นางสาวพรชนก วิษณุพรชนินทร์
นางสาวมาลิซ่าไอนี ฟอลด์ซี่
ไม้กวาดดอกหญ้า
หากพูดถึงมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในประเทศไทยแล้ว ไม้กวาดดอกหญ้าคงไม่ใช่สิ่งแรกที่ถูกนึกถึงหรือไม่ติดอยู่ในรายชื่อใดๆ อาจเป็นเพราะไม้กวาดดอกหญ้ารูปร่างที่ดูธรรมดาและคุ้นเคยกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากเสียจนถูกมองข้าม แต่แท้ที่จริงแล้วไม้กวาดดอกหญ้าคือภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยอันเกิดจากการปรับตัวอยู่ร่วมกันของมนุษย์และธรรมชาติ โดยเป็นการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติรอบตัวมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นอุปกรณ์คู่ขวัญครัวเรือนที่พบได้แทบทุกบ้านบนผืนแผ่นดินไทย ไร้มลพิษและย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
“ดอกหญ้าไม้กวาด” หรือ “ดอกหญ้าก๋ง” และในภาษาถิ่นภาคใต้เรียกว่า “ดอกชั้ง”[1] และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ “Thysanoleana maxima Kuntze”[2] จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าที่มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นแตกเป็นกอคล้ายกับกอไผ่ ลำต้นมีลักษณะเนทรงกระบอกกลมและแบ่งเป็นข้อปล้องชัดเจน มีความสูงของลำต้นอยู่ที่ประมาณ 3 - 4 เมตร มีขนาดลำต้นประมาณ 7.5 - 18 มิลลิเมตร[3] โดยมักจะพบอยู่ตามบริเวณเชิงเขาหรือพื้นที่สูง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โล่งและไม่มีต้นไม้ใหญ่โดยรอบ เนื่องจากต้นดอกหญ้าเป็นพืชที่ต้องการปริมาณแสงแดดมาก ดอกหญ้าในภาคใต้จะออกดอกในช่วงหน้าแล้ง หรือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน
การทำไม้กวาดดอกหญ้าเป็นการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ชาวบ้านนิยมทำไม้กวาดดอกหญ้าในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำอาชีพหลัก และชาวบ้านบางกลุ่มทำไม้กวาดดอกหญ้าเป็นอาชีพเสริม เพื่อจำหน่ายภายในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว หรือเพื่อประโยชน์ใช้สอยของตนเองเอง และพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกด้วย ในปัจจุบันได้มีการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตไม้กวาดดอกหญ้าให้มีความทันสมัย และสามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไป เช่น การปรับรูปแบบหรือลักษณะของไม้กวาดดอกหญ้าให้เป็นความต้องการของผู้ริโภคหรือทางการตลาด การปรับขนาดของไม้กวาดดอกหญ้าให้มีความหลากหลาย การผลิตไม้ดอกหญ้าให้มีสีสันที่สวยงาม หรือการผลิตไม้กวาดดอกหญ้าให้มีความคงทนแข็งแรงและได้มาตราฐานมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ไม้กวาดดอกหญ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตจากบรรพบุรุษและสืบทอดต่อมายังผู้คนในรุ่นหลัง อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ในการนำเอาวัตถุดิบตามธรรมชาติที่สามารถพบได้ภายในชุมชนมาผลิตและประยุกต์ใช้อย่างมีประโยชน์ ไม้กวาดดอกหญ้าจึงทรงคุณค่าทางภูมิปัญญาและศิลปะไม่มากไม่น้อยไปกว่าภูมิปัญญาใดๆ
[1] สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, การทำไม้กวาดดอกหญ้า [ออนไลน์], 2558, เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://www2.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=3958&filename=King.
[2] พิชชา ทองขลิบ, ไม้กวาดตองกง [ออนไลน์], 2564, เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=186.
[3] มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, “ไม้กวาดดอกหญ้า” ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น [ออนไลน์], 2566, เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title.