ศาสนาพรามหณ์ – ฮินดูเกิดขี้นในอินเดีย มีอายุมากกว่าพระพุทธศาสนาประมาณ 900 ถึง 1000 ปี จึงจัดเป็นศาสนาที่เก่าแก่ว่าบรรดาศาสตาทั้งหลายที่มีผู้นับถืออยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นศาสนาพหุเทวนิยม ศาสนานี้แบ่งชนชาติอินเดียออกเป็น ๔ วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร พราหมณ์ มีหน้าที่เป็นครูอาจารย์ เป็นปราชญ์ ซึ่งเปรียบเสมือนศีรษะที่เป็นบ่อเกิดความคิดสติปัญญา กษัตริย์มีหน้าที่ปกครองป้องกันประเทศ เปรียบเสมือนอก ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งกำลัง คือ กำลังแห่งสังคม แพศย์ หมายถึง พวกพ่อค้า ชาวไร่ ชาวนา เปรียบเสมือนขา ซึ่งเป็นส่วนที่ทรงร่างกายไว้ พวกนี้ควบคุมการเศรษฐกิจของชาติไว้ในกำมือ และศูทร หมายถึง ผู้ทำสังคมให้เคลื่อนที่ก้าวหน้าในการงานทั้งปวง ซึ่งเปรียบเสมือนเท้า โดยเหตุที่พราหมณ์มีหน้าที่เป็นครู อาจารย์ ความรู้ที่ได้รับจากพราหมณ์ จึงเรียกว่า ศาสนาพราหมณ์ ศาสนานี้ไม่มีศาสดาผู้ให้กำเนิดเหมือนพระพุทธศาสนา หรือคริสต์ศาสนา แต่ถือเทพเจ้าเป็นที่เคารพสักการะ ๓ องค์ด้วยกัน คือ พระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร พราหมณ์มีหน้าที่สั่งสอนศิลปวิทยา ทำพิธีกรรมต่างๆ และเป็นผู้รับทักษิณา คือ เมื่อมีผู้ให้สิ่งของแก่คนตายซึ่งเรียกว่า บรรพบุรุษ พราหมณ์เป็นผู้รับสิ่งของนั้น และต้อง ทำตามพิธี ถือว่าบรรพบุรุษได้ของนั้นแล้ว ผู้ที่มิใช่พราหมณ์สอนใครไม่ได้ รับทักษิณาไม่ได้ เด็กในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ จะต้องไปเข้าโรงเรียนพราหมณ์ ก่อนรับการศึกษา พราหมณ์จะเสกมนตร์ลงที่ตัวเด็กนักเรียน และเอาด้ายสายสิญจน์ คล้องคอเฉวียงบ่าให้ เสร็จพิธีแล้วจึงเริ่มศึกษาได้ ด้ายสายสิญจน์นี้ พราหมณ์ไทยเรียก สายธุรำ พราหมณ์ฮินดูเรียก ยัชโญปวีต ต่อมา ศาสนาพราหมณ์ของชาวอินเดียปัจจุบันนี้เปลี่ยนชื่อมาเรียกว่า ศาสนาฮินดู ทั้งนี้ ก็เพราะว่า เมื่อศาสนาขยายตัวกว้างขวางออกไป ก็มีความแปรปรวนไปบ้างเป็นธรรมดา เกิดมีลัทธิประเพณีแปลกๆ ขึ้น แต่ชาวฮินดูก็คงนับถือพระเวท พระคัมภีร์อื่นๆ อย่างเดียวกับพวกพราหมณ์เดิมเหมือนกัน