(เรื่องโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย)
เมื่อโลกวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนามาบรรจบ ในบริบทที่เทคโนโลยีการพิมพ์เริ่มกระจัดกระจายไปทั่วโลก คาถาอาคมที่เคยเรียนรู้ผ่านมุขปาฐะ ระบบเลขยันต์ที่เคยจารจดเพื่อเป็นแบบเรียนสำหรับผู้คนในสังคมที่ยังต้องเผชิญหน้ากับสารพัดภัยทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ กลับถูกลดทอนคุณค่าให้กลายเป็นเพียง ‘ไสยศาสตร์’ ที่แปลความกันไปในทางที่ว่า ศาสตร์ของคนหลับ ทั้งๆ ที่จากข้อเท็จจริงความหมายเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของคำว่า ‘ไสย’ ที่มาจากภาษาบาลีว่า เสยฺย กลับมีเนื้อหาสาระที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่จะถูกสรุปในเชิงเหยียดหยามกันอย่างง่ายๆ ดังข้อมูล ในบทความทางวิชาการเรื่อง “ไสยศาสตร์เขมรเบื้องต้น : ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ” โดย กังวล คัชชิมา ที่ชี้ให้เห็นว่า เดิมที คำว่า ไสย นั้นมีความหมายว่า ประเสริฐวิเศษ หรือ ดีกว่า ประเสริฐกว่า เพราะคนโบราณได้ใช้ความรู้เหล่านี้เป็นกำลังใจในการต่อสู้กับภัยอันตราย (ดู กังวล คัชชิมา, 2547) แม้ต่อมาการยกย่องพุทธศาสนาว่าดีกว่าประเสริฐกว่าลัทธิพราหมณ์จะทำให้ เสยฺย ถูกตีความเป็นการหลับ, การนอนก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ควรทำให้คุณค่าของเอกสารโบราณที่ถูกจารจดเป็นคาถาอาคมหรือเลขยันต์ต้องถูกลดทอนความสำคัญให้กลายเป็นเพียงหลักฐานแห่งความงมงาย
ตำราคาถาอาคมในฐานะกระบวนการเรียนรู้แนวทางการรักษาสุขภาพ
“...(อักษรขอม) เมื่อจะทำสิ่งใดๆ ให้ถือสีลคิดถึงคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์และคูณครุประ
สิทธิยายคุณนางพระธรณีนางพระคงคาคุณพระฤาษีทั้งแปดพระองค์จงประสิทธิแล
ถ้าเขามาหาไปทำเมื่อไปถึงบ้านคลไข้ให้ภาวนาพระคาถานี้ก่อนจงขึ้นเรือนแลฯ”
(ที่มา ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=121 )
ขณะที่โลกอุตสาหกรรมและความทันสมัยได้มอบความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้คนในสังคมได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเราลองย้อนคิดถึงการใช้ชีวิตที่ยังต้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บงาของสารพัดสิงสาราสัตว์ อีกทั้งโรคาพยาธิที่แฝงฝังมากับความรุ่มรวยของพืชพันธุ์ที่หนาทึบซึ่งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังยากจะคืบคลานเข้าไปถึง คุณพระศรีรัตนตรัย สมุนไพรและพลังงานจากธรรมชาติย่อมเป็นแนวทางในการดูแลรักษาสุขภาพกายและใจที่สร้างความอุ่นใจได้สูงสุด ที่สำคัญในสังคมที่ระบบการศึกษาแบบมาตรฐานยังเป็นเรื่องห่างไกล แนวทางในการดูแลรักษาสุขภาพกายและใจเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดและจดจำได้อย่างเป็นระเบียบแบบแผนก็ต่อเมื่อมันถูกจัดการให้อยู่ภายในระบบอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยากจะแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลง นั่นจึงเป็นที่มาของคาถาอาคมและเลขยันต์ที่ถูกจดจำและบันทึกผ่านพิธีกรรมตลอดจนเอกสารโบราณ
ตัวอย่างเกี่ยวกับการผสานความศรัทธาในพุทธศาสนาเข้ากับองค์ความรู้ในเรื่องพลังงานจากธรรมชาติและความเชี่ยวชาญในเรื่องสมุนไพร ปรากฏอยู่ในตำราคาถาอาคม (NPT 004-008) เอกสารโบราณพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา จังหวัดนครปฐม (ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=121) ที่ระบุความตอนหนึ่งว่า
“จะประสะคลทำเป็นรูปปั้นด้วยแปงฝังที่ป่าช้า...(อักษรขอม)...กูจะประคลด้วยอาคมและว่านยารูป
ขี้ผึ้งและดินเหนียว (อักษรขอม) กูจะประคุนทำด้วยใบไม้เขียวตากแดดให้แห้งด้วยแสงพระ
อาทิตร์ให้ครั่งไปมา (อักษรขอม) กูจะประคลทำด้วยดอกจำปาและใบรักซ้อนทำด้วยฝักหรือดอก
และลูก (อักษรขอม) กูจะประสะทำคนอันถูกกระทำด้วยดินสอผงลงเลขยันอักขะระและ
อักษรให้เหือดหาย (อักษรขอม) กูจะประคูลทำด้วยผีภูตร์ผีพรายผีตายโหงผีตายหาผีป่าและ
ปู่เจ้า (ขอม) กูจะประสะคลกระทำด้วยขี้เท่าผีตายวันเสาและวันอังคานกรางเชิงตะกอนมาถูกต้องพระ
(อักษรขอม) กูจะประคลทำด้วยกระดูกและหนังและเนื้อและเส้นผม (อักษรขอม)
(ขอม) กูจะประคลทำด้วยกรวดและทรายสี่สาแรง (ขอม) กูจะประคลทำด้วยหัวแร้งและหัวกาให้
ถึงแก่มรณาก็หลุดเถือนไป (อักษรขอม) กูจะประคลกระทำด้วยสะเกดไม้ให้เปนบ่าและจุก
เสียดก็เสื่อมสูน (อักษรขอม) กูจะประคลทำด้วยอิฐและปูนให้รักและชังก็เหือดหาย (อักษรขอม)...”
หากพิจารณาจากข้อความในตำราคาถาอาคม ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น โดยเฉพาะในส่วนที่ระบุว่า “กูจะประคลด้วยอาคมและว่านยา...กูจะประสะทำคนอันถูกกระทำด้วยดินสอผงลงเลขยันอักขะระและอักษรให้เหือดหาย...” ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่า ในกระบวนการรักษาโรคแบบประเพณี คาถาอาคม เลขยันต์ และองค์ความรู้ทางด้านสมุนไพรจำต้องผนวกรวมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งข้อมูลที่ระบุว่า “กูจะประสะทำคนอันถูกกระทำด้วยดินสอผงลงเลขยันอักขะระและอักษรให้เหือดหาย...” น่าจะสอดคล้องกับขั้นตอนการเขียนยันต์ตาม คัมภีร์ลบผง อันถือเป็นแม่แบบของระบบยันต์ในสังคมไทย ซึ่งข้อมูลจากหนังสือเรื่อง เลขยันต์ : แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์ ของ ณัฐธัญ มณีรัตน์ ระบุว่า “การฝึกหัดเขียนยันต์แบบต่างๆ ได้พัฒนาเป็นคัมภีร์ ๕ เล่ม คือ คัมภีร์ปถมัง คัมภีร์อิธะเจ คัมภีร์ตรีนิสิงเห คัมภีร์มหาราช และคัมภีร์พุทธคุณ...ผู้ที่ฝึกลบผงจนชำนาญจึงสามารถที่จะเขียนยันต์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เลขยันต์ที่บรรจุอยู่ในคัมภีร์ผง ๕ เล่มของไทยโบราณจึงถือเป็นแม่แบบของยันต์ทั้งหลาย นอกจากนี้ผงที่ได้จากการเขียนยันต์ตามคัมภีร์ทั้ง ๕ ยังเชื่อกันว่ามีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ด้วย” (ณัฐธัญ มณีรัตน์, 2559: 98)
