แม่พิมพ์พระ มี 2 แบบคือ แบบที่ใช้แม่พิมพ์กดลงบนมวลสาร กับแบบกดมวลสารลงบนแม่พิมพ์ "ตัวแม่พิมพ์" จะทำหน้าที่คล้ายกับแป้นปั๊มตรายาง ยุคแรก ๆ จะแกะสลักขึ้นรูปแม่พิมพ์ด้วยดินและนำไปเผา หรือสร้างแม่พิมพ์แบบหินแกะ ซึ่งเป็นแม่พิมพ์แบบดั้งเดิม ที่นิยมทำกันมาช้านานแล้ว เพราะทำได้ง่าย โดยใช้หินลับมีดโกน ซึ่งแกร่งแต่แกะได้ง่ายทำเป็นแม่พิมพ์ตัวเมียด้านเดียว แกะให้ลึกลงไปให้พอที่จะได้รูปร่างขององค์พระและส่วนประกอบต่างๆ แต่ไม่ต้องลึกมาก เพราะจะเป็นปัญหาในการเอาพระออก จากแม่พิมพ์ ความหนาที่เหลือของพระที่พิมพ์ จะใช้การตัดกรอบออกด้วยของมีคม ซึ่งบางท่านก็ว่าใช้ตอกตัด บางท่านก็ว่าใช้มีดโกนที่ใช้โกนศีรษะพระเณรซึ่งเสียแล้วมาตัด เมื่อได้แม่พิมพ์แล้ว ก็เอาเนื้อมวลสารที่หมาดๆ ปริมาณพอเพียงที่จะทำพระ กดลงในแม่พิมพ์ ใช้กระดาน หรือแผ่นอิฐ แผ่นกระเบื้อง ช่วยกดมวลสารให้เข้าพิมพ์และทำให้หลังเรียบด้วย ถ้ากดลงไปมากพระก็จะบาง กดน้อยพระก็จะหนา เสร็จแล้วเอาเนื้อมวลสารออกจากแม่พิมพ์ หงายขึ้นแล้วจึงทำการตัดกรอบพระ ผึ่งให้แห้งดีแล้วก็นำไปชุบรัก ลงรัก หรือย้อมรักต่อไป
ต่อมานิยมแกะแม่พิมพ์ด้วยโลหะ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน ทองแดง หรือทองเหลือง แม่พิมพ์จะมีความหนาพอสมควร แกะลึกลงไปเป็นแม่พิมพ์ด้านตัวเมีย และมีด้ามสำหรับถือ ขนาดของแม่พิมพ์ที่มีด้ามจับนี้ ก็จะไม่ใหญ่ไปกว่าองค์พระมากนัก คือเป็นการกดลงไปในมวลสารที่ทำเป็นแผ่นไว้ทีละองค์ ปัจจุบันมีการนำเครื่องจักรมาใช้ผลิตในรูปแบบของเหรียญโลหะ ซึ่งผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก