ศาสนาทุกศาสนามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องอาหารต่างๆ นานา ทั้งอาหารมงคล อาหารต้องห้าม ในคัมภีร์ปฐมกาลของยูดาห์ คริสต์และอิสลาม มนุษย์ผู้ไม่ต้องเพาะปลูกถูก “ล่อลวง” ด้วย “อาหาร” พญางูส่งผลไม้ซึ่งฝรั่งเล่ากันว่าคือแอปเปิ้ล คริสต์ศาสนายุคกลางมองว่าการหมกมุ่นอยู่กับการกินหรือ “ความตะกละ” นั้น เป็นหนึ่งในบาปเจ็ดประการ และการกินที่มากหรือประณีตเกินไปเป็นการเอาใจใส่ต่อ “ชีวิตทางเนื้อหนัง” มากกว่า “ชีวิตฝ่ายจิต” ศาสนิกแนบชิดสนิทกับพระเจ้าผ่านการกินเลี้ยงของ “ศีลมหาสนิท” แผ่นปังอบแผ่นเล็กสื่อถึงพระวรกายของพระเยซู และเหล้าองุ่นคือโลหิตที่หลั่งออกเพื่อไถ่โลกการกินดื่มพระวรกายและพระโลหิต เท่ากับรับพระเป็นเจ้าเข้ามาทางกายแต่เกิดผลทางใจ คือเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงใจมากกว่ากาย ศาสนากลุ่มอับราฮัม (คือ ยูดาย คริสต์และอิสลาม) จึงมีข้อห้ามเรื่องอาหารมากมาย เช่น ไม่กินหมู ไม่กินเลือดสัตว์ เพื่อต้องการ “ความบริสุทธิ์” ของกายใจ แต่หากมองจากมุมประวัติศาสตร์ คือความพยายามสร้าง “อัตลักษณ์” ของตน ที่แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ หรือศาสนาเดิมที่เป็นปฏิปักษ์กัน ศาสนาจากอินเดีย คือฮินดู พุทธและไชนะ มีกฏเกณฑ์ด้านอาหารที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ศาสนาเหล่านี้ซึ่งมุ่งเน้นการสละ ละ การกินโดยปราศจากหลักทางศีลธรรมก็อาจนำมนุษย์ไปสู่ความยึดติดมากขึ้น ชาวฮินดูมีคำสอนในอุปนิษัทว่า “อนฺนํ พฺรหเมติ” หมายความว่า “อาหารคือพระเจ้า” หรืออาหารคือสัจธรรม เพราะโลกทั้งโลกนี้เองคืออาหาร และตัวเราเองก็เป็นอาหาร นอกจากนี้มนุษย์ยังใช้อาหารในพิธีกรรมทุกชนิด อาหารดำรงอยู่ในฐานะเครื่องพลีบวงสรวงที่สำคัญที่สุด ซึ่งแม้จะล่วงมานับพันนับหมื่นปี ความหมายนี้ก็ยังดำรงอยู่