เฟื้อ หริพิทักษ์
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “เฟื้อ หริพิทักษ์” หลายคนอาจจะรู้จักท่านในฐานะศิลปินผู้บุกเบิกงานศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ยุคแรก ๆ ของเมืองไทย อีกหลายคนรู้จักท่านในฐานะครูผู้ถ่ายทอดผลงานและความรู้ด้านศิลปะไทย และหลายคนรู้จักท่านในฐานะนักอนุรักษ์ผลงานศิลปะ-จิตรกรรมฝาผนังวัด ในทุกบทบาทหน้าที่ที่ เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้รับมอบหมาย ท่านจะทุ่มเทแรงกายแรงใจดำเนินงานไปด้วยใจแห่งศรัทธา ด้วยการอุทิศกายใจในการทำงานทุก ๆ ชิ้น จนทำให้ เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นเจ้ารางวัลมากมายจากผลงานและการทำงานของท่าน ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเหรียญทองจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติจำนวน 3 ครั้ง รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ปี พ.ศ.2526 และศิลปินแห่งชาติในปี พ.ศ.2528
ด.ช.เฟื้อ ทองอยู่ เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ปี พ.ศ.2453 ในวัยเด็กท่านอาศัยอยู่กับคุณยายทับทิม บริเวณหลังวัดสุทัศนเทพวราราม เนื่องจากบิดา ถึงแก่กรรมก่อนที่ท่านจะเกิดและมารดาถึงแก่กรรมในขณะที่ท่านมีอายุ 7 ขวบ หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชบพิธ ท่านสมัครเป็นเสมียนรถไฟที่เมืองพิษณุโลก แต่ทำได้เพียงสองวันเท่านั้น จนกระทั่งได้มาสมัครเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อปี พ.ศ.2472 ท่านเรียนจนถึงปีที่ 5 แต่ก็เรียนไม่จบ แม้ว่าจะสอบวิชาอื่นหมดแล้วเหลือเพียงวิชาวาดรูป ท่านไม่ยอมวาดรูปตามหลักสูตรของโรงเรียน กลับเขียนภาพตามใจตนเอง ผลสุดท้ายจึงสอบตก
ต่อมา เมื่อศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี หรือศิลป์ พีระศรี ได้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากรขึ้นในปี พ.ศ.2546 ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้โดยถูกกำหนดให้เรียนวิชาจิตรกรรมกับพระสรลักษณ์ลิขิต แต่ก็เรียนได้เพียงปีเดียว ก็ขอลาออกไปและไปขอเรียนเป็นพิเศษกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรีโดยตรง ที่โรงเรียนศิลปะแห่งนี้ทำให้อาจารย์เฟื้อ สนิทสนมกับเพื่อนนักเรียนศิลปะด้วยกัน คือ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ความรักของท่านทั้งสองนั้นถูกกีดกันจากทางครอบครัวของฝ่ายหญิง แต่ในที่สุด ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ก็ตัดสินใจมาอาศัยอยู่ร่วมกับฟื้อ หริพิทักษ์และยายของท่าน ทั้งสองคนมีบุตรชายด้วยกันคือ นายทำนุ หริพิทักษ์
เดินทางไกล ไปศึกษาต่อต่างแดน
เดิมที เฟื้อ หริพิทักษ์ ตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี แต่ด้วยเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2482 อาจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงสนับสนุนให้เฟื้อ หริพิทักษ์ ไปศึกษารากเหง้าศิลปวัฒนธรรมตะวันออกที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ซึ่งก่อตั้งโดย รพินทรนาถ ฐากูร ด้วยทุนส่วนตัวของ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ภรรยาของท่าน ไม่กี่เดือนต่อมาท่านได้ทราบข่าวร้ายว่าคุณยายทับทิม ผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดูท่านตั้งแต่เล็กได้ถึงแก่กรรม และอีกไม่กี่วันถัดมา ท่านได้ทราบข่าวว่าม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ภรรยาผู้เป็นที่รักมีอาการเสียสติไป
ข่าวร้ายนี้ ทำให้เฟื้อ หริพิทักษ์รู้สึกเหมือนคนหมดสิ้นทุกอย่างในชีวิต จึงได้อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครอง ทันใดนั้น ลมฝนที่พัดกรรโชกหนักก็เงียบสงบลง พร้อมกับความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นต้นเหตุทำให้ท่านตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลเป็น “หริพิทักษ์”
เฟื้อ หริพิทักษ์ ใช้ชีวิตในอินเดียเป็นเวลาหกปี แต่เป็นการใช้ชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงปีเดียว อีกห้าปีที่เหลือเป็นการใช้ชีวิตภายในค่ายเชลยศึกกลางทะเลทราย แม้ในค่ายเชลยศึก เฟื้อ หริพิทักษ์ ก็ยังชนะเลิศการประกวดภาพวาดภายในค่ายแห่งนี้ และเมื่อสงครามสงบลงรัฐบาลอังกฤษจึงย้ายเฟื้อ หริพิทักษ์ไปกักกันต่อที่ประเทศสิงคโปร์และเดินทางต่อเพื่ื้อเข้าประเทศไทยที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ.2489
ชีวิตการทำงานที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปี พ.ศ.2490 อาจารย์ศิลป์ พีระศรีช่วยเหลือให้เฟื้อ หริพิทักษ์ได้เป็นครูช่างเขียน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างนั้นเฟื้อ หริพิทักษ์ได้แต่งงานใหม่กับคุณสมถวิล หริพิทักษ์ ในช่วงนั้นเองเฟื้อ หริพิทักษ์เริ่มออกสำรวจภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ ตลอดจนทำการคัดลอกภาพที่สำคัญเก็บไว้ก่อนที่ภาพเหล่านั้นจะสูญสลาย จากวัดสุทัศนเทพวรารามซึ่งท่านฝังใจในความงดงามมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงวัดสุวรรณารามบ้านเดิมของคุณยาย
เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้รับทุนจากราชบัณฑิตยสถานอิตาลีให้ไปศึกษาต่อที่กรุงโรมในปี พ.ศ.2497 ด้วยจดหมายแนะนำที่เขียนโดยท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เพียงเท่านั้น การเดินทางในครั้งนั้นทำให้เฟื้อ หริพิทักษ์มีโอกาสได้เยี่ยมชมศิลปะ สถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรม จนทำให้เฟื้อ หริพิทักษ์ มีผลงานที่มีความสวยงาม ได้รับการชื่นชมจำนวนมาก
ฝีมือของเฟื้อ หริพิทักษ์ต่อการวาดภาพในเวลานั้นมีความโดดเด่นเป็นที่จับตามอง แต่แล้วท่านกลับเลือกที่จะหันมาอนุรักษ์จิตรกรรมและศึกษาศิลปะไทย แม้ในระยะแรกอาจารย์ศิลป์จะทัดทานด้วยเสียดายในฝีมือ แต่อาจารย์ศิลป์ก็ต้องยอมรับเมื่อเห็นผลงานค้นคว้าทางด้านการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังของเฟื้อ หริพิทักษ์
ผลงานคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์เฟื้อได้เผยตัวสู่สายตาชาวต่างชาติเป็นครั้งแรกเมื่อรัฐบาลไทยนำงานของท่านไปเปิดแสดงที่สถานทูตไทยในอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 ก่อนที่งานเหล่านี้จะถูกนำมาจัดแสดงในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2495 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้เห็นคุณค่างานศิลปะของไทยที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังและรวมไปถึงสถาปัตยกรรมไทยสมัยโบราณ
นอกจากงานคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้ว เฟื้อ หริพิทักษ์ยังได้เดินทางออกไปสำรวจและศึกษาวิจัยศิลปะในวัดและโบราณสถานต่าง ๆ ในหลายจังหวัด และได้มีผลงานนเขียนเส้นปูชนียสถานเหล่านั้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาค้นคว้าเอกลักษณ์ศิลปกรรมไทย
ผีหอไตร
ผลงานการอนุรักษ์ชิ้นสำคัญที่ท่านทุ่มเทแรงกายแรงใจมากว่า 20 ปี คือ งานอนุรักษ์หอไตรวัดระฆังโฆษิตาราม ความสนใจของท่านเริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่อาจารย์เฟื้อกลับจากต่างประเทศและหันมาสนใจศิลปะไทยอย่างจริงจัง วันหนึ่งท่านได้ไปอ่านพบลายพระหัตถ์โต้ตอบระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งกล่าวถึงงานชิ้นเยี่ยมของพระอาจารย์นาค ช่างฝีมือเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งอยู่ที่หอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม
ก่อนที่เฟื้อ หริพิทักษ์จะเข้าไปสำรวจ หอไตรแห่งนี้ตั้งอยู่กลางสระน้ำข้างเมรุของวัด มีสภาพทรุดโทรม ภายในใช้เป็นที่เก็บของ เป็นกุฏิ บางทีก็ใช้เป็นที่เก็บศพเพื่อรอการฌาปนกิจ หลังคารั่ว ตัวไม้ผุ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนหาย มีเขม่าธูปเทียนเคลือบจับอยู่เต็มไปหมด เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งเวลานั้นอายุจวน 50 ค่อย ๆ ใช้น้ำยาเช็ดทำความสะอาดฝาผนังที่เขรอะไปด้วยเขม่าธูปเทียน จากจุดเล็ก ๆ ที่ใช้น้ำยาชำระจนขยายใหญ่ขึ้น ในที่สุดเฟื้อ หริพิทักษ์ได้พบภาพศิลปะชั้นครู หลังจากที่ฝังตัวอยู่ใต้คราบเขม่าเป็นเวลาหลายร้อยปี
เฟื้อ หริพิทักษ์ หมกตัวทำงานอนุรักษ์ของท่านอย่างเงียบ ๆ ที่หอไตรแห่งนี้ ในช่วงหลัง ท่านเร่งมือทำงานอย่างหนักเพื่อให้การบูรณะหอไตรเสร็จทันฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 จนกระทั่งล้มเจ็บ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้การรักษาพยาบาลแก่เฟื้อ หริพิทักษ์
บั้นปลายชีวิต
ช่วงบั้นปลายชีวิต เมื่อว่างจากการสอนหนังสือ เฟื้อ หริพิทักษ์จะใช้เวลาไปกับการร่างภาพพระประธานขนาดใหญ่ คือ ภาพพระศรีอริยเมตไตรย งานชิ้นนี้เป็นงานที่ท่านทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และสติปัญญาเป็นอย่างมาก การทุ่มเททำงานหนักมาตลอดชีวิต ประกอบกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อาจารย์เฟื้อล้มป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลศิริราช นับแต่ปี พ.ศ. 2533
บ่ายวันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2536 เฟื้อ หริพิทักษ์ ครูผู้ยิ่งใหญ่และผู้อุทิศตนเพื่อศิลปะทั้งปวง ก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 83 ปี
ข้อมูลอ้างอิง
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (2560, 8 พฤศจิกายน). วิญญาณขบถของลูกผู้ชายชื่อ เฟื้อ หริพิทักษ์. 101 world. https://www.the101.world/fua-haripitak/
ธีระ วานิชธีระนนท์. (2566). 111 ปี ชาตกาล เฟื้อ หริพิทักษ์. บริษัท วิชั่น พรีเพลส จำกัด.