หน้ากากในการแสดงละครโน
ในยุคแรกเริ่ม ละครโน (Noh) หรือ โนงะคุ (Nohkaku) เป็นการแสดงพื้นบ้านวรรณคดีประเภทละครของญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดมาจากเพลงสวดและการร่ายรำบูชาเทพเจ้าที่เกิดขึ้นในสมัยมุโรมะจิ (Muromachi) ต่อมาการแสดงละครโนได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชนชั้นปกครอง นักรบและซามูไรในสมัยนั้น ทำให้ ละครโน หรือ โนงะคุ กลายเป็นการแสดงละครของชนชั้นสูงที่นักแสดงจะสวมหน้ากากและแต่งกายในเสื้อผ้าแบบโบราณ
ละครโน หรือ โนงะคุ (能楽・NOHGAKU)* เกิดจากการนำตัวอักษรคันจิ 2 คำมารวมกัน ได้แก่「能・NOH」แปลว่า ทักษะหรือความสามารถ และ「楽・RAKU」แปลว่า ง่าย สบาย จึงมีความหมายแฝงรวมว่าเป็นการแสดงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถด้านศิลปะอันงดงามวิจิตรแต่อยู่บนความเรียบง่าย
* หมายเหตุ เป็นการผันเสียงตามกฎการออกเสียงภาษาญี่ปุ่น (NOH+RAKU = NOUGAKU)
(ที่มา https://www.teelangka.com/noh)
เมื่อ ค.ศ. 1957 องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ละครโน เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าแห่งประเทศญี่ปุ่น ต่อมาใน ค.ศ. 2001 UNESCO ก็ประกาศให้ละครโน เป็น “งานชิ้นเอกแห่งมรดกภูมิปัญญาและวาจาของมนุษยชาติ” (Masterpieces of the Oral and Intangible Heritage of Humanity) และใน ค.ศ. 2008 ละครโน ได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกอีกด้วย
การแสดงละครโนมี 2 รูปแบบ คือ โน (Noh) กับ เคียวเง็น (Kyougen)
โน เป็นการแสดงบนเวทีซึ่งเน้นเรื่องศิลปะการร้องเพลงและร่ายรำ โดยตัวละครหลักของโนเรียกว่า “ชิเตะ (Shite)” ส่วนตัวละครสมทบเรียกว่า “วากิ (Waki)” ซึ่งการแสดงนั้นจะดำเนินเรื่องราวไปด้วยตัวละครทั้งสองเป็นหลัก “ชิเตะ”หรือตัวละครหลักจะมีบทบาทที่หลากหลาย ผู้ชมสามารถทราบบทบาทได้จากสีหน้าหรือประเภทของหน้ากาก
เคียวเง็น เป็นละครตลก บอกเล่าเรื่องราวที่น่าขบขันต่าง ๆ ที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตของคนธรรมดาผ่านบทสนทนาและใช้วิธีดำเนินเรื่องด้วยการพูดคุยแบบธรรมดาตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม
หน้ากาก หรือ โนเมน (Nohmen) ในการแสดงละครโน
ในการแสดงละครโนนั้น นักแสดงทุกคนต้องสวมหน้ากากตามบทบาทที่ได้รับ อันสะท้อนให้เห็นอารมณ์ บุคลิก เพศ และอายุ ของตัวละคร ดังนั้น หน้ากากที่ใช้ในการแสดงละครโนนั้น จึงมีจำนวนมากถึง 60 แบบ และแต่ละแบบมีลักษณะรวมกันแล้วมากกว่า 200 ลักษณะ แต่กระนั้น หน้ากากบางแบบอาจถูกใช้แสดงหลายบทบาทตามบทละคร ในขณะที่หน้ากากบางแบบ ซึ่งมีน้อยกว่า ถูกใช้แสดงบทบาทที่เฉพาะเจาะจงมากในบทละครโนเพียงแค่ 1 หรือ 2 บทเท่านั้น
ชื่อเรียกหน้ากากแต่แบบนั้น เรียกกันตามลักษณะตัวละครตามวัย เช่น หน้ากากอุบะ (uba) แสดงถึง “หญิงมีอายุ” หรือ หน้ากากจูโรกุ (jûroku) แสดงถึง “เด็กหนุ่มอายุ 16 ปี” แต่บางครั้งก็เรียกชื่อหน้ากากตามบทบาทของตัวละครนั้น เช่น ซึริมะนะโกะ (tsuri-manako) คือ หน้ากากปีศาจประเภทหนึ่ง
รูปที่ 1 ตัวอย่างหน้ากากที่ใช้ในการแสดงละครโน
https://www.teelangka.com/noh/
หน้ากากที่ใช้ในการแสดงละครโน สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ตามบุคลิกของตัวละคร ได้จำนวน 6 รูปแบบ ดังนี้
1. โอะกินะ (Okina) หรือ “หน้ากากชายชรา” หน้ากากรูปแบบนี้ ใช้แสดงในเทศกาลปีใหม่ หรือเทศกาลพิเศษเท่านั้น หน้ากากโอะกินะ เป็นหน้ากากที่ใช้มาตั้งแต่การแสดงละครโนในสมัยเฮอันตอนปลาย ซึ่งเป็นรูปแบบของหน้ากากที่มีมาก่อนหน้ากากรูปแบบอื่น
รูปที่ 2 ชื่อหน้ากาก Hakushiki-jō ประเภทหน้ากากโอะกินะ
