แต่งกายของชาวไทยทรงดำในแต่ละบริบท
ณัฏฐกัลย์ คมพจน์
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชาวไทยทรงดำมีเอกลักษณ์ที่แสดงออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน คือการแต่งตัวโดยเสื้อผ้าที่มีสีดำหรือสีกรมท่า การแต่งตัวในชีวิตประจำวันผู้ชายจะใส่เสื้อก้อมที่ไม่มีปกคอผู้หญิงจะใส่เสื้อก้อมที่มีปกคอสองชั้นเรียกว่าคอแก่น ผ้าซิ่นของผู้หญิงชาวไทยทรงดำนั้นจะเป็นผ้าซิ่นลายแตงโม (ทวีนวมนิ่ม, 2563) แต่ยังมีผ้าซิ่นอีกลวดลายหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายคือ ผ้าซิ่นลายตาหมี่ เป็นผ้าลวดลายที่เจ้าจอมใส่ถวายตัวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หญิงชาวไทยทรงดำจึงนิยมใส่กันเฉพาะในงานและโอกาสที่สำคัญ“พวกเราภูมิใจมากที่เราได้เป็นลาวหามเจ้า” คำกล่าวของ “น้อย” หญิงชาวไทยทรงดำที่อาศัยอยู่ที่ชุมชนชาวไทยทรงดำ หมู่บ้านหัวเขาจีน จังหวัดราชบุรี น้อยได้เล่าว่าไทยทรงดำเมื่อก่อนอยู่กันที่เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม และอพยพลงมาที่ประเทศไทยเนื่องจากเกิดสงคราม ชาวไทยทรงดำสมัยนั้นต้องจากบ้านมาเป็นเชลยอยู่ที่ประเทศไทย หลังสงครามจบ หลายคนจึงแยกย้ายกันกลับบ้านเกิด บางคนก็ไปถึงที่หมาย บางคนก็ไปไม่ถึง เนื่องจากจำทางที่เดินทางมาไม่ได้ ชาวไทยทรงดำถูกกวาดต้อนมาไทยถึงสามครั้ง ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าชาวไทยทรงดำก็ได้มีโอกาสหามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าขึ้นไปบนภูเขา ทำให้เป็น “ลาวหามเจ้า” เพราะความซื่อสัตย์ที่เสียสละชีพแทนเจ้านายได้
เมื่อกล่าวถึงชาวไทยทรงดำ สิ่งที่เราจะนึกถึงคือสีดำ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้สวมเครื่องแต่งกายที่เป็นสีดำเท่านั้น เราจะเห็นว่ามีลวดลายสีสันสวยงามบนผ้าด้วยเหมือนกัน สีต่างมีความหมายอย่างเช่นสีขาวคือความบริสุทธิ์ สีดำคือความเข้มแข็ง สีแดงคือเลือด เนื้อสีเขียวคือความอุดมสมบูรณ์ สีเหลือง/ส้มคือรักใคร่สามัคคี เมื่อแต่ละสีมารวมกันก็ออกมาเป็นลายลายหนึ่งที่สดสวยงดงาม “ทุกอย่างที่เราทำมีความหมายนะ เราก็อยากให้เอกลักษณ์ของเรายังอยู่ต่อไป” ศรีไพรได้เล่าว่าเมื่อก่อน ชาวไทยทรงดำจะแต่งงานและมีครอบครัวได้ จะต้องแต่งงานกับไทยทรงดำด้วยกันเท่านั้น แต่ในปัจจุบันความรักไม่ใช่เรื่องของเพศหรือเชื้อชาติ แค่เพียงคนสองคนรักกันเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอ จะเห็นได้ว่าชาวไทยทรงดำรุ่นใหม่ ไม่นิยมใส่ชุดที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยทรงดำในชีวิตประจำวัน และมักส่งลูกหลานออกไปเรียนในเมือง ลูกหลานชาวไทยทรงดำจะกลับมาแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ แค่ช่วงเทศกาลหรืองานพิธีเท่านั้น เช่น พิธีเสนเฮือน “ก็กลัวนะกลัวว่าแสงสีในเมืองจะทำให้พวกเขาลืมว่าตัวเองเป็นใคร” ศรีไพรกลัวว่าวัฒนธรรมของพวกเขาจะถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา
