กฤตเมธ ชมวะนา
คณพศ หลำวรรณะ
สถานีรถไฟสวรรคโลก กับการจัดการความทรงจำของท้องถิ่น
สถานีรถไฟสวรรคโลก ตั้งอยู่ที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โดยอยู่ในเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยแยกมาจากชุมทางบ้านดารา จ.อุตรดิตถ์ จากข้อมูลของกรมศิลปากร ระบุไว้ว่าทางรถไฟสายนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนปีพ.ศ. 2452 เพราะสถานีรถไฟสวรรคโลก เปิดใช้ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2452 [1]จึงเชื่อว่าสถานีรถไฟ และทางรถไฟคงสร้างก่อนหน้านั้นไม่นานนัก โดยทางรถไฟที่แยกมาจากชุมทางบ้านดารา มาสุดลงที่สวรรคโลกนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเชื่อมแม่น้ำน่าน, แม่น้ำยมและแม่น้ำปิงเข้าด้วยรถไฟ ที่จะมีปลายทางไปยังจังหวัดตาก แต่ด้วยเหตุผลบางประการ จึงทำให้ทางรถไฟสายนี้ มาหยุดเพียงแค่สถานีสวรรคโลก โดยมรดกสถาปัตยกรรมของสถานีแห่งนี้คือ อาคารสถานี ซึ่งเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น องค์ประกอบหลายประการยังคงไว้ซึ่งความเก่า ไม่ได้ปรับให้ดูทันสมัยเท่าใดนัก
ปัจจุบัน สถานีรถไฟสวรรคโลก มีเพียงขบวนรถท้องถิ่น หมายเลข 405 รับส่งผู้โดยสารจากสถานีศิลาอาสน์ จ. อุตรดิตถ์ มาจนถึงสถานีสวรรคโลก และรถท้องถิ่นขบวนหมายเลข 406 ก็จะเดินทางจากสวรรคโลก กลับสู่ศิลาอาสน์ จะเห็นได้ว่าสถานะของสถานีรถไฟสวรรคโลกในปัจจุบัน ได้กลายเป็นสถานีที่เงียบเหงา แต่ด้วยปริมาณผู้โดยสารที่ไม่มากนัก และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้รถไฟได้หยุดให้บริการไป จนวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กลับมาให้บริการรถท้องถิ่นขบวน 405 และ 406 อีกครั้ง ซึ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่สวรรคโลก และพื้นที่ใกล้เคียง ต่างรู้สึกดีใจที่มีการให้บริการอีกครั้ง[2] ความดีใจที่เห็นรถไฟกลับมาหยุดที่สถานีสวรรคโลกอีกครั้ง สอดคล้องกับการที่สถานีที่ดูเก่าแก่แห่งนี้ ได้กลายเป็นพื้นที่ระลึกหวนถึงความหลังของชาวบ้านที่มีต่อสถานีรถไฟสวรรคโลก เพราะภายในอาคารสถานี ในจุดพักคอยการโดยสาร จะพบว่ามีการนำภาพถ่ายเก่าของสถานีรถไฟสวรรคโลกมาอัดกรอบ และแขวนไว้ในพื้นที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับแขวนภาพความทรงจำของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่ใช่เพียงกลุ่มเดียวที่พยายามจะระลึกความหลังกับสถานี เพราะทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้มีการนำภาพโปสเตอร์เก่า ที่แนะนำการใช้รถไฟ นำออกมาร่วมจัดแสดงด้วย เช่นเดียวกับเครื่องชั่งน้ำหนักพัสดุเครื่องเก่า ที่ถูกนำมาวางแสดงไว้เช่นกัน เมื่อรวมทั้งหมดเข้ากับองค์ประกอบของอาคารที่ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก องค์ประกอบ 90% ยังคงเป็นไม้อยู่ จึงช่วยขับเน้นความรู้สึกคิดถึงถึงอดีตของชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงยังทำให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาชม ได้ร่วมรำลึกอดีตไปกับบรรยากาศในอาคารเก่า, ภาพถ่ายเก่า และความทรงจำเก่า ๆ ของชาวสวรรคโลก ที่ยังคงเก็บรักษาไว้ในพื้นที่เล็ก ๆ ของสวรรคโลก ท่ามกลางการพัฒนาของเมืองที่ทำให้เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้เปลี่ยนไปทุกวัน
ในแง่ของการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม พบว่ามีการร่วมมือกันทั้งระหว่างภาครัฐ คือการรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคประชาชน คือชาวสวรรคโลก ที่ได้ช่วยประคับประคอง และผลักดันให้สถานีรถไฟที่แสนเงียบเหงานี้ ให้มีคุณค่า ที่เกิดจากการระลึกหวนถึงอดีตที่สัมพันธ์กันระหว่างสถานีรถไฟ กับวิถีชีวิตในชุมชน ซึ่งการจัดแสดงมรดกวัฒนธรรมในแบบรูปภาพ และสิ่งของ นับว่าเป็นการจัดแสดงที่ทำให้เห็นอดีต และคุณค่าของสถานที่เป็นรูปธรรม และเข้าใจได้ง่าย ซึ่งน่าสนใจในการศึกษาเพื่อต่อยอด กับพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมแห่งอื่น ๆ ต่อไป
รายการอ้างอิง
กรมศิลปากร. ทางรถไฟสายสวรรคโลก. เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/sawakhavoranayokmuseum/view/34652-ทางรถไฟสายสวรรคโลก
ไทยรัฐ. ชาวสวรรคโลกสุดดีใจ รถไฟขบวนสวรรคโลก-ศิลาอาสน์ กลับมาบริการหลังหยุดไป 3 ปี. เข้าถึงเมื่อ10 กุมภาพันธ์ 2567 เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/news/local/localbusiness/2709853
[1] กรมศิลปากร, ทางรถไฟสายสวรรคโลก, เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/sawakhavoranayokmuseum/view/34652-ทางรถไฟสายสวรรคโลก
[2] ไทยรัฐ, ชาวสวรรคโลกสุดดีใจ รถไฟขบวนสวรรคโลก-ศิลาอาสน์ กลับมาบริการหลังหยุดไป 3 ปี, เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/news/local/localbusiness/2709853