ชาติพันธุ์ลาหู่ วิถีชีวิตบนพื้นที่สูงทางเหนือของแผ่นดินไทย
640310040 ฐปนรรฆ์ เมฆบุญส่งลาภ
640310066 ลักษณ์ติกาล เฮียงโฮม
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชาติพันธุ์ลาหู่ ที่มา : https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1442&code_db=610004&code_type=05
ลาหู่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย ในอดีตลาหู่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบสูงทิเบต จีนทางตอนใต้ ลาว และพม่า ต่อมาชาวลาหู่บางส่วนได้อพยพเข้ามายังพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย และตั้งถิ่นฐานมั่นคงอยู่บริเวณดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ชาวลาหู่มีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพื้นที่ราบบนภูเขาสูง มีเขาสูงเป็นที่กำบังลม ขนาดของหมู่บ้านมีขนาดเล็กและอยู่ห่างกันพอสมควร เนื่องจากชาวลาหู่นั้นไม่ชอบการทะเลาะเบาะแว้ง อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นบริเวณที่มีดินอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ ใกล้ป่า ชาวลาหู่ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่และข้าวโพด รวมทั้งพืชเศรษฐกิจอื่นๆ รวมถึงมีการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยอิสระ อีกทั้งยังล่าสัตว์หาของป่าและการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคต่างๆอีกด้วย[1] ชาวลาหู่สร้างบ้านแบบยกพื้นสูงด้วยไม้ไผ่และไม่มีหน้าต่าง หลังคามุงด้วยหญ้าคามัดเป็นฟ่อนทำให้ตัวบ้านมีความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว[2]
ในแง่สังคมชาวลาหู่ให้ความสำคัญของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ทำให้การสืบสายตระกูลมาจากทางฝ่ายแม่เป็นหลัก จึงส่งผลให้เมื่อแต่งงานผู้ชายก็ต้องออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ที่บ้านภรรยา อีกทั้งยังยึดถือการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว การแต่งงานและการหย่าร้าง เป็นประเพณีที่จะต้องทำต่อหน้าผู้นำทางความเชื่อของชุมชน มีการฆ่าหมูและไก่เพื่อทำบุญเซ่นบูชาผี ซึ่งเป็นความเชื่อแบบพื้นถิ่น ก่อนที่จะเกิดการผสมผสานระหว่างความ เชื่อพื้นถิ่นที่เกี่ยวข้องกับนับถือสิ่งเร้นลับต่างๆ และความเชื่อตามหลักศาสนาที่เข้ามาทั้งศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ตาม รากฐานความเชื่อดั้งเดิมนั้นยังคงเป็นสิ่งที่ชาวลาหู่ยึดถือและปฏิบัติกันเช่นเดิม อาทิ ห้ามยิงปืนในหมู่บ้าน เนื่องจะเป็นการนำพาความตายมาให้ชุมชน ห้ามไม่ให้คนอื่นขึ้นบ้านตามลำพัง และไม่ควรจับต้องหิ้งผีซึ่งเป็นที่สักการะ[3]เป็นต้น ประเพณีต่างๆของชาวลาหู่ที่พบอยู่ปัจจุบันนั้นเป็นเสมือนสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน แม้จะมีการรับเอาวิถีชีวิตแบบสังคมเมืองมาใช้แล้วก้ตาม อีกทั้งยังเป็นเสมือนกับสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์และสิ่งที่มองไม่เห็น เพื่อตอบสนองต่อความเชื่อและเป็นหลักประกันความอุดมสมบูรณ์ในการทำมาหากิน ประเพณสำคัญของชาวลาหู่ประกอบด้วย
ประเพณีฉลองปีใหม่ หรือประเพณีการกินวอ ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นครั้งเดียวในทุกๆ ปี แต่จะไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับผู้อาวุโสภายในหมู่บ้าน ปู่จองและผู้นำชุมชน เป็นผู้กำหนดเวลาการจัดงานให้เหมาะสมในแต่ละปี เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านสามารถมาร่วมงานได้อย่างพร้อมเพรียง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ วอใหญ่ เป็นการเฉลิมฉลองให้ผู้หญิงในชุมชน และวอน้อย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้ผู้ชายในชุมชน ทั้ง 2 วอนั้นมีระยะเวลาในการจัด 4-7 วัน และมีช่วงหยุดพักรัหว่างแต่ละวอจะประมาณ 2-7 วัน ตามความเหมาะสม ซึ่งสาเหตตุที่จะต้องมีการฉลองแยกกันระหว่างชายหญิงนั้น เนื่องมาจากในอดีตนั้นผู้ชายนั้นต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน จึงส่งผลให้ไม่สามารถกลับมาฉลองกินวอได้ทัน ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการจัดงานฉลองกินวอให้กับผู้ชายอีกครั้ง โดยทั่วไปนั้นประเพณีการกินวอมักจะขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม แต่ในบางหมู่บ้านอาจมีการกำหนดพิธีตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านนั้นไม่จำเป็นต้องกินวอพร้อมกัน แต่จำเป็นต้องจัดในช่วงเวลาเดียวกันหรืออยู่ในเดือนเดียวกัน ในงานประเพณีกินวอนี้ ชาวลาหู่จะมีการฆ่าหมูดำที่เลี้ยงเอาไว้เพื่อสังเวยแด่ผีที่ตนนับถือ ซึ่งเนื้อหมูที่เซ่นสังเวยเรียบร้อยแล้วนั้นจะถูกนำมาปรุงอาหารเพื่อเลี้ยงฉลองกัน[4]
ประเพณีฉลองปีใหม่หรือประเพณีกินวอ
ที่มา : https://www.museumthailand.com/th/3877/storytelling/
ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงต่อเทพเจ้าที่ช่วยในการทำการเกษตร เป็นการขออนุญาตเกี่ยวข้าวมาบริโภค จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน หรือช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้อง โดยจะมีช่วงเวลาประกอบพิธีมี 4 วัน คือ ประกอบพิธี 1 วัน รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ 1 วัน พักผ่อน 2 วัน
การเต้นจะคึ หรือปอย เต เว เป็นการเต้นตามจังหวะเครื่องดนตรีอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งจะเต้นในช่วงที่มีงานประเพณีปีใหม่ เพื่อเฉลิมฉลอง การต้อนรับ และขอบคุณแขกที่มาจากหมู่บ้านหรือพื้นที่อื่น ที่มาร่วมในงานพิธีกรรม
[1]บุญยงค์ เกศเทศ, รากเหง้าเผ่าพันธุ์ในสยาม (มหาสารคาม : อินทนิล, 2562), 57-58.
[2] ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี, รูปแบบบ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาอาคเนย์, พิมพ์ครั้งที่ 3 (เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์บริหารงานวิจัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558), 148-152.
[3] ศูนย์มนุษยวิทยาสิริธร. กลุ่มชาติพันธ์ลาหู่. เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://ethnic-groups.sac.or.th/ethnic-group/206/205
[4] ศูนย์มนุษยวิทยาสิริธร. กลุ่มชาติพันธ์ลาหู่. เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://ethnic-groups.sac.or.th/ethnic-group/206/205