ในอดีต ก่อนผู้หญิงชาวไทยทรงดำแต่งงานจะต้องทอผ้าเตรียมไว้สำหรับสามีและลูกในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมออกเรือนในวันแต่งงาน ผู้ชายต้องสวมเสื้อฮี สวมหมวกหงอบหรือหมวกชาวนา และสะพายกระเป๋าสีแดงที่ใส่มีดไว้ แสดงให้เห็นว่าพร้อมออกไปทำงาน มีครอบครัวเป็นของตัวเอง ส่วนผู้หญิงก็จะใส่เสื้อฮีที่มีลวยลายน้อย ลวดลายรูปแบบของงานแต่งงานจะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ (ชนัญวงษ์วิภาค, 2540) ส่วนการสวมใส่ชุดที่มีลวดลายมากไว้ด้านอกของชาวไทยทรงดำ จะสวมในงานอวมงคล เช่น งานศพ
บทบาทของผ้ากในพิธีศพชาวไทยทรงดำ จะต้องจัดเตรียมเสื้อผ้าไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเสียชีวิต คนที่เสียชีวิตจะสวมเสื้อที่ “สวยที่สุด” มีลวดลายเยอะที่สุดไว้ด้านใน และสวมเสื้อผ้าซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น เนื่องจากชาวไทยทรงดำเชื่อว่าเมื่อตายไป จะขึ้นไปอยู่เมืองแถนไปหาบรรพบุรุษของเรา ระหว่างทางต้องผ่านหลายด่าน เสื้อผ้าที่คนเป็นสวมใส่ให้ศพจึงเป็นสัญลักษณ์ของค่าผ่านทาง ที่ให้คนตายถอดแต่ละชั้นแลกไปเรื่อย ๆ จนผ่านขึ้นไปเมืองแถน เมื่อถึงที่เมืองแถนก็จะเหลือชุดที่สวยที่สุดไว้ใส่ ใช้ชีวิตอยู่บนเมืองแถนร่วมกับบรรพบุรุษที่นั่น
พื้นฐานทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของสังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ในปัจจุบันแทบไม่เหลือชุมชนที่แยกออกมาเป็นอิสระจากอิทธิพลของโลกภายนอก มีเพียงไม่กี่สังคมที่ยังคงผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเอง (ชนัญ วงษ์วิภาค, 2540) ผู้หญิงชาวไทยทรงดำทุกคนจำเป็นต้องทอผ้าเป็นและทุกบ้านที่เป็นคนไทยทรงดำมักจะพบเห็นกี่ทอผ้าอยู่ในบริเวณบ้าน จากการสัมภาษณ์และสำรวจเพื่อทำแผนที่เดินดิน พบว่าแทยทุกครัวเรือนมีกี่ทอผ้า ชาวไทยทรงดำให้ความสำคัญกับผ้าทอต่าง ๆ เป็นอย่างมาก เช่นการแต่งกายด้วยผ้าไหมที่ทอมือ เริ่มจากการร้อยด้ายหลายร้อยเส้นบนกี่ทอผ้า “เพราะจุดเด่นของเราคือการแต่งกาย” คำกล่าวของ "น้อย” หญิงชาวไทยทรงดำ เล่าว่าการแต่งตัวของชาวไทยนั้นค่อนข้างโดดเด่นด้วยตัวเสื้อผ้าที่มีสีดำสนิทหรือสีกรมท่า ลวดลายเล็ก ๆ น้อย ๆ บนตัวผ้าทำให้มองแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็น ชาวไทยทรงดำ
ในปัจจุบัน เราจะเห็นชาวไทยทรงดำในหลาย ๆ พื้นที่ ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ออกมาขายให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อ ถือเป็นส่วนหนึ่งการแพร่กระจายวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำในด้านการแต่งกายให้คนในสังคมได้รู้จัก และยังสร้างให้เกืดสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