https://www.the-noh.com/sub/jp/index.php?mode=db&action=e_view_detail&data_id=17&class_id=1
2. โจ (Jō) หรือ “หน้ากากชายสูงอาย” หน้ากากรูปแบบนี้มีลักษณะเด่นที่เส้นผมและหนวด ใช้สำหรับการแสดงของตัวละครหลัก เช่น การแสดงละครเกี่ยวกับเทพเจ้า นักแสดงมักสวมใส่หน้านี้เพื่อสวมบทบาทเทพซึ่งลงไปจุติยังโลกมนุษย์
รูปที่ 3 ชื่อหน้ากาก (Koushi-jōประเภทหน้ากากโจ
https://www.the-noh.com/sub/jp/index.php?mode=db&action=e_view_detail&data_id=34&class_id=1
3. โอะโทะโกะ (Otoko) หรือ “หน้ากากผู้ชาย” หน้ากากรูปแบบนี้ใช้สำหรับบทบาทตัวละครฝ่ายชายตามบทบาทที่ได้รับ เช่น หน้ากากชูโจ (Chūjō) ซึ่งเป็นหน้ากากที่ใช้แสดงละครโนได้หลายเรื่อง
รูปที่ 4 ชื่อหน้ากาก Chūjō ประเภทหน้ากากโอะโทะโกะ
https://www.the-noh.com/sub/jp/index.php?mode=db&action=e_view_detail&data_id=28&class_id=1
4. อนนะ (Onna) หรือ “หน้ากากผู้หญิง” หน้ากากรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดของการแสดงละครโน เป็นรูปแบบที่มีหน้ากากหลายประเภทเช่นกัน ตามแต่ละบทบาทของตัวละคร เช่น หน้ากากวะกะ-อนนะ (Waka-onna) หน้ากากชิโระ-ชากุมิ (Shiro-shakumi) และ หน้ากากอุบะ (Uba)
รูปที่ 5 ชื่อหน้ากาก Waka-onna ประเภทหน้ากากอนนะ
https://www.the-noh.com/sub/jp/index.php?mode=db&action=e_view_detail&data_id=45&class_id=1
5. กิชิน (Kishin) หรือ หน้ากากปีศาจ หน้ากากประเภทนี้ใช้ในการแสดงถึงตัวละครปีศาจ หรือ เท็งงุ (Tengu) ซึ่งมีความดุร้าย และมีพลังทำลายล้าง
รูปที่ 6 ชื่อหน้ากาก Yakan ประเภทหน้ากากกิชิน
https://www.the-noh.com/sub/jp/index.php?mode=db&action=e_view_detail&data_id=22&class_id=1
6. องเรียว (Onryo) หรือ “หน้ากากภูตผี” หน้ากากประเภทนี้ใช้แสดงถึงวิญญาณของผู้ตายทั้งฝ่ายชายและหญิง ซึ่งมักมีความเสียใจและต้องการกลับมาแก้แค้น โดยมีหน้ากากในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีคือหน้ากากฮันเนียะ (Hannya)
รูปที่ 7 ชื่อหน้ากาก Hannya ประเภทหน้ากากองเรียว
https://www.the-noh.com/sub/jp/index.php?mode=db&action=e_view_detail&data_id=11&class_id=1
หน้ากากจึงเป็นองค์ประอบหนึ่งที่สำคัญในการแสดงละครโน หรือ โนงะคุ ซึ่งมีธรรมเนียมสำคัญที่ไม่อนุญาตให้นักแสดงนำเปิดเผยโฉมหน้าจริงให้กับผู้ชมได้เห็น หน้ากากละครโนเป็นเครื่องมือที่แสดงอารมณ์และการแสดงออกของตัวละครผ่านการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากการขยับใบหน้าในมุม ขึ้นและลง ซ้ายและขวา
รายการอ้างอิง
-
Live Japan. (2560, 14 มีนาคม). Nougaku (ละครโน). https://livejapan.com/th/article-a0000298/
-
MISTERZUMO. (2561, 8 ตุลาคม). “ละครโน” มรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น (ตอนที่ 2). ตีลังกาhttps://www.teelangka.com/noh/
-
Noël, Percy. Etudes sur le drame lyrique japonais (nô). = ศึกษาเรื่องละครโน (Nō) ของญี่ปุ่น. ฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม.https://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/th/website/oldbook/detailbook/5636
-
Noh Mask Database. (n.d.) Noh Mask. https://www.the-noh.com/index.html
-
สมาคมรวมกิจการสาธารณประโยชน์ สำนักงานใหญ่การท่องเที่ยวเฮียวโงะ. (ม.ป.ป.). สัมผัสประสบการณ์ศิลปะแบบดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก "โนห์" ที่ "โรงละครนิชิโนะมิยะโนห์"! สัมผัสประสบการณ์ประวัติศาสตร์ 700 ปี. MATCHA JAPAN. https://matcha-jp.com/th/12667