"วชิรญาณวิเศษ" เดิมเขียนว่า "วชิรญาณวิเสศ" เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีกำหนดออกเป็นรายสัปดาห์
วชิรญาณวิเศษ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยกรรมสัมปาทิกสภาปีที่ 4 พ.ศ. 2427 มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ (พระยศขณะนั้น) เป็นสภานายก ทรงคิดจะจัดทำหนังสือข่าวสารของหอพระสมุดวชิรญาณให้แตกต่างจากหนังสือวชิรญาณที่ได้ออกมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน โดยการออกหนังสือขึ้นอีกเล่มชื่อว่า "วชิรญาณวิเศษ" กำหนดออกทุก 3 วัน คือวันอาทิตย์และวันพฤหัสบดี ควบคู่กันกับการออกหนังสือวชิรญาณ จุดประสงค์ของวชิรญาณวิเศษ คือรายงานข่าวราชการที่เกิดขึ้นทุกวันโดยพิมพ์แจกสมาชิกหอพระสมุดฯ เพื่อทราบ หนังสือนี้ออกได้ไม่นานจึงยกเลิก เนื่องจากโรงพิมพ์หลวงไม่มีกระดาษสำหรับพิมพ์
ต่อมาเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ได้ทรงรื้อฟื้นหนังสือวชิรญาณเศษขึ้น แล้วเปลี่ยนเวลาออกและวัตถุประสงค์เสียใหม่เป็นออกทุก 7 วัน ฉบับแรก เมื่อวัน 3 เดือน 2 ขึ้น 8 ค่ำ ปีระกา สัปตศก จ.ศ. 1247 ตรงกับวันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2429 และมีเนื้อหาสาระเพิ่มมากขึ้น กำหนดให้กรรมสัมปาทิกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเรียบเรียงเรื่องมาลง อีกทั้งอัญเชิญสมาชิกร่วมเขียนเรื่องมาลงพิมพ์ด้วย ขณะเดียวกันเมื่อทรงออกวชิรญาณวิเศษแล้ว วชิรญาณรายเดือนที่ออกอยู่จึงทรงยกเลิกไป
วชิรญาณวิเศษที่ออกใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปเล่ม คือ กว้าง 24 ซม. ยาว 32 ซม. วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องแสวงหาความรู้ตลอดจนความบันเทิงแก่สมาชิกหอพระสมุดฯ ดังนั้นเนื้อหาภายในเล่มจึงเป็นเรื่องดีๆ น่ารู้น่าอ่านมากมาย ทั้งโคลง กาพย์ กลอน ขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมือง เรื่องเหล่านี้กรรมสัมปาทิกและสมาชิกแต่งขึ้นเองบ้าง แปลจากหนังสือบ้างอื่น วชิรญาณวิเศษออกอยู่นาน 9 ปี 9 เล่ม จึงยกเลิกไป
วชิรญาณวิเศษ เล่ม 1 แผ่นที่ 30
รายนามวชิรญาณวิเศษ ที่ออกทั้งสิ้น 9 ปี ดังนี้
- วชิรญาณวิเศษ เล่ม 1 ปีระกา สัปตศก 1247 - ปีจอ อัฐศก 1248 ผู้รับผิดชอบคือ กรรมสัมปาทิกปีที่ 5 มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก วชิรญาณวิเศษเล่มนี้จัดพิมพ์ทั้งหมด 38 แผ่น จำนวน 405 หน้า
- วชิราญาณวิเศษ เล่ม 2 ปีจออัฐศก 1248 - ปีกุน นพศก 1249 ผู้รับผิดชอบคือ กรรมสัมปาทิกปีที่ 6 มีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก รวมออกทั้งสิ้น 48 แผ่น 389 หน้า
- วชิราญาณวิเศษ เล่ม 3 ปีกุน นพศก 1249 - ปีชวด สัมฤทธิศ 1250 ผู้รับผิดชอบคือ กรรมสัมปาทิกปีที่ 7 มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก รวมออกหนังสือทั้งสิ้น 52 แผ่น จำนวน 420 หน้า
- วชิราญาณวิเศษ เล่ม 4 ปีชวด สัมฤทธิศ 1250 - วันที่ 13 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 108 ผู้รับผิดชอบคือ กรรมสัมปาทิกปีที่ 8 มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับแทนสภานายก รวมออกหนังสือทั้งสิ้น 50 แผ่น จำนวน 592 หน้า
- วชิราญาณวิเศษ เล่ม 5 วันที่ 20 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 108 - วันที่ 2 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก 109 ผู้รับผิดชอบ คือกรรมสัมปาทิกปีที่ 9 มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก รวมออกหนังสือทั้งสิ้น 55 แผ่น จำนวน 660 หน้า
- วชิราญาณวิเศษ เล่ม 6 วันที่ 6 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก 109 - วันที่ 15 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 110 ผู้รับผิดชอบ คือกรรมสัมปาทิกปีที่ 10 มีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก รวมออกหนังสือทั้งสิ้น 50 แผ่น จำนวน 610 หน้า
- วชิราญาณวิเศษ เล่ม 7 วันที่ 22 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 110 - วันที่ 6 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 111 ผู้รับผิดชอบคือ กรรมสัมปาทิกปีที่ 11 มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก รวมออกหนังสือทั้งสิ้น 51 แผ่น จำนวน 612 หน้า
- วชิราญาณวิเศษ เล่ม 8 วันที่ 13 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 111 - วันที่ 26 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 112 ผู้รับผิดชอบคือ กรรมสัมปาทิกปีที่ 12 มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก รวมออกหนังสือทั้งสิ้น 55 แผ่น จำนวน 660 หน้า
- วชิราญาณวิเศษ เล่ม 9 วันที่ 2 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก 112 - วันที่ 27 กันยายน รัตนโกสินทร์ศก 113 ผู้รับผิดชอบ คือกรรมสัมปาทิกปีที่ 13 มีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล (พระยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก รวมออกทั้งสิ้น 48 แผ่น จำนวน 576 หน้า
กรรมสัมปาทิก คือ?
กรรมสัมปาทิก ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน ให้ความหมายว่า บุคคลที่ได้รับเลือกหรือแต่งตั้งให้ทําหน้าที่กรรมการของสมาคม (ส. กรฺม + สมฺปาทิก = ผู้ให้ถึงพร้อม)
กรรมสัมปาทิกและสมาชิกของหอพระสมุดในขณะนั้นได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) และบุคคลอื่นซึ่งล้วนเป็นนักปราชญ์ผู้ทรงภูมิความรู้อย่างยิ่งของสังคมไทย
อ้างอิง
กรรมสัมปาทิกปีที่ 5 (บก.). (2429). วชิรญาณวิเศษ เล่ม 1 แผ่น 1. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรพิมพการ.
มูลนิธิสมเด็จพระรัตนราชสุดา. (2561). คำนำ ในหนังสือ "รวมสารบัญหนังสือชุดวชิรญาณ". กรุงเทพ: มูลนิธิสมเด็จพระรัตนราชสุดา.
ฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม, (2552). วชิรญาณวิเศษ, https://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/th/website/oldbook/mainbook/1.
อ่านเพิ่มเติมไปที่ฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม