ประเพณีนางด้งนางกวัก
วัฒนธรรมประเพณีนางด้งนางกวักจะจัดวันเดียวกับประเพณีแห่น้ำดอกไม้ในหมู่บ้านช่วงวันสงกรานต์ ของวิถีชีวิตลาวเวียงชาวบ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี (คล้ายกับของชาวไทยพวน) ในวันกิจกรรม ช่วงเช้าจะมีพิธีการทำบุญเลี้ยงศาลปู่ย่าประจำหมู่บ้าน และร่วมรับประทานอาหารพร้อมกัน ช่วงบ่ายนิมนต์พระสงฆ์จากวัดภายในหมู่บ้านมาร่วมขบวนแห่น้ำดอกไม้...ชาวบ้านจะทำค้างดอกไม้ด้วยการนำไม้ไผ่มาสานคล้ายชะลอม แล้วหามแห่น้ำนำหน้าพระสงฆ์ขบวนแห่ จะมีเท่งบ้องกลองยาว นำขบวน มีนาง/นายรำ สนุกสนานกันไป และบ้านใดประสงค์จะหาเหล้ายาปลาปิ้ง ขนม นมเนย มาเลี้ยงดูปูเสื่อขบวนขบวนแห่น้ำดอกไม้จะเดินให้ครบทุกกลุ่มบ้าน ไม่ว่าบ้านเหนือ บ้านใต้ บ้านกลาง บ้านริม บ้านรอบ แม้กระทั่งทุ่งนาระหว่างกลุ่มบ้านก็ต้องเดิน ทั้งสองประเพณีนี้แฝงไปด้วยกุศโลบายมากมาย ส่วนภาคค่ำจะมีกิจกรรมเข้าผี นางด้ง นางกวัก ทำนายทายทักวิถีชีวิตความเป็นอยู่การพยากรณ์ต่าง ๆ ตามที่ต้องการจะรู้ โดยการละเล่นคือ ผู้คนในหมู่บ้านต้องไปรวมตัวกัน ณ บ้านเจ้าพิธีของหมู่บ้าน เจ้าพิธีจะเริ่มการทำพิธี ขอขมาแก่ ผีปู่ย่า ผีตาผียาย ผีบรรพบุรุษ (บ้านเจ้าพิธีจะตัองเป็นลูกหลานที่ได้รับสืบทอดมาจากรุ่นต่อรุ่น และ ต้องเป็นผู้หญิง) และนำตัวนางด้งนางกวักมาทำพิธี อุปกรณ์การทำตัวนางกวักและเครื่องเซ่น ตัวนางกวักนั้นจะนำเอาตัวกวัก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าชิ้นหนึ่ง มีรูปร่างลักษณะเป็นตัวจักสานรูปกลมโปร่งเป็นลายเหมือนตาชะลอม ปกติใช้สำหรับพันด้าย หรือเส้นไหมก่อนจะนำมาตั้งลายกับหูก หลังจากได้ตัวนางกวักแล้ว ก็นำกะลามะพร้าวด้านที่มีรู มาร้อยเชือกมัดกับตัวกวัก เพื่อสมมุติให้ดูมีลักษณะเป็นรูปศรีษะคน แล้วนำไม้บงหรือไม้รวก ที่เป็นไม้เหยียบกี่ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อนำมาเสียบกลางตัวกวัก สมมุติให้เป็นแขนนางกวัก ต่อจากนั้นก็นำนางกวักที่มีหัว มีแขนมาใส่เสื้อ เสื้อที่ใช้ก็ใช้เสื้อชาวนาสีดำสวมลงบนตัวนางกวักที่เตรียมไว้ การเตรียมเครื่องเซ่น เพื่อจะทำพิธีเชิญผีนางกวักลงมานั้น ก็นำกระด้งมา 1 อัน ในกระด้งก็ใส่กระจก หวี ช้องผม เสร็จแล้วนำกระด้งไปวางที่โคนก้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง โดยนำไม้ไผ่ยาวๆ วางพาดกับต้นไม้ใหญ่นั้น ให้ปลายของไม้ยาวนี้ด้านหนึ่งอยู่ใกล้กระด้ง สมมุติว่าเป็นบันไดให้นางกวักลงมาจากต้นไม้เพื่อมาเข้าตัวกวัก เมื่อเตรียมอุปกรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ทุกคนในหมู่จะนั่งล้อมวงกันมีผู้หญิงสองคนนั่งจับนางกวักที่ทรงเครื่อง และนั่งอยู่บนสากตำข้าวคู่หนึ่งที่วางราบบนพื้นดิน โดยคนละข้างของนางกวัก คนอื่นๆ ก็นั่งล้อมวงร้องเพลง นางกวัก เพื่อเชิญวิญญานนางกวักลงมาเข้าตัวกวัก
“ นางกวักเอย นางกวักเจ้าแม่กวัก อี่พ่อยักแย่ อี่แม่แย่ยอ คนยกคนยอ
เจ้าสูงเพียงข้าง เจ้าอวดอ้างต่ำหูกเดือนหงาย ตกดินตกทรายเดือนแจ้ง
เจ้าแอ้งแม้งนางฟ้าลงมา นางสีดาแกว่งแขนต๊องแต๊ง ต๊องแต๊ง ”
เมื่อร้องเพลงนางกวักกลับไปกลับมา ผีนางกวักก็จะมาเข้ากวักที่ทรงเครื่องไว้ เมื่อเข้าแล้วก็จะสามารถทำนายสิ่งที่คนล้อมรอบขอให้ทำ เช่น ทายชื่อคน ทายเนื้อคู่ ทายเพศลูก หรือ ทายสิ่งในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับหมู่บ้านได้ วิธีทายของนางกวักก็คือใช้แขนไม้ข้างหนึ่งเขียนตัวหนังสือ หรืออักษรย่อบนพื้นดินเพื่อเป็นสื่อที่ส่งให้แก่ชาวบ้าน โดยที่ผู้หญิงที่ถือนางกวักในหมู่บ้านจะเป็นผู้ที่อายุมากและไม่รู้ตัวหนังสือเลย แต่นางกวักก็เขียนให้คนที่ล้อมวงอ่านได้ โดยคนในหมู่บ้านจะเชื่อว่า ดวงวิญญาณที่จะมาเข้าในนางกวักนั้น มักจะเป็นญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษของตนที่ล่วงลับไปแล้ว กลับมาบอกลูกเตือนหลาน ในเรื่องที่ชาวบ้านทำนายทายใจ (เพราะการเล่นและตอบคำถามในแต่ละครั้งต้องทำการร้องเพลงวนไปวนมา และอัญเชิญวิญญาณเข้ามาและอัญเชิญวิญญาณออกทุกครั้งที่ทำนายคำถามของชาวบ้านเสร็จ) เป็นการละเล่นที่สนุกสนานอย่างมาก เหมือนเป็นการรวมตัวของญาติพี่น้องในวันเทศกาล เพื่อพูดคุยและเล่นการละเล่นกัน ซึ่งปัจจุบันการละเล่นนี้ในตำบลบ้านโคกหม้อยังมีอยู่แต่อาจจะไม่มีทุกปีเนื่องจาก ลูกหลานสืบทอดน้อย และผู้ทำพิธีก็ได้ล้มหายตายจากไปบางส่วนแล้ว แต่ก็ไม่เคยหายไปจากใจชาวบ้านยังหลงเหลือไว้ซึ่งประเพณี และวัฒนธรรมที่สวยงามไว้ให้คนในหมู่บ้านจดจำกันมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะการละเล่นนางด้งนางกวัก เป็นสื่อกลางที่จะใช้ติดต่อสื่อการบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านหลายๆคนในหมู่บ้าน
นางสาวจิรประภา พรหมศิริ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา