อำพันทะเลคืออะไร ?
หนึ่งในส่วนผสมน้ำหอมที่ทรงคุณค่าและมีเรื่องราวอันน่าพิศวงที่สุดมาตั้งแต่โบราณกาล คือ อำพันทะเล บ้างเรียก อำพันขี้วาฬ เป็นอินทรียวัตถุ มีลักษณะเป็นก้อน มัน มีสีเทา ล่องลอยอยู่ในทะเล (ส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย) และมักถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยฝั่ง สำหรับชาวตะวันตกแล้ว ต้นกำเนิดของอำพันทะเลยังคงเป็นปริศนาจนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ที่มีการค้นพบว่าก้อนอำพันทะเล อันที่จริงแล้วคือ ก้อนไขมันและคอเลสเตอรอลในลำไส้ของ วาฬหัวทุย (Sperm Whale) ที่ถูกขับถ่ายหรือสำรอกออกมา โดยเป็นส่วนที่เหลือจากเป็นกระบวนการย่อยอาหารที่วาฬกินเข้าไป โดยเฉพาะปลาหมึกกล้วยยักษ์ (giant squid) ที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกและเป็นอาหารโปรดของวาฬหัวทุย โดยอำพันทะเลก้อนหนึ่งมักจะมีน้ำหนักหนึ่งหรือสองปอนด์ แต่อาจมากถึงเจ็ดสิบปอนด์ หรือบ้างก็มีน้ำหนักและมีขนาดใหญ่มาก อำพันทะเลสด (ในลำไส้ของวาฬ) มีกลิ่นเหม็นเน่า แต่เมื่อถูกขับถ่ายออมาลอยอยู่ในทะเลแล้ว ก็จะทำปฏิกิริยากับลมฟ้าอากาศและการผุกร่อนยาวนานหลายปี ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม โดยกรรมวิธีการได้มาซึ่ง "กลิ่นหอม" จะต้องนำไปทำละลายในแอลกอฮอล์ ซึ่งจะให้กลิ่นหอมคล้ายคลึงกับแล็บดานัม (labdanum) ซึ่งเป็นยางไม้ที่ผลิตจากพืช Cistus Ladaniferus ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน (Groom, 1992: 6)
อย่างไรก็ดี ชาวตะวันตกสมัยโบราณอย่าง ชาวกรีกและชาวโรมัน ดูเหมือนจะไม่คุ้นเคยกับอำพันทะเลสักเท่าใดนัก นั่นอาจเป็นเพราะแหล่งกำเนิดของอำพันทะเลอยู่ทางดินแดนตะวันออก ด้วยเหตุนี้เอง "การใช้งาน" และ "บันทึก" เกี่ยวกับอำพันทะเล จึงมาจาก พ่อค้าอาหรับ-เปอร์เซีย ที่ล่องเรือในย่านมหาสมุทรอินเดียเป็นส่วนใหญ่ กล่าวกันว่า "อำพันทะเล" มีปรากฏอยู่ในรายการของสิ่งของที่ส่งไปถวายเป็นเครื่องบรรณาการจากเยเมนถึงจักรพรรดิเปอร์เซีย (ซาซาเนียน) ในช่วงศตวรรษที่ 6 คริสต์ศตวรรษที่ 9 และอัล-คินดี ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ใช้คำนี้ในหลายที่สูตรน้ำหอมของเขา นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในรายชื่อน้ำหอมไบแซนไทน์ด้วยได้รับอนุญาตให้ขายในกรุงคอนสแตนติโนเปิลประมาณปีคริสตศักราช 895 มันสนุกชื่อเสียงเป็นยาโป๊กล่าวกันว่าอำพันแข็งสามารถคงน้ำหอมไว้ได้นานถึงสามศตวรรษหรือมากกว่า.
