วัดโบสถ์ (ร้าง) แรงศรัทธาจากชุมชนเกาะโพธิ์
นฤมล สารสุวรรณ์ และ ณัฐรีย์ อินทรสงเคราะห์
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
วัดโบสถ์ (ร้าง) ตั้งอยู่หมู่ 9 ในต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นโบราณสถานสำคัญในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตัวโบสถ์มีลักษณะฐานเป็นทรงสำเภา หรือที่เรียกว่า ฐานปัทม์ ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นต้นมา หลังคาของโบสถ์เป็นหลังคาทรงจั่ว มีหลังคาลาดด้านหน้าและด้านหลังของตัวโบสถ์ ภายในพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา 1 องค์ รวมไปถึงใบเสมาที่ปัจจุบันได้ถูกโจรกรรมสูญหายไปแล้ว นอกจากนี้ยังพบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีก 1 องค์ ทางด้านหน้าของตัวโบสถ์ ฐานของเจดีย์มีลักษณะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย วัดโบสถ์ (ร้าง) นั้นถูกทิ้งร้างไปหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ก่อนที่จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังจากช่วงพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จากการที่เมืองบางละมุงเก่าหรือบริเวณบ้านทุ่งนั้นถูกเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวบ้านจึงย้ายกันเข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณของวัดบางละมุงและวัดโบสถ์ (ร้าง) ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมศาสนาและกลายเป็นชุมชนใหม่ที่มีการใช้งานพื้นที่ทับซ้อนเข้าไปในพื้นที่ของวัดโดยชุมชนดังกล่าวนี้มีชื่อว่า “ชุมชนเกาะโพธิ์”
จากการศึกษาพบว่าวัดโบสถ์ (ร้าง) นั้นได้รับการสำรวจครั้งแรกโดยนายจารึก วิไลแก้ว (นักโบราณคดีของกรมศิลปากร) ซึ่งได้สำรวจในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2536 โดยเก็บข้อมูลเบื้องต้นตามโครงการศึกษาวิจัยโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองนครนายก ตอบสนองแนวพระราชดำริของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ.2557 สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี เข้ามาทำการสำรวจซึ่งเป็นผลมาจากกระแสของโลกโซเชียลที่มีการถ่ายภาพและเผยแพร่ถึงความทรุดโทรมของโบราณสถานหลังนี้ ส่งผลให้มีการเรียกร้องการบูรณะวัดโบสถ์ (ร้าง) ขึ้น กรมศิลปากรจึงมีการวางแผนการบูรณะและพร้อมจะเข้ามาดำเนินการทันทีเมื่อได้รับงบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้มีการดำเนินงานการบูรณะโดยกรมศิลปากรแต่อย่างใด การบูรณะวัดโบสถ์ (ร้าง) จึงเริ่มขึ้นจากชาวบ้านชุมชนเกาะโพธิ์และใกล้เคียงรวมเงินการบูรณะวัดโบสถ์(ร้าง) เริ่มบูรณะครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2558 แล้วเสร็จในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2559 โดยกลุ่มจิตอาสาส่วนหนึ่งในเขตพัทยาและชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งการบูรณะครั้งนี้เป็นการบูรณะกันเองไม่ได้มีหน่วยงานรัฐเข้ามาทำการช่วยเหลือ มีเพียงแต่การได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้ทำการบูรณะกันเองเท่านั้น
การบูรณะวัดโบสถ์ (ร้าง) ของชุมชนเกาะโพธิ์ได้แสดงถึงการเห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของชาวบ้านชุมชนเกาะโพธิ์ แรงศรัทธาที่อยากให้วัดโบสถ์ (ร้าง) นั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจของชุมชน แต่ถึงกระนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นคือการที่ชาวบ้านไม่ได้ร่วมเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้ ชาวบ้านไม่สามารถที่จะซ่อมแซมหรือพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ได้มากมายนัก เพราะกฎหมายโบราณสถานที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถทำอะไรได้หลังจากการบูรณะวัดโบสถ์(ร้าง) ครั้งใหญ่สำเร็จ ทั้งๆที่ชาวบ้านภายในชุมชนนั้นเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักกับมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน ชาวบ้านจึงเพียงแต่อยากเรียกร้องสิทธิ์ให้พวกตนนั้นได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ไว้ให้ลูกหลานของตนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในอนาคต
อ้างอิง
ผู้จัดการออนไลน์. กรมศิลปากรตรวจโบสถ์ร้างบางละมุง เตรียมแผน บูรณะครั้งใหญ่. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เข้าถึงได้จาก : https://mgronline.com/local/detail/9580000002280
ผู้จัดการออนไลน์. “ชาวบางละมุง” สุดเสียดาย! พบโบสถ์-เจดีย์สมัย อยุธยาไร้การเหลียวแล. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก : https://mgronline.com/local/detail/9580000001517
พนมกร นวเสลา. "พลังท้องถิ่น" ในการฟื้นฟูโบราณสถานวัดโบสถ์(ร้าง) อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5371