พิธีกรรมและวิถีชีวิตในศิลปะถ้ำตาด้วง จังหวัดกาญจนบุรี
ณัฐชยา กุลวงค์ และอัคฆณัฐ นนทโชติ
ถ้ำตาด้วง ตั้งอยู่ที่บ้านท่าทุ่งนา ตำบลสะเดา อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300 เมตร เป็นหนึ่งในถ้ำที่อยู่ในเทือกเขาวังกุลาปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลานหน้าปากถ้ำกว้าง 9 เมตร และยาวประมาณ 10 เมตร
ถ้ำตาด้วงเป็นแหล่งภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มภาพ โดยตำแหน่งของภาพเขียนสีทั้งสองกลุ่มจะอยู่ในบริเวณเพิงผาหน้าปากถ้ำ หากหันหน้าเข้าหาปากถ้ำภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 จะปรากฏอยู่ทางด้านขวามีความสูงจากพื้นถ้ำขึ้นไป 3 เมตร ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 เป็นภาพบุคคลยืนเรียงกันทั้งสิ้น 18 คน (ภาพที่ 1) ภาพบุคคลที่ท่อนล่างมีลักษณะยื่นยาวออกมาเป็นภาพของมนุษย์เพศชายเนื่องจากท่องล่างที่มีลักษณะยื่นยาวนั้นมีความคล้ายคลึงกับเครื่องเพศของเพศชาย ภาพบุคคลที่สันนิษฐานว่าเป็นเพศชายนั้นมีจำนวน 9 คน ส่วนอีก 9 คนไม่ปรากฏลักษณะยื่นยาวในส่วนของท่อนล่าง จึงมีการสันนิษฐานว่าเป็นภาพบุคคลเพศหญิง ภาพเขียนสีของบุคคลทั้ง 18 คนนี้อยู่ในลักษณะของการยืนเรียงกันในรูปแบบริ้วขบวนแห่ และกำลังแสดงกิริยาคล้ายการเต้นรำทางด้านขวาเป็นหัวขบวนเนื่องจากลักษณะการวางตำแหน่งขาและทิศทางการหันศีรษะของบุคลลส่วนมากหันไปทางด้านขวาซึ่งทางหัวขบวนนั้นได้ปรากฏคนหามสิ่งของซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลมคล้ายกลองหรือฆ้อง ในส่วนท้ายขบวนนั้นสันนิษฐานว่าเป็นการหามโลงศพเนื่องจากลักษณะของสิ่งที่หามมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีสี่เหลี่ยมซ้อนอีกชั้นด้านในลักษะคล้ายกับโลงไม้ด้านล่างของภาพขบวนแห่มีกลุ่มภาพบุคคล 3 คนเรียงกันเป็นแถว ลักษณะภายนอกคล้ายมีการสวมใส่เครื่องแต่งกาย บางคนมีเครื่องประดับศีรษะที่อาจเป็นขนนก เขาสัตว์ หรือพู่ ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 2 ซึ่งอยู่สูงจากพื้นถ้ำ 1.84 เมตร (ภาพที่ 2) โดยเป็นภาพของบุคคลที่มีการสันนิษฐานว่าเป็นบุคคลเพศชาย 3 คนอยู่ในกิริยาการน้าวคันธนูขึ้นไปด้านบนอย่างสุดแรง
ลักษณะต่าง ๆ ของภาพเขียนที่กล่าวมาในข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าภาพเขียนสีในถ้ำแห่งนี้เป็นการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรมและวิถีชีวิตที่คาดว่าเกิดขึ้นจริงในช่วงเวลานั้น ภาพที่ปรากฏนั้นสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบภายในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี คือหน้ากลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ 1 ที่พบในถ้ำองบะและโลงศพไม้ที่พบภายในถ้ำต่าง ๆ อาทิ ถ้ำเรือ ถ้ำองบะ เขาถ้ำทะลุ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพที่แสดงถึงการสวมใส่เครื่องแต่งกายที่อาจสวมใส่ในโอกาสพิเศษ รวมไปถึงภาพคนยิงธนูที่แสดงได้ถึงกิจกรรมการล่าสัตว์เพื่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้การประกอบพิธีกรรมนับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตจึงสรุปได้ว่าแหล่งโบราณคดีถ้ำตาด้วงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานบอกเล่าเชิงการอธิบายลักษณะวิถีชีวิตและพิธีกรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน
อ้างอิง
เอกสารภาษาไทย
พเยาว์ เข็มนาค และจรรยา มาณะวิท, 2539. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร.
สารนิพนธ์และวิทยานิพนธ์
ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์, 2540. การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่ง ศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
เว็บไซต์
กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. 2566. ภาพเขียนสีถ้ำตาด้วง. เข้าถึงได้จาก:https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/2596. 17 มกราคม 2567.
รัศมี ชูทรงเดช. 2552. วัฒนธรรมโลงไม้ในจังหวัดกาญจนบุรี. เข้าถึงได้จากhttps://www.gotoknow.org/posts/306809. 17 มกราคม 2567