมอขวัญจะมอบห่อเสื้อผ้าให้กับผู้ทําพิธีนั้น แล้วผูกด้ายที่ข้อมือ หลังจากนั้นจัดเลี้ยงอาหารแก่ญาติที่มาร่วมพิธีเป็นเสร็จพิธีแปงขวัญ ส่วนของที่ให้คนขวัญหายกินจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ โดยแบ่งได้ 3 ประเภท อย่างแรกคือแปงเด็ก เครื่องพิธีประกอบด้วยข้าวสุกปากหม้อ ไข่ต้ม เมื่อพิธีเสร็จหมอปราชญ์จะนำข้าวกับไข่ต้มให้เด็กกิน อย่างที่สองคือแปงขวัญคนทั่วไป เครื่องพิธีประกอบด้วยข้าวสุกปากหม้อ ไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 ขวด เสร็จสิ้นพิธีหมอปราชญ์จะเอาทุกอย่างให้คนขวัญหายกิน และการแปงขวัญสุดท้ายคือการแปงขวัญผู้สูงอายุ เครื่องพิธีประกอบด้วยข้าวสุกปากหม้อ หัวหมูต้มจนสุก 1 หัว เหล้า 1 ขวด หมากพลูบุหรี่ใส่ปานขวัญ และข้อควรระวังคือการแปงขวัญผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำพิธีได้ต้องเป็นครูบาอาจารย์เท่านั้น
สรุปแล้วการสำรวจสนามครั้งนี้ ฉันได้ไปไปเรียนรู้และใช้ชีวิตทำให้ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีของชาวไทยทรงดำ การใช้ชีวิต อาหารการกิน เครื่องนุ่มห่มที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน รวมถึงวัฒนธรรม พิธีกรรม หรือแม้กระทั่งความเชื่อที่แตกต่างและละเอียดอ่อนที่สืบทอดต่อกันมาพอได้มาเห็นด้วยตาของดิฉันเอง ก็ยิ่งได้เห็นถึงเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของพวกเขา นั่นทำให้ฉันยิ่งอยากเรียนรู้เรื่องราวให้มากขึ้นกว่าเดิม
“สุดท้ายนี้ขอขอบคุณคุณแม่ยุพินที่คอยให้ข้อมูล และคอยดูแลพวกหนูตลอดการมาอาศัยครั้งนี้นะคะ”