ปริศนา "ต้นกำเนิด" อำพันทะเล จากมุมมองชาวอาหรับ-เปอร์เซีย
หนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญสมัยโบราณเกี่ยวกับอำพันทะเล คือ เอกสารอาหรับ เพราะชาวอาหรับ-เปอร์เซีย เป็นนักเดินเรือและพ่อค้าที่เดินทางไปรอบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย จึงไม่แปลกในที่จะมีบันทึกรายงานเอกสารที่บอกเล่าถึงการพบอำพันทะเล ที่ชาวอาหรับ-เปอร์เซียเรียกว่า "อันบัร" (عنبر - Anbar) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาษายุโรปว่า Ambergris มาจากคำว่า "amber" = อำพัน + "gris" = สีเทา เนื่องจากพออำพะันทะเลเริ่มแข็งตัว ก็จะเปลี่ยนเป็นสีออกเทานั่นเอง ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าในช่วงแรกชาวอาหรับก็รู้สึกฉงนว่า อำพันทะเลมีต้นกำเนิดมาจากอะไร ? บ้างก็สันนิษฐานว่ามันงอกอยู่ใต้ก้นทะเล และจะถูกกระแสน้ำซัดหลุดออกมาเวลามีพายุคลื่นลมแรงจนกระทั่งลอยขึ้นมาเกยบนชายฝั่ง จนตอนหลังก็รู้ความจริงว่า มันคือของเสียที่วาฬ ขับถ่าย หรือ สำรอกออกมา ชาวอาหรับโซนๆริมทะเลหลายคนก็จะคอยตระเวนหาก้อนอำพัน ถึงขั้นมีการฝึกอูฐให้ดมหาเลยทีเดียว
ในตำรา "อัคบาร อัศ-ศีน วะ อัล-ฮินด์ (เรื่องเล่าจากจีนและอินเดีย)" (แต่งใน ค.ศ. 851) กล่าวว่า อำพันทะเลถูกพบในย่าน ทะเลฮัรกันด์ (Harkand Sea) ซึ่งหมายถึงบริเวณตั้งแต่ตอนปลายสุดของอนุทวีปอินเดียไปยังอ่าวเบงกอล โดยระบุว่า หมู่เกาะในบริเวณนี้ อาทิ เกาะลมีก้อนอำพันทะเลถูกคลื่นซัดขึ้นมาบ่อยครั้ง
"...คลื่นมักจะพัดพาอำพันทะเลก้อนใหญ่ขึ้นมาบนเกาะ อำพันทะเลก้อนหนึ่งอาจมีขนาดใหญ่เท่าหรือเกือบเท่ากับบ้านหนึ่งหลัง มันมีลักษณะคล้ายเห็ดที่งอกอยู่ใต้ก้นทะเลเหมือนกับปะการัง ยามเมื่อทะเลแปรปรวน อำพันทะเลก็จะถูกคลื่นซัดลอยขึ้นมา..."
โดยชาวเกาะมักนำอำพันทะเลที่เก็บได้มาแลกกับสินค้าอื่น ๆ ที่ต้องการโดยเฉพาะ โลหะ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หาไม่ได้บนหมู่เกาะเหล่านี้นั่นเอง
"...เมื่อชาวเกาะเก็บอำพันทะเลได้ ก็จะนำมันมาแลกกับก้อนโลหะ ชาวเกาะใช้ภาษามือต่อรองซื้อขายสินค้าเพราะพวกเขาไม่เข้าใจภาษาของพ่อค้า นอกจากนี้ ชาวเกาะยังว่ายน้ำได้เก่งฉกาจ จนบางครั้งพวกเขาว่ายน้ำมาฉวยก้อนโลหะจากมือพ่อค้าโดยไม่แลกเปลี่ยนสินค้าใด ๆ ก็มี..."
ส่วนในตำรา "กิตาบ อะญาอิบ อัล-ฮินด์ (ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย)" (แต่งช่วงกลางคศตวรรษที่ 10) ระบุว่า อำพันทะเลถูกนำไปขายในราคาแพงลิบลิ่วให้กับช่างทำน้ำหอมในตลาดของหัวเมืองใหญ่อย่างแบกแดด ดามัสกัส หรือไคโร นำไปใช้เป็นหัวเชื้อน้ำหอมที่ชนชั้นสูงใช้ประพรมกัน
วิธีการหา "อำพันทะเลสด"
อัล-มัสอูดีย์ (al-Mas'udi) นักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมอาหรับในศตวรรษที่ 10 ได้บันทึกเกี่ยวกับการออกหาอำพันทะเลของชาวซันจญ์ (แอฟริกาตะวันออก) ว่า
"...ในบริเวณชายฝั่งและหมู่เกาะของชาวซันจญ์ มีอำพันทะเลคุณภาพเยี่ยม มีทรงกลม สีอมฟ้า หายาก มีขนาดใหญ่ราวกับไข่นกกระจอกเทศหรือเล็กกว่านั้น อำพันทะเลจากวาฬชนิดนี้ชื่อว่า ฟาล ยามเมื่อทะเลแปรปรวน อำพันทะเลชนิดนี้จะถูกพัดขึ้นมาเกยฝั่ง ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่เท่าภูเขาหรือเล็กกว่านั้น เมื่อวาฬกินอำพันทะเลเข้าไปมันก็จะตาย และซากของมันจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ เมื่อชาวซันจญ์หรือกลุ่มชนอื่น ๆ สังเกตเห็นซากวาฬ พวกเขาจะเหวี่ยงตะขอและเชือกจากเรือไปเกี่ยวซากวาฬ แล้วจึงผ่าท้องนำอำพันทะเลออกมา อำพันทะเลจากท้องวาฬมีกลิ่นเหม็นเน่า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ช่างทำน้ำหอมของอิรักและเปอร์เซียว่า "นัดด์" ส่วนที่เหลือของอำพันทะเลนี้จะคงอยู่บริเวณหลังของวาฬ มีความบริสุทธิ์และคุณภาพสูงมาก โดยคุณภาพขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มันอยู่ในท้องวาฬ..."
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันว่า "อำพันทะเลสด" นั้น ยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นหัวน้ำหอมได้ เนื่องจากมีกลิ่นเหม็นคล้ายของเสียจากสิ่งมีชีวิต จึงจะต้องทำไปเก็บบ่มไว้ก่อนเป็นเวลานานหลายปีจึงจะนำมาใช้ได้ (Groom, 1992)
อำพันทะเลชั้นยอดจากช่องแคบมะละกา?
ในบันทึกของชาวอาหรับ-เปอร์เซียระบุว่า อำพันทะเลคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุดถูกนำเข้ามาจาก ดินแดนที่เรียกว่า ซะลาฮิฏ (Salahit) ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลทางตะวันออก ใกล้หมู่เกาะของมหาราชาแห่งซาบัจญ์ (Zabaj) หรือ อาณาจักรศรีวิชัย
"...ถัดไปคือเกาะที่เรียกว่า ซะลาฮิฏ มีอำพันทะเลลอยมาเกยฝั่งมากที่นี่ ไม่มีที่ใดในท้องทะเลจะมีอำพันทะเลคุณภาพสูงไปกว่าที่นี่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีพริกไทย พริกหาง และเครื่องเทศอื่น ๆ ด้วย และถัดไปคือเกาะที่เรียกว่า ฮัรลัจญ์ ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่ชื่อเกาะ แต่เรียกตามชื่อเจ้าเมืองผู้เป็นแม่ทัพของมะฮ์รอจญ์ (มหาราช) และยังมีเกาะชื่อว่า เฏาะวารอน ที่นี่มีการบูร ว่ากันว่าการบูรถูกนำมาปลูกบนเกาะแห่งนี้ตั้งแต่ปีฮิจเราะฮ์ 220 (ค.ศ. 835)..."
ทั้งนี้ ตำแหน่งของ "เกาะซะลาฮิฏ" ตั้งอยู่ ณ ที่ใดแน่? นักวิชาการที่ศึกษาเอกสารอาหรับเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์อย่าง G. R. Tibbetts วิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์ว่า ชาวอาหรับ-เปอร์เซีย อาจจะเรียกชื่อ "ซะลาฮิฏ" แผลงมาจากภาษามลายูโบราณ คำว่า เซอลัต (selat) แปลว่า ช่องแคบ (strait) ดังนั้น ซะลาฮิฏ คงจะเป็นดินแดนใดสักแห่งหนึ่งบริเวณช่องแคบมะละกา (Tibbetts, 1979)
เอกสารอ้างอิง
บุซุร์ก บิน ชะฮ์ริยาร. (1908). กิตาบ อะญาอิบ อัล-ฮินด์ บัรริฮิ วะ บะฮ์ริฮิ วะ ญะซาอิริฮิ (เฏาะบะอ์ อัล-เอาวัล) [ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย แผ่นดิน ทะเล และหมู่เกาะ (พิมพ์ครั้งที่ 1)]. อัล-กอฮิเราะฮ์: มัฏบะฮ์ อัซ-ซะอาดะฮ์.
บุซุร์ก บิน ชะฮ์ริยาร. (1908). กิตาบ อะญาอิบ อัล-ฮินด์ บัรริฮิ วะ บะฮ์ริฮิ วะ ญะซาอิริฮิ (เฏาะบะอ์ อัล-เอาวัล) [ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย แผ่นดิน ทะเล และหมู่เกาะ (พิมพ์ครั้งที่ 1)]. อัล-กอฮิเราะฮ์: มัฏบะฮ์ อัซ-ซะอาดะฮ์.
Groom, Nigel. (1992). The Perfume Handbook. Hong Kong: Springer-Science+Business Media, B.V.
Mackintosh-Smith, Tim (Trans.). (2014). Two Arabic Travel Books: Accounts of China and India and Mission to the Volga. New York: Library of Arabic Literature.
Tibbetts, G. R. (1979). A Study of the Arabic Texts Containing Material on South-East Asia. Leiden: E.J. Brill.
อ้างรูปหน้าปกจาก https://scentselective.com/perfume/is-ambergris-still-used-in-perfume/