นภนต์ กำเนิดงาม
ภีมวัจน์ เพชรคง
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ความเชื่อเรื่องผีฟ้าเป็นความเชื่อของชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยความเชื่อการลำผีฟ้าอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ไม่พบหลักฐานอย่างชัดเจนว่าความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยใด การลำผีฟ้าเป็นการบูชาแบบพื้นบ้านที่มีการนับถือผีกัน โดยมีความเชื่อว่าผีฟ้านั้นเป็นเทวดามากกว่าเป็นผีสางโดยในที่นี้หมายถึงพญาแถน ผีฟ้า หรือพระอินทร์ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ผีฟ้าจึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิดอื่นๆ ส่วนแถนนั้นมีความเชื่อว่าเป็นคำเรียกรวมถึงเทวดา และแถนที่ใหญ่ที่สุดคือ "แถนหลวง" ชาวอีสานมีความเชื่อว่าผีฟ้าสามารถดับทุกข์เข็ญ ทำลายอุปสรรคหรือช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้
โดยชาวอีสานเชื่อว่าการที่มนุษย์เจ็บป่วยเนื่องมาจากไปละเมิดต่อผีหรือละเมิดต่อบรรพบุรุษ ผีฟ้าสามารถสิงได้ความเชื่อของชาวอีสานเชื่อว่าผีฟ้าสามารถที่จะกำหนดการเกิดการตายของมนุษย์ได้ การที่คนตายไปขวัญจะออกจากร่างเพื่อไปพบบรรพชน แต่ขวัญจะไม่แตกดับเหมือนร่างเป็นเพียงการจากไปของร่างแต่วิญญาณยังคงอยู่กับผู้มีชีวิต ดังนั้นการรักษาจึงต้องมีการเชิญผีฟ้ามาเข้าสิงในร่างของคนทรง ชาวอีสานมักเรียกกันว่า นางเทียมผีฟ้า ผีฟ้าเสี่ยงทาย และช่วยรักษาโดยเรียกว่าการลำผีฟ้า ทั้งนี้การลำผีฟ้าของชาวอีสานนั้นมีองค์ประกอบสำคัญทั้งหมด 4 ส่วนคือ หมอลำ ผีฟ้า หมอแคน ผู้ป่วย และเครื่องคาย โดยส่วนมากคนที่เป็นร่างทรงของผีฟ้าจะได้รับการสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นในลูกที่เป็นผู้หญิง และเมื่อมีคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยชาวบ้านมักนำมาให้ผีฟ้ารักษา
ทั้งนี้ขั้นตอนการทำพิธีลำผีฟ้าจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างการทำพิธีลำผีฟ้าในพื้นที่ตำบลเนินไม้หอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์คุณยายวันเพ็ญ บุตรน้ำเพ็ชร์ ซึ่งเป็นบุตรีของคุณทวดน้อย บุตรน้ำเพ็ชร์ ผู้เป็นผีฟ้าที่เป็นที่นับน่าถือตาในพื้นที่ โดยมีขั้นตอนการทำพิธีกรรม ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1.จัดตกแต่งเครื่องบัตรพรี ซึ่งประกอบไปด้วย กาบกล้วยรูปบ้านซึ่งผีฟ้าเป็นผู้ทำและจัดเตรียมมา ข้าวดำ (ข้าวสุกคลุกเขม่าก้นหม้อของบ้านผู้ป่วย) ข้าวแดง (ข้าวสุกคลุกปูนแดงของบ้านผู้ป่วย) หมูต้ม ไข่ต้ม ไข่ดิบ ข้าวสาร เทียน ดอกไม้ รูปปั้นดินเหนียวรูปคนปักข้าวเปลือกตามตัว กาบกล้วยตัดรูปคน เสื้อผ้า เล็บและเส้นผม ของผู้ป่วย ข้าวสาร 7 บ้าน ปริมาณเท่าๆกัน(ผู้ป่วยต้องเป็นผู้ไปขอเอง)
ขั้นตอนที่ 2.จัดเตรียมสิ่งของ โดยนำกระทงเครื่องบัตรพรีไว้ด้านหลังของผีฟ้า ด้านหน้าจุดเทียนสองเล่ม น้ำเปล่า 1ขัน ไข่ดิบ 1ฟอง ข้าวสาร 1จาน ขันที่ใส่เสื้อผ้า เส้นผมและเศษเล็บของผู้ป่วย และมีดตะขอผี
ขั้นตอนที่ 3.การขออนุญาติเพื่อทำการรักษา โดยผีฟ้าจะเริ่มลำกลอน ซึ่งการลำกลอนจะเป็นภาษาอีสานและการลำบทกลอนในแต่ละครั้งจะมีเนื้อหาไม่เหมือนกันรวมไปถึงมิได้เกิดจากการท่องจำของผีฟ้า แต่เชื่อกันว่ามาจากการทรงในขณะเดียวกันหมอแคนก็เริ่มเป่าแคนร่วมด้วย โดยผีฟ้าต้องขออนุญาตโดยการนำไข่ดิบวนรอบเทียนแล้วนำมาตั้งที่พื้น ต่อมาจึงนำข้าวสารมาโรยให้ติดอยู่บนไข่ แล้วจึงตบพื้นให้ไข่ล้ม กระทำอย่างนั้นจนครบ 3 รอบ หากทำได้แสดงว่าได้รับการอนุญาติให้เริ่มทำพิธีลำเพื่อรักษาผู้ป่วยได้
ขั้นตอนที่ 4.เริ่มทำพิธี โดยผีฟ้าจะหันกลับมาด้านหลัง ทำพิธียกเครื่องบัตรพรี และนำขันที่ใส่เสื้อผ้า เส้นผมและเล็บ ที่มีสายสิญจน์โยงกับบ้านนำมาวนกับเทียนให้สายสิญจน์ขาด ขณะเดียวกันนั้นญาติผู้ป่วยต้องทำการเรียกขวัญโดยการเรียกชื่อผู้ป่วยและรอรับขันจากผีฟ้าเพื่อทำในขั้นตอนถัดไป
ขั้นตอนสุดท้าย ญาติของผู้ป่วยที่รับขันจะปลอกไข่ต้มให้ผีฟ้า แล้วผีฟ้าจะนำไข่ไล่ทั่วร่างกายจากหัวถึงขาทั้งด้านซ้ายและขวา 1 รอบ แล้วจึงป้อนไข่ให้ผู้ป่วยรับประทาน ต่อมาญาติของผู้ป่วยอีกคนจะนำกาบกล้วยรูปบ้านไปไว้ที่่บริเวณทางสามแพร่งโดยห้ามหันหลังไปมองอย่างเด็ดขาดจนกว่าจะนำกาบกล้วยรูปบ้านไปวางเสร็จ และผีฟ้าจะให้ผู้ป่วยนำขันที่ใส่เสื้อผ้าไปไว้บนหัวนอน 1 คืน หลังจากกนั้นผู้ป่วยจะหายจากการเจ็บป่วยหรืออาการที่เป็นอยู่อย่างแน่นอนตามความเชื่อของชาวบ้าน
ความเชื่อเรื่องผีฟ้าจึงเป็นประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์ และการทรงเจ้าเข้าผีของสังคมดั้งเดิมของคนไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องผีฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวไทยอีสาน ซึ่งในปัจจุบันนั้นเริ่มเลือนรางไปจากสังคมไทยแล้ว เนื่องจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางการแพทย์และการคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้น
บรรณานุกรม
จินดา แก่นสมบัติ. (2552). การศึกษาพิธีกรรมบวงสรวงผีบรรพบุรุษของหมอลําผีฟ้ บ้านโนนทอง. ตําบลหนองจิก อําเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พัชนี สภา. (2554). พิธีลำผีฟ้า. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. กระทรวงวัฒนธรรม. สามารถเข้าถึงได้จาก http://www.m-culture.in.th/album/53473?fbclid=IwAR2t-0_MLZD0vczM6BIcrqcQhF989xV7lRzip9pHyM38CYrYKFvpZUablNk
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. (2560). ประเพณีบูชาผีฟ้า ผีแถน, กระทรวงวัฒนธรรม. สามารถเข้าถึงได้จาก https://www2.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=1002&filename=index