การชนไก่
ศศิกานต์ ค้าขาย 630310201
ช คุณานนท์ รักประทานพร 640310033
การชนไก่เป็นกีฬาพื้นบ้านที่นิยมอย่างมากและแพร่หลายในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการชนไก่หรือที่เรียกกันว่า ‘ตีไก่’ เป็นการแข่งขันที่ใช้ไก่เป็นตัวแทนของตนมาทำการต่อสู้กัน จุดประสงค์หลักคือเพื่อความสนุกสนานบันเทิง บางครั้งก็มีเรื่องการเดิมพันรวมอยู่ด้วย
บทบาทของไก่กับสังคมไทยนั้นมีมาช้านานเนื่องจากมนุษย์ในอดีตคงมีการเลี้ยงไก่กันทุกบ้าน ตั้งแต่เลี้ยงเอาไว้ดูเล่นไปจนถึงการนำไปประกอบอาหาร สันนิษฐานว่าคนไทยรู้จักการชนไก่มาตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาปรากฏการกล่าวถึงที่ชัดเจนที่สุดคือในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้งยังเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงหงสาวดีที่พระองค์ชนไก่ชนะพระมหาอุปราช และประโยคที่มักได้ยินอยู่บ่อยครั้งที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้คือตอนที่สมเด็จพระนเรศวรดำรัสกับพระมหาอุปราชว่า “ไก่เชลยตัวนี้ อย่าว่าแต่จะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนวันนี้เลย ตีพนันบ้านเมืองก็ยังได้” คำกล่าวนี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมการชนไก่ที่มีอยู่มีการเล่นในดินแดนอื่น ๆ นอกจากอาณาจักรอยุธยาแล้ว ยังบอกเล่าเกี่ยวกับระดับและบทบาทของการชนไก่ที่ไม่ได้จำกัดช่วงวัยในการเล่นซ้ำยังเป็นกีฬาที่สามารถเล่นได้โดยไม่ได้มีการจำกัดชนชั้น และการชนไก่เพื่อเดิมพันก็คงเป็นเรื่องที่ปกติที่ทำได้โดยทั่วไป ต่อมาในช่วงสมัยกรุงธนบุรีก็ได้มีกล่าวถึงการชนไก่อีกครั้งในเหตุการณ์ของพระยาพิชัยดาบหักที่มีชัยจากการชนไก่กับพระยาพระคลังหนต่อพระพักตร์ของพระเจ้าตากสินมหาราช มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์การชนไก่ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่ชาวบ้าน
ไก่ชนนั้นมีหลายสายพันธุ์ซึ่งพันธุ์ที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ไก่ชนเหลืองหางขาว และไก่ชนประดู่หางดำ เนื่องจากส่วนหนึ่งไก่ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ได้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องเชิงประวัติศาสตร์ โดยไก่เหลืองหางขาว หรือไก่เจ้าเลี้ยง เป็นไก่ที่ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นพันธุ์ไก่ชนที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ส่วนไก่ประดู่หางดำมีตำนานเล่าว่าเป็นไก่ที่พระร่วงเจ้าทรงโปรดจึงได้ชื่อว่า ไก่พ่อขุน ทั้งนี้ไก่ทั้ง 2 สายพันธุ์ก็ยังเป็นไก่ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดีอันดับต้น ๆ ของไก่ชนอีกด้วย
แม้ว่าในปัจจุบันผู้คนจะมองว่าการตีไก่คงไม่ต่างไปจากการทารุณกรรมสัตว์ แต่ใช่ว่าการชนไก่จะมีเฉพาะเรื่องของความรุนแรงที่จูงใจให้ผู้คนสนใจในกีฬานี้เพราะนอกเหนือจากเรื่องการแข่งขันเพื่อแสดงความเก่งกาจแล้ว ช่วงหลังนี้ได้มีการเลี้ยงไก่ชนไว้เพื่อประกวดความสวยงาม ซึ่งก็เป็นแนวทางการอนุรักษ์รูปแบบหนึ่งและนับว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสังคมให้ร่วมสมัยกับวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น กลุ่มผู้อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรในจังหวัดพิษณุโลก แสดงให้เห็นว่าถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ หรือมุมมองของผู้คนจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหนก็ตาม แต่คุณค่าของกีฬาชนไก่ แม้กระทั่งพันธุ์ของไก่ชนก็สามารถถ่ายทอดหรือ บอกเล่ามุมมองทางสังคมได้หลายมิติ ไปจนถึงเรื่องราวความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้แก่ผู้ที่มีความสนใจใครรู้เกี่ยวกับกีฬาชนไก่ หรือความสวยงามของธรรมชาติที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพชน