หากกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ทุกคนก็จะนึกถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ดังเช่น ชาวไทลื้อที่มีศิลปะที่โดดเด่นคืองานผ้าทอไทลื้อ ชาวไทยใหญ่ที่นับถือพุทธศาสนาควบคู่กับภูตผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีวิธีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ชาวไทยวนที่มีภาษาพูดภาษาเขียนเป็นเอกลักษณ์ของตน เป็นต้น
จากการที่ผมได้ไปทำงานภาคสนามที่ชุมชนไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีมาก ชาวไทยทรงดำเป็นกันเอง สิ่งที่ผมสังเกตได้ คือชาวไทยทรงดำปรับเปลี่ยนและปรับตัวกับยุคสมัยได้ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความคิดและมีทั้งร้านขายของชำ ถนนคอนกรีตและไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว
เราไปศึกษาชาติพันธุ์ไทยทรงดำกันวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 เดินทางโดยรถตู้ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง สิ่งที่แรกผมคิดไว้ในหัวก่อนถึงที่หมายคือ ชุมชนนี้น่าจะเป็นชุมชนที่มีแต่บ้านไม้และยกถุนสูง แต่เมื่อถึงสิ่งแรกที่เห็นคือบ้านผู้คนปกติชั้นล่างทำจากปูนส่วนชั้นบนยังคงเหลือเป็นเรือนไม้ไว้ มีศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำที่รวบรวมองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมไว้ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้ศึกษา
ไทยทรงดำคืออะไร?
ชนเผ่าไทยดำหรือไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม มีประวัติการอพยพเข้ามาในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2321 ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ชาวไทยทรงดำส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับความเชื่อในเรื่องผีและขวัญ ผีเป็นเทพยดาที่ให้ความคุ้มครองพิทักษ์รักษา หรืออาจให้โทษถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องผีเรือน ประดุจดั่งศาสดาประจำตน ซึ่งทำในสิ่งไม่ดีจะเป็นการผิดผี ผีเรือนอาจจะลงโทษได้
กลุ่มที่เราจะไปศึกษานั้นอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เป็นชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในบ้านหัวเขาจีน พวกเขามีวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีพิธีกรรมที่คนภายนอกอย่างเราเป็นว่าเป็นเรื่องแปลก เช่น การไหว้ผี การเคารพผีบรรพบุรุษ การบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเซ่นไหว้ แสดงผ่านการมีกะล้อห้องไว้ในบ้าน
“มาทำพิธีเรียกขวัญกันนะ เราเดินทางมาไกล ขวัญอาจจะหล่นหายระหว่างทางก็ได้” ชาวไทยทรงดำได้เรียกพวกเราขึ้นไปบนเรือนเพื่อทำพิธีเรียกขวัญโดยมีหมอเสนเป็นผู้ทำพิธีให้ พิธีนั้นมีทั้งผลไม้และขนมหลากหลายทั้งแตงโม กล้วยน้ำว้า มะม่วง แก้วมังกรขาว ข้าวเกรียบ เป็นต้น เขาบอกว่าถ้าเราอยากกินอะไรขวัญก็อยากกินด้วย ถ้ากินเยอะขวัญก็จะอิ่มเยอะเหมือนกัน
เชื่อว่าขวัญเป็นสิ่งที่ติดตัวกับเรามาตั้งแต่กำเนิดโดยมี 7 ขวัญ เมื่อใดเราออกไปไหนหรือเดินทางไกลแล้วขวัญหายไป ก็จะทำให้เราเจ็บป่วยได้ไข้ จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญเพื่อให้ขวัญกลับมาสู่ตัว ชาวไทยทรงดำมีวิธีเรียกขวัญอยู่หลายลักษณะต่างกันไป
จากนั้นพวกเราก็ลงจากเรือนมาทำกิจกรรมกันข้างล่างต่อ “น้าอ้อย” เป็นผู้บรรยายประวัติเรื่องราวและวิถีชีวิตขอคนในชุมชุนนี้ว่าอยู่กันอย่างไร หมู่บ้านนี้มีกี่หมู่ ใครเป็นหมอเสน ใครเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมก็นั่งฟังน้าอ้อยบรรยายไปเพลิน จนเวลาสี่โมงเย็น พวกเราก็ไปเดินตลาดนัดกันที่หมู่ 5 ตลาดก็เหมือนตลาดทั่ว ๆ ไปที่มีทั้งของสด ของสุก ของกินเล่นเพลิน ๆ ไป บรรยากาศทางไปตลาดก็ทุ่งนา ภูเขาพร้อมมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแห่ง ๆ และในชุมชนนี้รถก็น้อยด้วย
“แม่ ๆ” ทั้งหลายของชุมชนที่ให้ความรู้พวกเรา
บ้านของน้าอ้อยนั้นเป็นบ้าน 2 ชั้น ยกใต้ถุน ข้างล่างมีห้องทำด้วยปูนส่วนด้านบนทำจากไม้ที่คงสภาพเดิมมาแต่ก่อน ส่วนห้องน้ำมี 3 ห้องอยู่บริเวณใกล้ ๆ บ้านและสวนหย่อมเล็ก ๆ
ตลอดกิจกรรมทั้งหมดนี้ พวกเราได้ใช้เวลากับเหล่าผู้หญิงในชุมชน พวกเธอทำงานบ้าน งานประดิษฐ์ ไม่ก็ทำนาอยู่บ้าน แตกต่างจากผู้ชายที่ออกไปหางานทำในเมือง และเมื่อมีเวลาพวกเธอก็มารวมตัวกันทอผ้าที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ นี้ มีเครื่องทอผ้าอยู่หลากหลายมาก ทำให้การทำผ้าจำนวนมากนั้น มีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ จากคนภายนอกที่สนใจและอยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ความเชื่อต่าง ๆ
“น้าอ้อยครับ ที่นี่มีความเชื่อเรื่องผีหรือข้อห้ามตอนกลางคืนไหมครับ”
“ห้ามเคาะหรือตีเสียงดังตอนกลางคืนนะ มันเหมือนรบกวนและแข่งกับผีนะ”
“เห้ยเพื่อน ทุกบ้านก็จะมีห้องเลี้ยงผีอยู่นะ บ้านเราอยู่ตรงไหน”
“เปิดประตูและหันขวานะ ห้องนั้นแหละ”
ผมพอทราบมาว่าชาวไทยทรงดำจะมีห้องบูชาผีหรือผีบรรพบุรุษ จะเชิญผีมาอยู่บนหิ้งบูชาที่มุมห้องในบ้านซึ่งเรียกว่า “กะล้อห่อง” ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะบ้านของคนทั่วไปจะมีห้องพระ แต่ที่ชุมชนนี้เป็นห้องบูชาผี ผมก็เป็นคนกลัวผีอยู่เหมือนกันทำให้เวลาผมเข้าที่พักหรือจะเดินออกไปไหน ผมไม่กล้าที่จะเดินเข้าไปใกล้บริเวณห้องนั้น เพราะรู้ว่าเข้าได้เฉพาะคนในตระกูลหรือครอบครัวของเขานั่นเอง
“วันนี้พวกเราจะไปสำรวจชุมชนในระแวกนี้กันนะ”
“กลุ่มเราจะไปบ้านหมอเสนกันก่อนนะ”
กลุ่มผมได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมและสอบถามที่บ้านหมอเสนเป็นอันดับแรก พวกเราได้ขี่จักรยานกันไป มีแต่ผมคนเดียวที่ได้ขี่มอเตอร์ไซด์ เพราะน้ำหนักจักรยานรับน้ำหนักไม่ไหว บ้านหมอเสนไม่ได้ไกลมาก เมื่อถึงบ้านพวกเราเห็นหมอเสนมานั่งเล่นที่หน้าบ้านและสานฆ้องใส่ปลา หมอเสนต้อนรับพวกเราดีมาก และเป็นกันเอง
“จะถามอะไรก็ถามมาเลย” เสียงหมอเสนกล่าวเปิด และพวกเราก็ได้นั่งสอบถามหมอเสนหลายอย่าง ได้ความว่า หมอเสนไม่ใช่คนที่นี่ตั้งแต่เกิด แต่มาจากที่แต่งงานแล้วก็ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนไทยทรงดำ บ้านเดิมหมอเสนอยู่ที่เพรชบุรี หมอเสนอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุ 30 ปี เมื่ออายุ 60 ปี ได้เป็นผู้ทำพิธีให้คนในหมู่บ้าน ทั้งพิธีเดือน 8 เดือน 10 เดือน 12 , พิธีรับขวัญ เรียกขวัญ พิธีแก้บน พิธีเสนเรือน
“แล้วก่อนจะเป็นหมอเสนต้องเรียนอะไรบ้างครับ”
“เรียนจากอาจารย์เลยลูก จำเขาเอา ไม่มีตำราให้ท่องจำนะ”
“แล้วพิธีแต่ละพิธีเนี่ย ให้เงินสูงไหมครับ”
“แล้วแต่งานเลยลูก บางงานก็ 50,000 บาท งานใหญ่ๆก็เป็น 100,000 บาทเลยนะ”
“บางทีก็เสนเรือนให้เขาทั้งฆ่าควายและฆ่าหมูเป็นตัวเพื่อมาทำพิธี”
พวกเราก็ได้ข้อมูลมามากแล้วก็ลาหมอเสนและก็เดินทางกลับที่ทำกิจกรรมต่อเหมือนเดิม ตอนบ่ายเรามานั่งรวมตัวกันทั้งหมดและแต่ละกลุ่มก็บรรยายสิ่งที่ตัวเองได้ไปเจอและสอบถามมา
“วันนี้เราจะมาเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวไทยทรงดำกันนะ”
“มีทั้งทอผ้าไทยทรงดำ ผ้าขาวม้า สานพัด สานด้ายกันสิ่งชั่วร้าย”
พวกเราได้เรียนรู้หลายอย่างผ่านกิจกรรมของชาวไทยทรงดำ กิจกรรมที่ชอบที่สุดคือสานด้ายเบี้ยแก่นแตง แก้สิ่งชั่วร้าย เขาเชื่อว่าให้แขวนไว้หน้าบ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี
ทุกคนมารวมตัวและอธิบายเรื่องหัวข้อโครงงานที่เราจะทำกันก่อนที่จะกินข้าวและกลับโดยสวัสดิภาพ
สรุปแล้วการมาภาคสนามในครั้งนี้ผมได้อะไรหลายอย่างทั้งเรียนรู้วิถีชีวิต พิธีกรรม ความเชื่อ อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม และเอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดำที่สืบทอดต่อกันมา ทำให้ผมคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจเป็นมาก และผมก็อยากเรียนรู้เรื่องราวของพวกเขามากกว่านี้
เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 11-14 สิงหาคม 2566
ณ ชุมชนไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี