"เลียง"
640310050 นิริญรัตน์ พูลศิริ
640310072 สาริศา พัชรจิรบูลย์
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่มา: สมาคมศิษย์เก่าบ้านในเหมือง 2014
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1073096806051329&set=a.903757159651962
‘เลียง’ คือ อุปกรณ์สำหรับการร่อนแร่ที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีลักษณะทรงกลมเหมือนกระทะขนาดใหญ่แต่ก้นเตี้ย การร่อนแร่ด้วยเลียงจะทำด้วยวิธีการนำเลียงตักหิน ดิน ทราย ที่อยู่ในท้องน้ำลำธารขึ้นมา จากนั้นจะเหวี่ยงหรือร่อนเลียงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอเยื่อแร่ หรือ ร่อนจนกว่าสิ่งที่ไม่ต้องการจะออกหมดและเหลือแต่แร่ บางชุมชนจะร่อนแร่ในทิศเดียวกับทางน้ำไหล บางชุมชนจะเลือกลำธารที่สูงถึงเพียงเอวเพื่อให้สะดวกต่อการเหวี่ยงเลียงอันมีผลต่อการตกตะกอนของแร่ลงท้องเลียง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ในแต่ละชุมชนจะมีวิถีการเลือกพื้นที่ที่ต่างกัน แต่ทุกบ้านล้วนเชื่อว่าน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาจะนำพาแร่ต่าง ๆ มาด้วย จึงเป็นเหตุให้การร่อนแร่นั้นอยู่กับแหล่งน้ำเสมอ ขณะเดียวกันในบางพื้นที่จะมีการร่อนแร่ที่ท้ายเหมือง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต เมื่อเหมืองได้ทำการคัดแยกเนื้อแร่ออกจนหมด เหมืองจะปล่อยน้ำดินลงที่ท้ายเหมือง กระบวนการนี้จึงพาเยื่อแร่หรือเศษแร่ที่หลุดรอดมาจากการกู้แร่ในหนแรกออกมาด้วย ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้หญิงจึงพากันมาร่อนแร่หาดีบุก และเรียกวิถีการร่อนแร่นี้ว่า ‘ร่อนแร่ท้ายราง’
‘เลียง’ จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการประกอบอาชีพร่อนแร่ของชาวภาคใต้ฝั่งตะวันตก และเป็นภูมิปัญญาหรือวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต จากหลักฐานในบันทึกของชาวฝรั่งเศสนาม “มองซิเออร์เรอเนแชบอโน” ในระหว่างมาควบคุมกิจการซื้อแร่ดีบุกที่ภูเก็ตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วง ค.ศ. ๑๖๘๖ (พ.ศ. ๒๒๒๙) กล่าวถึงผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวประกอบอาชีพตัดไม้ ตัดฟืน ทำนา ขุดดิน เพื่อร่อนแร่หาดีบุกเท่านั้น จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นวิถีการประกอบอาชีพร่อนแร่ที่มีมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 4 ที่กิจการเหมืองแร่ดีบุกเริ่มเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากดีบุกเป็นที่ต้องการในตลาดของยุโรปเพื่อนำไปผลิตกระป๋อง จวบจนกระทั่งราคาดีบุกที่ตกต่ำลง และปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมากับเหมือง เหมืองแร่ต่าง ๆ จึงถูกปิดตัวลง อาชีพร่อนแร่ของผู้คนจึงน้อยลงตามไป
ปัจจุบันการใช้เลียงร่อนแร่ยังคงพบเห็นได้ในแถบจังหวัดระนอง พังงา แต่พบเห็นได้ไม่มากนัก เป็นเพียงการร่อนหาแร่ดีบุกในพื้นที่ตามลำธารสายหลักไปขาย ไม่ได้เป็นอาชีพหลักที่หล่อเลี้ยงคนในจังหวัดเช่นในอดีต แม้การร่อนแร่จะไม่ได้เป็นอาชีพหลักที่หล่อเลี้ยงปากท้องของคนในจังหวัดแล้ว แต่การร่อนแร่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ฝั่งตะวันตกได้ ซึ่งรวมไปถึง ‘เลียง’ อุปกรณ์สำหรับร่อนแร่ที่สำคัญที่สุด การร่อนแร่และเลียงจึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญที่ก่อให้เกิดชุดการแสดงพื้นถิ่นที่ชื่อว่า ‘ระบำร่อนแร่’ ซึ่งเป็นการแสดงประกอบท่าทางการทำอาชีพร่อนแร่ อาทิ การออกไปหาแร่ ร่อนแร่ และตากแร่ โดยกลุ่มคนที่แสดงจะเป็นผู้หญิงล้วน แต่งกายด้วยชุดยะหยา และมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงสำคัญคือเลียง ที่มาของการแสดงชุดดังกล่าวเกิดจาก ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จประพาสจังหวัดระนอง พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ทางจังหวัดจึงได้จัดการแสดงระบำร่อนแร่โดยกลุ่มสตรีถวาย ซึ่งมีความนัยว่า ชาวจังหวัดระนองมีอาชีพทำเหมืองแร่ ราษฎรดำรงชีพด้วยการร่อนแร่ในลำธารน้ำเป็นหลัก ซึ่งการแสดงชุดดังกล่าวสามารถพบได้ทั่วไปในภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการทำเหมืองแร่ในอดีต
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้ปัจจุบันอาชีพหาแร่ด้วยเลียงในภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะได้รับความนิยมน้อยลง แต่รูปแบบของการร่อนแร่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ก็ยังมีอิทธิพลต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการนำมาดัดแปลงให้เข้ากับศิลปะ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการแสดงพื้นถิ่น ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนในพื้นที่ รวมไปถึงสืบทอดความรู้ ความเข้าใจ และภูมิปัญญาของผู้คนสืบต่อไป
อ้างอิง
ประภัสสร บุญประเสริฐ. (2535). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ภูเก็ต. (2563). เลียงร่อนแร่. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/talangmuseum/view/12059-เลียงร่อนแร่.
มิวเซียมไทยแลนด์. (2559). เลียง เครื่องมือหาแร่ ยุคแรกเริ่ม. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.museumthailand.com/th/4294/storytelling/เลียง/.
สุวี โกมลวิสุทธิ์. (2551). กำเนิดระบำร่อนแร่จังหวัดระนอง. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.ranongcities.com/2561/political/detail/21/data.html.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร. (2563). ระบำร่อนแร่. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www2.m-culture.go.th/chumphon/ewt_news.php?nid=1239&filename=index.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง. (2558). ระบำร่อนแร่. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www2.m-culture.go.th/ranong/ewt_news.php?nid=23&filename=index.
NGThai. (2565). เหมืองแร่ ไทย ประวัติศาสตร์และสถานะความมั่งคั่งบนทุกขลาภจากชีวิตมนุษย์. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://ngthai.com/cultures/41501/thaiminedoc/.
ที่มาภาพปก
Thailand Tourism Directory. ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาการร่อนแร่. เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/th/community_routes/attractionDetails/ATT850013.