รำผีแถน
นิลุมล คงเพชร
วรลักษณ์ คล้ายจินดา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชาวอีสาน มีความเชื่อในเรื่องของผี โดยเชื่อกันว่าที่เกิดเหตุการณ์อันแปลกประหลาด หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เกิดจากความไม่พึงพอใจของผีสางเทวดาต่างๆ และจากความเชื่อดังกล่าวจึงทำให้เกิดการจัดพิธีบวงสรวงบูชากราบไหว้ผี และการรำผีแถน ก็ถือเป็นหนึ่งในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผี
โดยการรำผีแถน หรือ ผีฟ้า ถือเป็นพิธีกรรมในการรักษาผู้ป่วยของชุมชนไท-ลาว ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยที่พวกเขาเชื่อกันว่าผีฟ้าหรือผีแถนเป็นเทวดาที่มีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง จึงสามารถช่วยดลบันดาลให้แก่มนุษย์ที่มีความเดือดร้อนจากอาการเจ็บปวดได้ เพราะผู้คนเชื่อว่าที่มนุษย์เราเจ็บป่วย เนื่องจากไปละเมิดต่อผีและบรรพบุรุษ ดังนั้นลักษณะของพิธีกรรม จึงเป็นการเซ่นไหว้หรือบวงสรวงเพื่อเป็นการวิงวอนขอต่อเทพเทวดา ผีฟ้า ให้ช่วยทำให้หายจากโรคภัย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงขอให้ช่วยในเรื่องของการป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย ผีแถนจะมีระดับชั้นที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่มีศักดิ์มากที่สุดจะถูกเรียกกันว่า “แถนหลวง” ที่เชื่อว่าเป็นพระอินทร์ และหากต้องการร้องขอสิ่งใดจากผีแถนหลวง ต้องใช้ “กลองกิ่ง” ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมานาน โดยเชื่อว่าเมื่อเสียงกลองลั่นถึงหูผีแถน ผู้ตีก็จะสามารถขอสิ่งใดก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักจะทำการตีก่อนออกเดินทางเพื่อขอให้ผีแถนหลวงช่วยคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัย เป็นต้น
ในการบวงสรวงเพื่อช่วยรักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย ต้องมีการอัญเชิญผีฟ้าหรือผีแถนมาสถิตอยู่ในร่างคนทรง และในการรำผีแถนของชาวอีสานจะมีองค์ประกอบทั้งหมด 4 ส่วนที่มีความสำคัญ ซึ่งแล้วแต่วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ แต่จะมีองค์ประกอบในพิธีกรรมที่เหมือนกัน ดังนี้
1. ‘หมอลำ’ หรือในบางพื้นที่เรียก ‘ครูบา’ คือ ร่างทรงหมอรำผีฟ้าหรือรำผีแถน ผู้มีหน้าที่เป็นผู้สื่อสาร/ต่อรองกับผีให้แก่ผู้ป่วย โดยผู้ที่จะเป็นหมอลาต้องสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และส่วนมากจะเป็นเพศหญิง มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาผู้ป่วย และขอขมาพญาแถนให้ปกป้องคุ้มครองคนในชุมชน
2. ‘หมอแคน’ หรือในบางพื้นที่เรียก ‘หมอม้า’ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป่าแคนให้จังหวะในการประกอบพิธีกรรม โดยต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีประสบการณ์และมีความอดทน เนื่องจากการประกอบพิธีกรรมใช้เวลานานเป็นวัน และส่วนมากจะเป็นเพศชาย ไม่เพียงการทำนายว่าผู้ป่วยจะหายหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการเป่าแคนของหมอแคน
3. ผู้ป่วย คือ ผู้ที่มีอาการป่วยจากโรคใดโรคหนึ่งหรือโรคที่เกิดจากสิ่งลี้ลับ
4. ‘เครื่องคาย’ หรือ ‘เครื่องเซ่น’ คือ เครื่องคารวะบูชาที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมบูชาแถน ผี ครูบาอาจารย์ และผู้ที่เคารพบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลหรือเพื่อเป็นการขอขมา และเพื่อเป็นการอัญเชิญผีแถนลงมา เช่น การห่อข้าวต้มกล้วย ร้อยมาลัยดอกไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การประกอบพิธีกรรมรำผีแถนยังได้ใช้ภาษาเข้ามาร่วมกับการประกอบพิธีกรรมและร่ายรำในระหว่างพิธี ยกตัวอย่างเช่น พิธีกรรมรำผีแถนที่จังหวัดศรีสะเกษ มีการประกอบพิธีกรรมและร่ายรำด้วยภาษาเขมรเข้ามาร่วมด้วย อันเนื่องมาจากมีความใกล้เคียงและชิดเชื้อกับประเทศกัมพูชา ไม่ว่าจะในทั้งภูมิศาสตร์และเชื้อชาติ นอกจากนี้ยังมี ภาษาถิ่นอีสาน และภาษากลาง ที่ถูกใช้ในการประกอบพิธีกรรมในจังหวัดอื่นของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าในแต่ละพื้นที่จะมีชื่อเรียกหรือองค์ประกอบที่ใช้ในการประกอบพิธีที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถแสดงให้เห็นได้ถึงความเชื่อในเรื่องของการนับถือผีที่มีความเหมือนกันของชาวอีสาน นอกจากนี้การรำผีแถนถือเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณี วัฒนธรรม และสร้างจิตสำนึกด้านความกตัญญูมาตั้งแต่โบราณกาลให้คงอยู่ต่อไปอีกชั่วอายุคน โดยมีคติเตือนใจที่ว่า “คนไม่เห็น ผีเห็น” นั่นเอง
อ้างอิงรูปภาพหน้าปกจาก:
ข้อมูลอ้างอิงจาก:
“การรำผีฟ้า”. เข้าถึงเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก
http://www.digitalschool.club/digitalschool/art/art6_2/lesson2/page03.php.
ชลธิรา สัตยาวัฒนา. “ความเชื่อเรื่องแถน กับ นาฏพิธีหมอลำผีฟ้าพญาแถน”. เข้าถึงเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก
https://e-shann.com/๑๓-ความเชื่อเรื่องแถน/.
ปวินนา เพ็ชรล้วน. “บ้านบุอาไร”. เข้าถึงเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก
https://wikicommunity.sac.or.th/community/935.
มือปริศนา. “ผีฟ้าพญาแถน ความเชื่อท้องถิ่นของชาวอีสาน”. เข้าถึงเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก
https://amorerana.com/articles/detail/pefare.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. “รำแถน”. เข้าถึงเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก
https://www2.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=924&filename=index.