นั่ง “ยอง” “ยองๆ” หรือ “หย่อง” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “squat” เป็นลักษณะการนั่งชันเข่าทั้ง 2 ข้าง โดยที่ก้นไม่ถึงพื้น น้ำหนักของร่างกายจะทิ้งลงเท้าทั้ง 2 ข้าง (เช่นเดียวกับการยืน) ข้อเข่าจะงออย่างเต็มที่
สังคมไทยคุ้นชินกับการนั่งยองๆ เป็นอย่างดี สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ในทุกเพศทุกวัย และแทบจะในทุกสถานที่
ผู้อ่านส่วนใหญ่อาจนึกไปถึงหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ หรือพระเทพวิทยาคม ที่มักนั่งยองเป็นประจำจนกลายเป็นเอกลักษณ์ สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือสารพัดวัตถุมงคล เหรียญหลวงพ่อ รูปหลวงพ่อนั่งยองๆ สูบยา เกิดการขับเคลื่อนทั้งในเรื่องศาสนาความเชื่อและเชิงเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
ท่านให้เหตุผลว่าการนั่งยองนั้น เป็นท่านั่งที่สบายที่สุด เป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวกในการทำงาน
ราวกลางปี 2554 ท่านั่งยองปรากฏอยู่ในเทรนด์หรือกระแสความนิยมใหม่ใน social network ของโลกตะวันตก เป็น viral ต่อจากแพลงกิ้ง (Planking) นั่นคือ “Owling”
Owling คือการนั่งยองๆ ในที่สาธารณะหรือสถานที่แปลกๆ โดยที่แขนจะยืดตรงอยู่ข้างลำตัว ศีรษะหันไปมองอะไรสักอย่างไกลๆ เหมือนนกฮูก (owl) จากนั้นก็ถ่ายรูปลงเผยแพร่และแชร์ต่อๆ กันใน social network (http://thumbsup.in.th/2011/07/owling)
ปัจจุบัน ‘บางคน’ เห็นว่าการนั่งยองๆ เป็นท่าทางที่ไม่สุภาพ และส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
ตัวอย่างหนึ่งเห็นได้จากเมื่อ 2-3 ปีก่อน กระทรวงสาธารณสุขของไทยรณรงค์ให้ประชาชนใช้โถส้วมแบบนั่งราบห้อยขาแทนส้วมแบบนั่งยอง เพื่อป้องกันปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยให้เหตุผลว่าการนั่งยองงอเข่า ทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก เร่งข้อเข่าให้เสื่อมเร็ว จนภายหลังออกเป็น “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2556”
แต่อีกฝั่งหนึ่ง (ที่ดูเหมือนว่ามีผลการศึกษาจากฝั่งตะวันตกสนับสนุนมากกว่า) ก็เห็นว่าท่านั่งในลักษณะดังกล่าวมีผลดีมากกว่าผลเสีย เป็นประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน อวัยวะภายในช่องท้อง และระบบขับถ่าย (ดูรายละเอียดได้ใน http://www.naturesplatform.com/health_benefits.html#historical)
ด้านประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมของการนั่งยอง สามารถหาอ่านได้จากงานเขียนของคุณเจนจิรา เบญจพงศ์ เรื่อง “ท่านั่งยอง ของคนยุคก่อน” ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ 20 – 26 พฤษภาคม 2554 (http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2011/05/20052554/) และงานเขียนเรื่อง “ยองๆ และชันเข่า ท่านั่งของ หลวงพ่อคูณ วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์” ของ ‘ผู้สื่อข่าวพิเศษ’ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน (http://www.prachachat.net/webmobile/news_detail.php?newsid=1432803018) ที่ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า การนั่งยองเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์นับพันปีมาแล้ว พบตั้งแต่เกิดจนตาย มีมิติทั้งเรื่องพฤติกรรม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความสำรวมในกิริยา รวมไปถึงเป็นสิ่งบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก
ด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยากายภาพ การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การนั่งยองเป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานรหรือไพรเมต (order Primate) ทั้งสัตว์จำพวกลีเมอร์ ลิงมีหาง ลิงไม่มีหาง มนุษย์ และบรรพบุรุษมนุษย์ ทั้งที่เป็นท่านั่งในชีวิตประจำวัน ท่านั่งสำหรับทำกิจกรรมที่อยู่กับที่ ท่าปีนป่ายเกาะต้นไม้ ท่าที่ใช้ขับถ่าย ท่าที่ตัวอ่อนทำขณะอยู่ในท้องแม่ ท่าทางของแม่ที่ใช้คลอดลูก ท่าเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนที่ ทั้งการเคลื่อนที่ธรรมดาและการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เช่น การล่าและการหนี
เรียกได้ว่า เป็นพฤติกรรมที่ติดอยู่กับสายวิวัฒนาการ เป็นหนึ่งในอากัปกิริยาดั้งเดิมของมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันมนุษย์ เป็นท่าทางที่มีความสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของสัตว์ไพรเมตโดยตรง โดยเฉพาะส่วนขา สะโพก และหลัง
อ่านต่อที่...."ยองๆ" ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย