การละเล่นแม่ศรี
ฟ้าใส ทองโศภิน 640310061
อภิรดี เอี่ยมคง 640310075
การละเล่นพื้นเมืองไทยเป็นการละเล่นที่แสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ทั่วไทย ปัจจุบันแม้จะไม่ได้รับความนิยมเฉกเช่นในอดีตแต่ยังคงมีให้เห็นหรือยังได้ยินชื่อมาบ้าง การละเล่นพื้นบ้านเมืองไทยมีหลายการละเล่นบางอย่างถึงแม้จะมีชื่อเรียกที่เหมือนกันแต่กลับมีวิธีการเล่นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่แต่ยังคงมีความคล้ายคลึงกัน หนึ่งในการละเล่นที่มีความหลากหลายในวิธีการเล่นนั่นคือแม่ศรีเป็นหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านของไทยที่ได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือเก่ากว่านั้น
แม่ศรีเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่พบเห็นได้ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางอย่างหนึ่งมีมาแต่โบราณตามความเชื่อของชาวบ้านในเรื่องการเข้าทรง มักจะเล่นในช่วงสงกรานต์และใช้ผู้หญิงล้วนในการละเล่น โดยวิธีการเล่นคือ จะเลือกผู้หญิงที่จะเป็นแม่ศรีโดยเลือกจากคนที่หน้าตาดีที่สุด คนที่ถูกเลือกให้เป็นแม่ศรีต้องปิดตาและให้นั่งอยู่ตรงกลางหรือบางพื้นที่ให้นั่งอยู่บนครกตำข้าวแล้วให้คนอื่น ๆ ยืนล้อมเป็นวงกลม จากนั้นจะเริ่มร้องเพลงเพื่อเชิญแม่ศรีซ้ำไปมาจนแม่ศรีเข้าบุคคลที่นั่งอยู่กลางวง เมื่อแม่ศรีเข้าแล้วจะเริ่มลุกขึ้นรำตามเพลงไปรอบ ๆ โดยเนื้อเพลงที่ใช้ในการร้องเล่นจะแตกต่างกันแล้วแต่พื้นที่ ในจังหวัดที่มีการละเล่นแม่ศรี เช่น อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา กำแพงเพชร เป็นต้น โดยแม่ศรีไม่ได้เป็นเพียงแค่การละเล่นแต่ยังเป็นเพลงกล่อมเด็กด้วย บทกล่อมและบทร้องเล่นมักเป็นบทเดียวกัน และนอกจากนี้ยังเป็นความเชื่อเกี่ยวผีอีกด้วย โดยคำว่าแม่ศรีแท้จริงแล้วคือแม่สรี (อ่านว่าแม่ สะ รี) มีที่มาจากภาษาเขมร หมายถึง บรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองซึ่งตามความเชื่อดั้งเดิมแม่ศรีเป็นเทวีข้าวที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์
การละเล่นแม่ศรีเป็นการละเล่นพื้นบ้านโบราณที่ได้รับสืบทอดจากวัฒนธรรมเขมร เป็นการละเล่นในหลายจังหวัดในลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ซึ่งนิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ เป็นการละเล่นที่แฝงความเชื่อในการเข้าทรงเจ้าของคนในท้องถิ่น และในแต่ละจังหวัดก็จะมีรายละเอียดย่อยและเนื้อร้องที่แตกต่างกันไป แต่มีรูปแบบและความเชื่อที่เหมือนกัน