เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด
เผชิญชัย ปานมี และไกรรัตน์ บุญมี[1]
เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวมอญที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การทำเครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ดสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาล้วนแล้วแต่เป็นชาวมอญ ประกอบกับดินในบริเวณนี้มีความเหมาะสมที่จะนำมาผลิต ระยะแรกผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน ต่อมามีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงได้ผลิตเพื่อการค้าขาย ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด เป็นประเภทเนื้อดินไม่เคลือบ มีสีส้มอ่อนถึงสีแดง และสีดำ โดยมีการผสมแกลบข้าว และทรายแม่น้ำ นำเข้าเผาในเตาประทุน ชาวบ้านมักเรียกว่า เตาหลังเต่า[2] แต่ในปัจจุบันวัตถุดิบต่าง ๆ หาได้ยากขึ้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องซื้อจากต่างถิ่นเข้ามา
การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ 1.ลายขูดขีด 2.ลายฉลุ 3.ลายแกะสลัก 4.ลายกดประทับ[3] จุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด คือ การแกะสลักลวดลายได้อย่างวิจิตรบรรจง เช่น ลายพรรณพฤกษา ลายกลีบบัว ลายรูปสัตว์ ลายเทพนม ลายพวงมาลัย ลายฉลุโปร่ง เป็นต้น การทำเครื่องปั้นดินเผาจึงถือได้ว่าเป็นอาชีพหลักและชีวิตประจำวันของชาวมอญในเกาะเกร็ด สะท้อนถึงภูมิปัญญาในการรังสรรค์ชิ้นงาน เทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผา การทำมาหากิน ความเชื่อที่นำเครื่องปั้นดินเผามาประกอบพิธีกรรมเนื่องในศาสนาและความเชื่อท้องถิ่นของชาวมอญ
ปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดไม่ได้รับความนิยมดังเช่นในอดีต เนื่องจากชาวบ้านหรือช่างปั้นเครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ความต้องการใช้เครื่องปั้นเผาที่ลดน้อยลง เป็นเพราะการเข้ามาของวัสดุอุปกรณ์สมัยใหม่ เช่น พลาสติก แก้ว เซรามิค และอื่น ๆ มีเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่ยังคงสืบทอดกิจการและสืบสานภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาอันทรงคุณค่าของชาวมอญที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษไว้อยู่จนถึงปัจจุบัน