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง เลขยันต์ : แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์ ยังได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับ การนำผงที่ได้จากขั้นตอนการเขียนลบผงไปใช้ประโยชน์ว่า “ผงปถมังเมื่อลบเสร็จแล้วโบราณจะบดผสมเครื่องยาปั้นเป็นแท่งไว้...เมื่อจะใช้ก็ฝนใช้แต่ทีละน้อยเท่านั้น คนโบราณเชื่อว่าผงปถมังมีอานุภาพทางอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด กำบังกาย ตลอดถึงล่องหนหายตัว เป็นตบะเดชะ จังงัง ป้องกันภัยอันตรายทุกประการ” (ณัฐธัญ มณีรัตน์, 2559: 103) ขณะที่ “ผู้ใดสำเร็จผงตรีนิสิงเหจะเป็นสีหนาท สามารถกำราบภูตผี ถอนทำลายอาถรรพ์ต่างๆ ได้ ยันต์ตรีนิสิงเหนี้ โบราณาจารย์ท่านใช้ในการป้องกันบ้านเรือนให้พ้นจากอาถรรพ์ต่างๆ รวมถึงป้องกันอวมงคล โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้” (ณัฐธัญ มณีรัตน์, 2559: 105)
ความน่าสนใจเกี่ยวกับขั้นตอนการเขียนลบผงตามคัมภีร์แม่แบบระบบยันต์ ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้การรักษาโรคในสมัยโบราณ ไม่ได้อยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หากแต่อยู่ที่การชี้ให้เห็นว่าการสืบทอดความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคแบบโบราณของไทยผ่านคาถาอาคมและเลขยันต์ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีระเบียบแบบแผนเป็นขั้นเป็นตอน เพราะอย่างน้อยๆ ผู้ที่จะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการเขียนลบผง "ด้วยดินสอผงลงเลขยันอักขะระและอักษรให้เหือดหาย...” ย่อมจะต้องอ่านอักษรขอมที่จารึกเป็นภาษาบาลีที่ว่าด้วยพระสูตรต่างๆ ในพุทธศาสนาได้ ที่สำคัญในกระบวนการเขียนลบผงนี้ ผู้เรียนหรือผู้เขียนยังจะต้อง “บูรณาการระบบของยันต์ทั้ง ๕ ประการเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ สูตรที่ใช้ลงยันต์ อักขระสัญลักษณ์ และมนต์ที่ใช้เสก ในการกำหนดจิต” (ณัฐธัญ มณีรัตน์, 2559: 98) จึงไม่น่าแปลกใจที่ในสมัยโบราณผู้ที่มีบทบาทในการรักษาโรคให้แก่ผู้คนในชุมชนจึงมีสถานะเป็น พระสงฆ์ โดยส่วนใหญ่ เนื่องจาก “พระเกจิอาจารย์โบราณส่วนมากล้วนต้องผ่านขั้นตอนการฝึกลบผงมาแทบทั้งสิ้น” (ณัฐธัญ มณีรัตน์, 2559: 98)
ขณะเดียวกันข้อมูลที่ช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์และความสำคัญของคาถาอาคม เลขยันต์ และสมุนไพรที่จำเป็นต่อการรักษาโรคให้กับผู้คนในสมัยโบราณ ยังปรากฏอยู่ในตำรายา (NPT 004-043.TamraYa-001-004) เอกสารโบราณพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา (เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=145 ) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งในขั้นตอนของการบดยาก็จะต้องมีการเขียนยันต์ลงบนแผ่นหินและลูกหินที่ใช้บดยา พร้อมกันนี้ในขณะที่กำลังบดยาผู้ดำเนินการก็ยังจะต้องบูชารำลึกถึงพระฤาษีทั้ง 8 องค์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือที่น่าจะก่อให้เกิดสมาธิในการเรียนรู้ รวมไปถึงในการดูแลรักษาผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยในสถานการณ์จริง
แม้ปัจจุบันองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มาบรรจบกับพุทธศาสนาอาจจะทำให้ผู้ศรัทธาหรือแม้แต่ไม่ศรัทธารู้สึกตะขิดตะขวงใจต่อพิธีกรรมการเรียนรู้ในแบบประเพณี เช่น การฝึกหัดเขียนยันต์ตามคัมภีร์ลบผง แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พระครูวิชัยกิจจารักษ์ (หลวงพ่ออุดม) ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง เลขยันต์ : แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์ ของ ณัฐธัญ มณีรัตน์ กลับมอบมุมมองที่เป็นธรรมในการพิจารณาตำราเกี่ยวกับคาถาอาคมหรือเลขยันต์ โดยชี้ให้เห็นข้อจำกัดในการเข้าถึงพระไตรปิฎกในสังคมที่เทคโนโลยีการพิมพ์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย “...โบราณจารย์ท่านจึงวางอุบายเอาหลักใหญ่ใจความสำคัญของธรรมะนิพนธ์ย่อเข้าเป็นคัมภีร์ปถมังให้พระภิกษุสงฆ์และศาสนิกชนได้หัดท่องหัดเขียนความหมายของพระสัทธรรมเหล่านั้น เมื่อท่องไปเขียนไปบ่อยเข้าก็เกิดความเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นได้ ส่วนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น” (ณัฐธัญ มณีรัตน์, 2559: 125)
การปรากฏขึ้นของตำราคาถาอาคมหรือตำรายันต์ในสมัยโบราณซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาชีวิตของผู้คน จึงไม่อาจพิจารณาที่ปลายทางว่าเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์หรืองมงาย หากแต่ต้องพิจารณาในความหมายที่ว่า เอกสารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการเรียนรู้และการสืบทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะความรู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพที่จำเป็นต้องอาศัยความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเป็นเครื่องมือในการกำกับไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการถ่ายทอดสืบต่อกัน
ตำราคาถาอาคม เอกสารโบราณกับคำตอบในอนาคต
นอกจากประเด็นการพิจารณาคาถาอาคมและเลขยันต์ในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้อย่างมีระเบียบแบบแผนสำหรับสังคมไทยในสมัยโบราณ ข้อมูลที่ได้จากตำราคาถาอาคมและตำรายา เอกสารโบราณพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ยังก่อให้เกิดคำถามอีกมากมายที่อาจนำไปสู่กระบวนการในการค้นคว้าเพื่ออธิบายสภาพสังคมในยุคสมัยที่เอกสารถูกสร้างขึ้น เช่น ในสมัยที่การเรียนการสอนแบบมาตรฐานยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ใครเป็นผู้ที่เขียนเอกสารดังกล่าวขึ้น? ผู้ที่เขียนเอกสารเขียนขึ้นจากองค์ความรู้ของตนเอง หรือเป็นเพียงผู้รับฟังและถ่ายทอดเป็นภาษาเขียน? และในยุคสมัยที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ เอกสารเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด? และยังมีคำถามอื่นๆ อีกมากมายที่เอกสารโบราณอาจจะเป็นคำตอบสำหรับผู้คนในโลกอนาคต
เอกสารอ้างอิง
กังวล คัชชิมา. (2547). "ไสยศาสตร์เขมรเบื้องต้น: ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ" ดำรงวิชาการ 3, 5 (ม.ค. - มิ.ย. 2547). เข้าถึงเมื่อ 9 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.tci-thaijo.org/index.php/damrong/article/view/21218/18361
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). เข้าถึงเมื่อ 9 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://manuscripts.sac.or.th
ณัฐธัญ มณีรัตน์. (2559). ยันต์ : แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์. สุกัญญา สุจฉายา, บรรณาธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.