ขนมเจาะหู
จิณณ์นภา อมรประดับกุล
ธัญชนก เรืองญาณ
หากจะกล่าวถึงอาหารประจำภาคใต้คงมีหลายชื่อหลายเมนูไม่น้อยที่ได้รับความนิยม แต่ชื่อ “ขนมเจาะหู” นั้นคงไม่ได้แพร่หลายนักในภูมิภาคอื่น ๆ แต่เป็นที่รู้จักอย่างดีในแถบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ด้วยลักษณะขนมที่มีรูตรงกลางคล้ายโดนัทวงเล็ก บ้างก็ว่าคล้ายเบี้ยหอยโบราณ เพราะรูปร่างของมันจึงถูกขนานนามว่าขนมเจาะหู
ขนมเจาะหูเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมากว่า 3 ชั่วคนหรือไม่น้อยกว่า 100 ปีแล้วตามคำบอกเล่าของคุณฮานา อับดุลเลาะ (กะนา) ที่ขายขนมเจาะหูอยู่ที่เทศบาลเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับมรดกตกทอดเป็นสูตรขนมมาจากคุณทวด ส่งผ่านคุณแม่มาจนถึงรุ่นเขา จึงเรียกได้ว่าเป็นขนมที่มีอายุยาวนานพอสมควร
ขนมเจาะหู มีอีกหลายชื่อเรียกไม่ว่าจะเป็นขนมแนหรำ แบซำ ดีซำ ซีแย หรือ ลีงอโต๊ะแว ตามภาษามลายู เป็นขนมที่นิยมทำในงานสารทเดือนสิบหรือทำบุญชิงเปรตของชาวไทยพุทธในภาคใต้ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ จัดขึ้น ในวันแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ เดือน 10 เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตชน (ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว)
ขนมเจาะหูเป็นหนึ่งในขนมห้าอย่างในงานบุญนี้ที่จัดไว้ให้เปรตชน ขนม 5 อย่าง ได้แก่ ขนมลา, ขนมพอง, ขนมกง, ขนมบ้า และขนมเจาะหู ขนมแต่ละประเภทจะมีความหมายที่แตกต่างกัน ขนมเจาะหูเป็นสัญลักษณ์แทนเบี้ยหรือเงินทอง ให้นำไปใช้สอยในอีกภพภูมิ ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมทำขนมเจาะหูในช่วงเทศกาลฮารีรายอ ซึ่งเป็นเทศกาลที่พี่น้องชาวมุสลิมจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองเพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องพร้อมกับแจกจ่ายขนมให้กับเพื่อนบ้าน เด็ก ๆ คนในหมู่บ้าน และเคารพบรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่สุสาน ขนมเจาะหูจึงเปรียบเสมือนเงินที่มอบให้แก่ผู้วายชนม์ในอีกภพภูมิเนื่องจากมีลักษณะคล้ายสตางค์สมัยโบราณ ถือว่าขนมเจาะหูเป็นส่วนสำคัญในเทศกาลที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ขนมเจาะหู มีรสชาติหอม หวานมัน มีขั้นตอนการทำที่ไม่ยากดังนี้ ต้มน้ำให้เดือดใส่น้ำตาลแว่น น้ำตาล เกลือ เคี่ยวให้ละลายแล้วยกลง ผสมแป้งข้าวเจ้าและผงฟูเข้าด้วยกัน นำน้ำเชื่อมที่ทำไว้มาผสม ปั้นแป้งเป็นก้อนกลม ๆ เล็ก ๆ แล้วกดให้แบน นำไปทอดในน้ำมันร้อนจนมีสีเหลืองทอง
ในปัจจุบันขนมเจาะหูนับว่าเป็นขนมที่หากินได้ยากแล้ว หากคนรุ่นใหม่ช่วยบอกต่อและให้ความสนใจก็จะช่วยสืบสานทั้งประเพณีอันแสดงออกถึงความกตัญญู และขนมโบราณให้คงอยู่สืบไป
อ้างอิง
สยามรัฐ (2563), “ดือแร ขนมโบราณ 100 ปีที่นราธิวาส”, เข้าถึงเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566, เข้าถึงได้จากเว็บไซต์ https://siamrath.co.th/n/208060
อาแอเสาะ วาแมดีซา และคณะ (2554), “ศึกษาวิธีการป้องกันการขึ้นราในขนมและประยุกต์ขนมพื้นบ้านมุสลิมให้ร่วมสมัยของกลุ่มส่งเสริมสตรีบ้านตอแล ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา”, เข้าถึงได้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566, เข้าถึงได้จากเว็บไซต์
https://web.archive.org/web/20210810014259/http://transform.trf.or.th/pdf/044-RDG50S0002.html
พาตีฮะ เจ๊ะมูดอ. “ฮารีรายอ ความสุขของชาวมุสลิม”, เข้าถึงได้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566, เข้าถึงได้จากเว็บไซต์ https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=6389
มูลนิธิ ซี.ซี. เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน, “ขนมเจาะหู ขนมงานบุญเดือนสิบ จ.สตูล”, เข้าถึงได้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566, เข้าถึงได้จากเว็บไซต์ http://surl.li/qpmdp
นารี เอี่ยมวิวัฒน์กิจ ชูเรืองสุข, “ขนม 5 อย่างที่ใช้ในวันทำบุญเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้”, เข้าถึงได้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566, เข้าถึงได้จากเว็บไซต์ https://www.gotoknow.org/posts/299186
ศลิษา เลี่ยมสุวรรณ, “ขนมเจาะหู”, เข้าถึงได้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566, เข้าถึงได้จากเว็บไซต์ https://pattaniheritagecity.psu.ac.th/pattanistory/%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B9/
ตุ๊กติ๊กเนือยแล้วหล่าว, “ขนมวันสารทเดือนสิบ”, เข้าถึงได้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566, เข้าถึงได้จากเว็บไซต์ https://www.wongnai.com/food-tips/traditional-dessert-of-the-tenth-lunar-month-festival?ref=ct https://www.wongnai.com/food-tips/traditional-dessert-of-the-tenth-lunar-month-festival?ref=ct