“...เกาะซะร็อนดีบ มีขนาด 80 ตารางฟัรซัค ที่นี่มียอดเขาซึ่งอาดัม (ขอความโปรดปรานจากอัลลอฮ์และความศานติจงมีแด่ท่าน) ลงมาบนโลก ภูเขาลูกนี้สูงเทียมฟ้าและสามารถสังเกตเห็นได้จากเรือในทะเลเป็นระยะทางหลายวัน พวกพราหมณ์ นักบวชของอินเดียเล่าว่า บนยอดเขานี้มีรอยเท้าข้างหนึ่งของอาดัมประทับอยู่บนก้อนหิน มีความยาวประมาณ 70 ศอก บนภูเขามีเสียงอึกทึกกึกก้องราวกับฟ้าร้องอยู่ตลอดเวลา เมื่ออาดัมก้าวเดิน รอยเท้าอีกข้างได้ลงไปในทะเลห่างไปเป็นระยะทางถึง 2-3 วัน บนภูเขาโดยรอบอุดมด้วยทับทิมหลากหลายสีและรูปทรง เช่นเดียวกับในลำธารและหุบเขาก็มีรัตนชาติอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีไม้กฤษณา พริกไทย และไม้หอม บนเกาะซะร็อนดีบมีผงแร่สำหรับขัดอัญมณี ในแม่น้ำมีหินล้ำค่าและในทะเลมีไข่มุก...”
ตำราเส้นทางและอาณาจักร (กิตาบ อัลมะซาลิก วะ อัลมะมาลิก)
อิบนุ คุรดาษบิฮ์
นักภูมิศาสตร์มุสลิมเปอร์เซีย ราวปีค.ศ.870
ผู้อ่านบางท่านอาจเคยได้ยินศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า “Serendipity” (เซอ-รัน-ดิป-เปอ-ดี) แปลว่า “การมีโชคในการค้นพบสิ่งต้องการโดยบังเอิญ” (An unsought, unintended, and/or unexpected, but fortunate, discovery and/or learning experience that happens by accident) แต่อาจไม่ทราบว่าคำๆ นี้ที่จริงแล้วมีรากศัพท์มาจากคำว่า “ซะร็อนดีบ” (سَرَنْدِيب : sarandib) ที่ชาวอาหรับ-เปอร์เซียใช้เรียก “ศรีลังกา” มาเป็นเวลานานนับพันปี คำว่า “Serendipity” ปรากฏในภาษาอังกฤษราวปีค.ศ.1754 จากวรรณกรรมแปลจากภาษาอิตาลีและฝรั่งเศสเรื่อง The Three Princes of Serendip ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับถ่ายทอดมาจากนิทานของชาวเปอร์เซีย โดยเนื้อเรื่องว่าด้วยเจ้าชาย 3 พระองค์ จากดินแดนปลายบูรพาทิศนามว่า “ซะร็อนดีบ” ทั้ง 3 พระองค์ถูกพระราชบิดาเนรเทศออกจากราชอาณาจักรด้วยเหตุเพราะขัดพระบัญชา จำต้องระเหเร่ร่อนในทะเลทรายจนไปพบกับเหตุการณ์ที่นำโชคลาภมาให้โดยความบังเอิญ จึงกลายเป็นที่มาและความหมายของคำศัพท์ดังกล่าว
เมื่อทำการสืบตามบันทึกเกี่ยวกับ “ซะร็อนดีบ” พบว่าเริ่มปรากฏในเอกสารและวรรณกรรมช่วงเวลาไม่ถึงสามศตวรรษหลังจากที่ชาวอาหรับเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในตอนกลางศตวรรษที่ 7 และได้แผ่ขยายอิทธิพลทางการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจการค้าไปอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังสืบทอดมรดกการค้าทางทะเลในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean) ของชาวเปอร์เซียซาซาเนียน (Sasanians) และชาวอาหรับใต้ (Southern Arabs) ซึ่งเป็นชนชาติที่ช่ำชองการเดินเรือมาตั้งแต่โบราณกาล ชาวมุสลิมอาหรับ-เปอร์เซียได้พัฒนาเมืองท่าในอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf) และทะเลแดง (Red Sea) ให้เป็นประตูการค้าที่เชื่อมต่ออาณาจักรอิสลามกับดินแดนมั่งคั่งแห่งบูรพาทิศ “ศรีลังกา” ดินแดนที่มีความมั่งคั่งและเลื่องลือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัญมณี รัตนชาติ และผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ จึงได้เข้ามาอยู่ในรายชื่อสถานที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่ถูกกล่าวถึงโดยชาวกรีก-โรมัน, จีน, อินเดีย, และอาหรับ-เปอร์เซีย ในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางค้าบน 'เส้นทางสายไหมทะเล' (Maritime Silk Route) เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกซีกตะวันออกและตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย
ภาพที่ 1 เกาะซะร็อนดีบ ในแผนที่โลก Tabula Rogeriana ปรับปรุงจากต้นฉบับของมุฮัมมัด อัลอิดริซีย์ (Muhammad al-Idrisi) นักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิมอาหรับ (ศตว.12)
ที่มา: ดัดแปลงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Muhammad_al-Idrisi#/media/File:TabulaRogeriana_upside-down.jpg
ในช่วงศตวรรษที่ 9 - 10 เข้าสู่สมัยรุ่งเรืองของเส้นทางแพรไหมทะเลของชาวมุสลิมซึ่งตรงกับสมัยเคาะลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ (Abbasid Caliphate) นับเป็นสมัยที่ตำรับตำราและวรรณกรรมภาษาอาหรับ และภาษาเปอร์เซีย (ฟาร์ซี) เฟื่องฟูด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ นักภูมิศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมมีความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับดินแดนที่ห่างไกลโพ้นอาณาเขตของอาณาจักรอิสลามออกไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายพรมแดนความรับรู้เกี่ยวกับ “คนอื่น” แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการเมือง ความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าอีกด้วย โดยข้อมูลเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากเหล่าพ่อค้านักเดินเรือตามเมืองท่าในอ่าวเปอร์เซียและทะเลแดงที่เสี่ยงตายเดินทางออกไปติดต่อค้าขาย ซึ่งช่วยเปิดเผยเส้นทางการเดินเรือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร สินค้า ตลอดจนสภาพสังคมวัฒนธรรมของดินแดนต่างๆ ทำให้เอกสารโบราณกลุ่มเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงก่อนสมัยอาณานิคมของชาวยุโรป (ศตว.16) ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ “ศรีลังกา” ไว้ได้อย่างน่าสนใจเช่น เอกสารบันทึกพ่อค้า (Merchant account) - คำบอกเล่าจากจีนและอินเดีย (Accounts of China and India) โดย ผู้แต่งนิรนาม (ค.ศ.851) หรือ ตำราภูมิวรรณา (Descriptive Geography) - ตำราเส้นทางและอาณาจักร (The Book of Roads and Kingdoms) โดย อิบนุ คุรดาษบิฮ์ (Ibn Khurdadhbih - ราวค.ศ.870) แม้กระทั่งวรรณกรรมประเภท “อะญาอิบ” (Marvels) ที่เป็นต้นเค้าให้กับนิทานเรื่อง ซินด์บาด จอมกะลาสี (Sindbad the Sailor) อย่าง ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย (The Book of Marvels of India) โดย บุซุร์ก บิน ชะฮ์ริยาร แห่งรอมฮุรมุซ (Buzurg ibn Shariyar ar-Ramhurmuzi - กลางศตว.10) เป็นต้น
ภูมินามของศรีลังกา ที่ปรากฏในเอกสารอาหรับ-เปอร์เซียมีอยู่หลายชื่อด้วยกัน ได้แก่
1) ซะร็อนดีบ (سرنديب : sarandib) เป็นชื่อเรียกศรีลังกาที่เก่าที่สุด ปรากฏในเอกสารโบราณช่วงกลางศตวรรษที่ 9 ต่อเนื่องมาจนกระทั่งศตวรรษที่ 13 โดยเป็นการเพี้ยนเสียงจากคำว่า “สิงหลทวีป” (Siṁhaladip) หากพิจารณาเอกสารโบราณกลุ่มอื่นประกอบแล้วพบว่าและคำนี้ใกล้เคียงกับ “Sielediba” ในตำรา Christian Topography ของ คอสมัส อินดิโกพลูสทีส (Cosmas Indicopleustes) นักบวชเนสโตเรียน (ศตว.6) ซึ่งกล่าวว่า “เป็นชื่อที่ชาวอินเดียเรียกเกาะศรีลังกา”
2) ฏ็อบรูบานีย์ (طبروباني : ṭabrubāna) เป็นชื่อที่ชาวอาหรับหยิบยืมจากตำรา “ภูมิวรรณนา” ของเคลาเดียส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก (ศตว.2) ว่า “ตาโปรบานา” (Ταπροβανᾶ) ซึ่งเป็นคำภาษากรีกที่ถ่ายถอดมาจาก “ตามรปรรณี” ที่เรียกศรีลังกาในคัมภีร์มหาวงศ์ที่โยงถึงตำนานของเจ้าชายวิชัย ผู้สถาปนาเป็นกษัตริย์ชาวสิงหลพระองค์แรกของเกาะลังกา
3) ซีลาน (سيلان : silān) สันนิษฐานว่าปรากฏครั้งแรกในตำรา นามานุกรมแว่นแคว้น (Dictionary of Countries) ของ ยากูต อัลฮะมะวีย์ (Yaqut al-Hamawi - ครึ่งแรกศตว.13) สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “สิงหล” (siṁhala) และตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะได้รับการถ่ายคำไปให้ชาวยุโรปจนกลายเป็นคำว่า “ซีเลา” (Ceilão) ในภาษาโปรตุเกส และ “ซีลอน” (Ceylon) ในภาษาอังกฤษภายหลัง
3) ซังกาดีบ (سنكاديب : sankādib) และ ซิมกอดะฮ์ดีบ (سمقاده ديب : simqādahdib) เป็นที่แน่ชัดว่ามาจากคำว่า “สิงหลทีป” ใน ตำราภูมิศาสตร์ (กิตาบ อัลญุฆรอฟียา) โดย อิบนุ สะอีด อัลมัฆริบีย์ (Ibn Said al-Maghribi - ศตว.13) นักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับ ได้อธิบายว่าคำๆ นี้มาจากภาษาอินเดีย (ลุเฆาะฮ์ ฮินดีย์) แปลว่า “แท่นสิงโตหมอบ” โดยเขานำไปเชื่อมโยงกับลักษณะของภูเขาลูกหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายสิงโตหมอบ